เชื่อว่าน้อยนักที่จะไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จักพระปฐมเจดีย์ แต่เคยรู้กันไหมใครเป็นผู้สร้างพระปฐมเจดีย์ และสร้างมาตั้งแต่เมื่อใด เดียวจันจะพามารู้จักตำนานเรื่องเล่าความเป็นมา
องค์พระปฐมเจดีย์ขอบคุณภาพ : Noi Camera
วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร เป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญเมื่อมาเยือนจังหวัดนครปฐม ถือเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดนครปฐมและเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวพุทธ ผู้คนนิยมเรียก พระปฐมเจดีย์ องค์พระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่ที่ ถนนเทศา ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร มีพระพุทธรูปสำคัญคือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ องค์พระปฐมเจดีย์ มีรูปเจดีย์ทรงลังกาแบบสุโขทัย สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์
องค์พระปฐมเจดีย์ สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชซึ่งได้ส่งสมณฑูตมาประกาศพระพุทธศาสนา นักปราชญ์ทางโบราณคดีมีความเห็นตรงกันว่า พระโสณะเถระ และพระอุตระ ซึ่งเป็นสมณฑูตได้เดินทางมาตั้งหลักฐานการประกาศพุทธศาสนาที่นครปฐมเป็นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 3 แต่เดิมสร้างเป็นพระสถูปโบราณทรงบาตรคว่ำแบบเจดีย์อินเดีย และต่อมาได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบปฏิสังขรในสมัยรัชกาลที่ 4 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ทรงผนวชและได้ธุดงค์มานมัสการองค์พระเจดีย์
องค์พระเจดีย์องค์เดิม ยอดปรางค์สูง 42 วา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวช ได้ทรงเสวยราชสมบัติในราว พ.ศ.2396 ทรงโปรดให้ก่อสร้างพระเจดีย์ใหญ่หุ้ม องค์เดิมไว้ให้สูง 120 เมตร พร้อมสร้างวิหารทิศและคต พระระเบียงโดยรอบ งานไม่ทันแล้วเสร็จพระองค์ก็เสด็จสวรรคต
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ปฏิสังขรองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างหอระฆังและประดับกระเบื้องจนสำเร็จ
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ปฏิสังขรพระวิหารหลวงเขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่างๆ ไว้ที่ผนังด้านใน ทรงโปรดให้รื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือ และสร้างใหม่เพื่อประดิษฐาน พระร่วงโรจนฤทธิ์
องค์พระปฐมเจดีย์ขอบคุณภาพ : Noi Camera
ในสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงโปรดให้สร้างพระอุโบสถใหม่ องค์พระปฐมเจดีย์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นที่เคารพสักการะของบรรดาศาสนิกชนทั่วโลก
ย้อนยุคไปประมาณ 1,000-1,600 ปี ดินแดนย่านนครปฐม ราชบุรี และอำเภออู่ทองของจังหวัดสุพรรณบุรีในขณะนี้ เป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรือง มีชื่อว่า ทวาราวดี มีเมืองศรีวิชัย หรือนครปฐมในปัจจุบัน เป็นเมืองศูนย์กลางการติดต่อกับต่างประเทศ คือ จีน อินเดีย ชวา จากหลักฐานโบราณวัตถุที่ขุดได้ ยืนยันว่า เป็นจุดที่มีการติดต่อและรับเอาศิลปวัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้ามาในสมัยนั้น
พ.ศ. 1100 เมืองนครปฐมโบราณเป็นเมืองขนาดใหญ่ระดับรัฐนับถือพุทธศาสนา เมืองนครปฐมโบราณมีลำน้ำบางแก้วผ่ากลาง เส้นผ่าศูนย์กลางของเมืองราว 3 กิโลเมตร ถือว่ามีขนาดใหญ่กว่าเมืองอื่นๆ ในสุวรรณภูมิ แสดงให้เห็นความสำคัญที่มีเหนือบ้านเมืองอื่น และเหมาะสมกับศูนย์กลางวัฒนธรรมทวารวดี-ศรีวิชัยมากที่สุดในสุวรณภูมิ ส่วนพระปฐมเจดีย์ที่เราเห็นอยู่ปัจจุบัน สร้างขึ้นในยุคนี้เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่อยู่นอกเมืองด้านทิศตะวันตก มีชื่อเรียกว่า มหาธาตุหลวงบ้าง, พระธมบ้าง
