29 ก.ค. 2565 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัยโดยกลุ่มอารักขาพืช ได้ขยายพันธุ์ต้นแหนแดง ซึ่งจัดเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก พบในเขตร้อนและเขตอบอุ่น อาศัยอยู่ทั่วไปบริเวณน้ำนิ่ง เช่น คู หนอง บึง โดยผ่านกระบวนการตรึงไนโตรเจนจากอากาศของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน มีอัตราของการตรึงไนโตรเจนสูงถึงวันละ 300 – 600 กรัมต่อไร่ ทำให้แหนแดงมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูง 3-5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักแห้ง สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในนาข้าวได้ แล้วยังเหมาะใช้เป็นอาหารสัตว์
เนื่องจากแหนแดงมีองค์ประกอบของโปรตีน กรดอะมิโนที่จำเป็น และแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนประกอบจำนวนมาก รวมทั้งสามารถใช้เป็นส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อช่วยลดอัตราส่วนของคาร์บอนต่อไนโตรเจนอีกด้วย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า “ปุ๋ยชีวภาพแหนแดง” ในรูปของปุ๋ยพืชสด มีประโยชน์มากในการช่วยลด หรือทดแทนปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งสามารถนำไปสู่ระบบการเกษตรอย่างยั่งยืนได้
ทั้งนี้ ในการออกหน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน ณ วัดบ้านขวาง หมู่ที่ 3 ต.บ้านกล้วย อ.เมืองสุโขทัย นายเนตร สมบัติ เกษตรจังหวัดสุโขทัย พร้อมเจ้าหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดและอำเภอเมืองสุโขทัย ได้เปิดคลินิกพืชให้คำปรึกษาการป้องกันกำจัดโรคพืช การแจกจ่ายพันธุ์ผัก (พริกจินดา) และโดยเฉพาะแหนแดง พืชน้ำไนโตรเจนสูง ใช้ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ทำเกษตรอินทรีย์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต หวังช่วยเหลือเกษตรกรในยุคปุ๋ยเคมีราคาแพง.