พ.ศ. 1500 สภาพภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นที่ดอนมากขึ้น ฝั่งทะเลห่างไกลออกไป แม่น้ำท่าจีนแคบลง เมืองนครปฐมโบราณที่ค้าขายกับนานาชาติทางทะลกลายเป็นเมืองห่างไกลท่างทะเล มีบ้านเมืองอื่นเติบโตขึ้น เช่น ละโว้ (ลพบุรี), อโยธยาศรีรามเทพ (อยุธยา), สุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี), ราชบุรี, เพชรบุรี ฯลฯ ทำให้ศูนย์กลางการคมนาคมค้าขายย้ายไปอยู่ทางฟากตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น เมืองละโว้ เพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีขนาดใหญ่สำเภาเข้าออกสะดวก อำนาจทางการเมืองก็กว้างขวาง เพราเป็นเครือญาติกับอาณาจักรกัมพูชาที่ทะเลสาบเมืองเสียมเรียบ กับบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำโขง (อีสานและลาว) แล้วยังขยายเครือข่ายขึ้นไปถึงลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำสาละวิน ฯลฯ เป็นเหตุให้เมืองนครปฐมโบราณลดความสำคัญและรกร้างไป
หลัง พ.ศ.1800มหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี เจ้านายรัฐสุโขทัย (หลานพ่อขุนผาเมือง) ทรงผนวชเป็นภิกษุที่รัฐสุโขทัย ทรงจาริกแสวงบุญ และทรงพาญาติโยมจากที่ต่างๆ มาบูรณปฏิสังขรณ์มหาธาตุหลวง หรือที่เรียกเป็นภาษาเขมรว่าพระธม (ธม แปลว่าใหญ่) ขณะเป็นเนินดินขนาดมหึมา จึงสร้างสถูปเหนือเนินดินขึ้นเป็นปรางค์
พ.ศ. 2100 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้โยกย้ายผู้คนและบ้านเล็กเมืองน้อยมารวมกันเป็นเมืองใหญ่ไว้ต่อต้านข้าศึก ที่บริเวณปากลำน้ำบางแก้วกับแม่น้ำท่าจีนสบกันให้ชื่อว่า เมืองนครไชยศรี [ตามตำนานนิทานท้าวแสนปมว่าพระเจ้าไชยสิริ จากเมืองเชียงแสน มาสร้างเมืองนี้ไว้นานแล้ว จึงนำพระนามไชยสิริ มาเป็นไชยศรี]
พ.ศ. 2374 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ขณะนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงผนวชประทับอยู่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) กรุงเทพฯ เสด็จธุดงค์ไปนมัสการสถูปเจดีย์ใหญ่เมืองนครไชยศรี ทรงเรียกพระปฐมเจดีย์ เพราะทรงเชื่อว่าเป็นพระเจดีย์แห่งแรกของสยาม
แต่เดิมนั้นเรียกพระปฐมเจดีย์กันว่า “พระประธม” ด้วยเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาบรรทม ณ ที่แห่งนี้ มีนิราศเรื่องหนึ่งใน ๙ เรื่องที่ สุนทรภู่ แต่งไว้ มีชื่อว่า “นิราศพระประธม” ซึ่งบรรยายตอนหนึ่งไว้ว่า
“ครั้นถึงพระประธมบรมธาตุ
สูงทายาดอยู่สันโดษบนโขดเขิน
แลทมึนทึนเทิ่งดังเชิงเทิน
เป็นโขดเขินสูงเสริมเขาเพิ่มพูน”
ตำนานเรื่องเล่าการสร้างพระปฐมเจดีย์ ( พญากง พญาพาน )
เรื่องกล่าวขานจากคนรุ่นสู่รุ่น โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาอย่างแพร่หลายในแถบจังหวัดนครปฐมและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณนครไชยศรี เมืองคูบัว และเมืองอู่ทอง อันมีสถานที่เชื่อมโยงกับตำนานนี้อยู่จนปัจจุบัน เด่นชัดที่สุดคือพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเชื่อกันว่าพญาพานสร้างขึ้นหลังจากกระทำปิตุฆาต
ตำนานพญากง พญาพาน มีหลายสำนวน บางแห่งบันทึกเป็นลายลักษณ์ไว้โดยสะกดชื่อตัวละครต่างกัน แต่โดยรวมแล้วมีโครงเรื่องคล้ายคลึงกัน มีสำนวนหนึ่งกล่าวไว้ว่า พญากงเป็นเจ้าเมืองนครไชยศรี เมื่อมเหสีประสูติพระโอรส โหรทำนายว่าเป็นผู้มีบุญมาเกิด แต่ต่อไปจะฆ่าพระองค์ พญากงจึงให้นำพระโอรสไปประหาร มหาดเล็กสงสาร นำพระโอรสใส่พาน (เป็นที่มาของชื่อ “พญาพาน”) ลอยน้ำไปตามชะตากรรม ฝ่ายยายหอมพบเข้า จึงเลี้ยงดูให้ได้รับวิทยาการ
ครั้นพญาพานเป็นหนุ่มจึงเข้าไปถวายตัวเป็นทหารในเมืองคูบัว
ต่อมาได้ชนช้างกับพญากงแล้วสังหารลง ครานั้นเกิดลางว่าคงได้ฆ่าบิดาเสียแล้ว พาลไปโมโหยายหอมว่าปิดบัง จึงประหารยายหอมด้วย ภายหลังสำนึกผิดจึงปรึกษาพระอาจารย์เพื่อแก้ไขไถ่บาป โดยให้สร้างเจดีย์ใหญ่สูงเท่านกเขาเหิน (พระปฐมเจดีย์) เพื่อทดแทนคุณบิดา พร้อมกับสร้างเจดีย์ใหญ่อีกองค์ (พระประโทน) เพื่อทดแทนคุณยายหอม
การเรียนรู้ตำนานพญากง พญาพาน ยังคงเป็นเรื่องเล่าตำนานที่มีสถานที่สำคัญเชื่อมโยงกับความทรงจำ ผ่านเรื่องเล่า นิทาน บทร้องพื้นบ้าน และงานประพันธ์พื้นถิ่น ที่ยังคงรักษาไว้ให้อนุชนได้เรียนรู้ รับรู้ และแลกเปลี่ยนกับคนภายนอก
ภาพซ้อนทับเจดีย์องค์เดิมและเจดีย์องค์ใหม่
สำหรับทางวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร กำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ ถึงแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืน โดยจัดเป็นประจำทุกปี
ขอบคุณเจ้าของภาพ
เป็นจุดรวบรวมของสถาบันทั้งสาม คือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน มีพระเจดีย์เก่าแก่ 3 องค์คือ
-
องค์ที่ 1 เป็นเจดีย์ทรงบาตรคว่ำ สูง 18 วา 2 ศอก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 296 สมัยพระโสณเถระ พระอุตตระเถระ มีอายุประมาณ 2,233 ปี เป็นทีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในสมัยสุวรรณภูมิ
-
องค์ที่ 2 เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ สูงเท่าเขาหิน สูง 42 วา 2 ศอก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 569 สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพญากง พญาพาน โดยพญาพานสร้างเพื่อบูชาพระคุณ มีอายุประมาณ 1,970 ปี มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ภายใน ในสมัยทวาราวดี
-
องค์ที่ 3 เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างครอบเจดีย์ทรงปรางค์ของเดิมเอาไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2396 มีความสูง 120 เมตร และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ มีอายุ 143 ปี ในสมัยรัตนโกสินทร์
อีกทั้งในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราช ได้เสด็จตรวจค้นโบราณสถานในมลฑลฝ่ายเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2452 ทรงพบพระพุทธรูปชำรุดองค์หนึ่ง จมอยู่ในพื้นวิหารวัดโบราณในเมืองศรีสัชนาลัย ทรงโปรดให้ขุดขึ้น พบเศียร พระหัตต์ พระบาท ที่จมในพื้น โปรดให้เชิญลงมาที่กรุงเทพฯ ครั้งเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทำรูปหุ่นขี้ผึ้งปฏิสังขรณ์ ปั้นให้บริบูรณ์เต็มองค์ ตั้งพระราชพิธีเททองหล่อ ที่วัดพระเชตุพนฯ เมือ พ.ศ. 2456 เป็นพระยืนปางห้ามญาติหล่อด้วยโลหะ ครั้นเมื่อเสร็จจึงอันเชิญประดิษฐานมาไว้ที่ซุ้มวิหาร เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2458 ทรงถวายพระนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร มีส่วนสูง 12 ศอก 4 นิ้ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าในพระราชพินัยกรรม ให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ท่านไว้ในฐานพระนี้ด้วย
ขอบคุณข้อมูล silpa-mag , tiewgan , article.culture
คลิปอีจันแนะนำ
เจาะขบวนการ ลอบค้าเสือ…ตุ๋นทำยาโด๊ป EP.1