ด้วยเพราะไม่เคยเกิดเหตุเรือรบใหญ่อับปาง เพราะพายุคลื่นลมแรงมาก่อน ในประวัติศาสตร์ ของกองทัพเรือไทย จึงทำให้ กองทัพเรือ กลายเป็นจำเลย สังคม แเกิดเหตุเรือหลวงสุโขทัย อับปาง
เพราะต้องเกิดความผิดพลาด บกพร่องขึ้น ไม่ว่าจะด้วย Human Error ความบกพร่อง ก่อนการออกเรือ ระหว่างเกิดเหตุ และการตัดสินใจแก้ปัญหา หรือเป็นเพราะตัวเรือรบ ว่ามีส่วนใด ไม่สมบูรณ์หรือไม่ อุปกรณ์อะไหล่ ส่วนใดมีปัญหา เพราะก่อนหน้านี้ ในห้วงหลายปีที่ผ่านมา มีการร้องเรียนเรื่องการซ่อมบำรุง และการเปลี่ยนอะไหล่ ในเรือหลายลำ
แต่ไม่ว่าสาเหตุมาจากเรื่องใดก็ตาม แต่พายุใหญ่ ก็ถาโถม ใส่ “บิ๊กจ๊อด” พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. เข้าเต็มๆ ในฐานะ นาวี 1 ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพเรือ
แม้ว่าจะมีเจตนาดี ในการเปิดแถลงข่าวชี้แจงด้วยตนเอง แต่ พล.ร.อ.เชิงชาย ก็ถูกถล่มจากคำพูด ที่ชี้แจงเรื่อง ชูชีพ ที่สังคมโจมตีว่า ทำไมกำลังพลจากหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อย.) และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) 30 นาย ที่เป็นผู้โดยสารเพื่อไปร่วมงาน วันประสูติ กรมหลวงชุมพรฯ ที่จัดขึ้นทุกปี 19 ธ.ค. นั้น มีชูชีพ ไม่ครบทุกคน
การชี้แจงเรื่องชูชีพ ที่ พล.ร.อ.เชิงชาย พยายามจะชี้ให้เห็นในเชิงสถิติตัวเลข ว่าคนที่ไม่มีชูชีพ ก็ยังรอดชีวิต ส่วนคนที่มีชูชีพ ที่เสียชีวิตก็มี แต่เพราะกระแสสังคมอย่างแรง จึงทำให้พล.ร.อ.เชิงชาย ถูกโจมตี ถึงขั้นมีการเรียกร้องให้รับผิดชอบ ทั้งการให้ กล่าวคำขอโทษมากกว่าคำว่าเสียใจ จนถึงขั้นที่ฝ่ายต่อต้านกองทัพ ต่อต้านทหาร เรียกร้องให้ลาออก เลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่ พล.ร.อ.เชิงชาย ที่ตกเป็นเป้า แต่ผู้บังคับบัญชา ตามสายการบังคับบัญชาก็โดนหมด ทั้ง “บิ๊กดุง” พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ .กองเรือยุทธการ (ผบ.กร.) และ “บิ๊กล้อ” พล.ร.ท.พิชัย ล้อชูสกุล ผบ.ทัพเรือภาค 1 ก็เจอพายุข่าวลือถล่ม ด้วยเหตุที่ กำลังพลและญาติของกำลังพลประจำเรือทั้งที่บาดเจ็บและสูญหาย สูญเสีย ต่างมีความรู้สึก และมองหาคนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนทำให้มีการโยนความผิดกันไปมา
อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันในกองทัพเรือว่าแม้เรือรบจะขึ้นตรงกับ กองเรือยุทธการ แต่ทว่า เรือรบ จะไปขึ้นตรงกับ ผบ.ทัพเรือภาคต่างๆ ที่จะเป็นผู้บังคับบัญชาในการสั่งการโดยตรง จึงทำให้ กระแสโจมตี พล.ร.อ.อะดุง ลดน้อยลง เป้าหมายใหญ่จึงไปอยู่ที่ พล.ร.ท.พิชัย ผบ.ทัพเรือภาค 1 และ นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย
หลังจากที่ฝ่ายค้าน นำเรื่องนี้ไปตั้งกระทู้ถามในสภา เปิดประเด็นเรื่อง “คำสั่งห้ามเรือจม” ที่ทำให้ ระดับบิ๊กครูผู้บังคับบัญชา ตกในกระแสข่าวลืออีกครั้ง รวมถึงการที่ท่าเรือ บางสะพาน ประจวบฯ ยืนยัน พร้อมหลักฐานว่าอนุญาตให้เรือหลวงสุโขทัย เข้าเทียบท่า ช่วงที่หลบพายุได้ แต่ในที่สุดเรือก็ไม่เข้ามาเทียบท่า รวมทั้งรายงานเรื่อง การหันหัวกลับมุ่งหน้าสัตหีบ ชลบุรี ของเรือหลวงสุโขทัย จนเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเรือหลวงกระบุรี ที่เดินทางมาถึงทีหลัง ก็สามารถเข้าเทียบท่าได้อย่างปลอดภัย และกลายเป็นเรือหลัก ที่ออกมาช่วยเรือหลวงสุโขทัย ก่อนที่จะอับปางลงไป โดยเฉพาะ เมื่อเกิดเหตุเรือเอียง 60 องศา แต่ยังไม่มีการสละเรือใหญ่ ทั้งๆที่ มีเวลาหลายชั่วโมง กว่าเรือจะจมลงในเวลา 23.30 น. 18 ธันวาคม 2565
งานนี้ความรู้สึก และความคิดเห็นของกำลังพล แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งจับจ้องไปที่ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัยที่ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุดบนเรือ โดยที่ผู้บังคับบัญชาคนใดไม่อาจที่จะไปแทรกแซงได้ เพราะในทางทหารเรือถือว่า King of the ship ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ก็จับจ้องไปที่ระดับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น โดยเฉพาะคำสั่งห้ามเรือจม ที่แม้ว่าทางกองทัพเรือจะยืนยันว่า ไม่เคยมีคำสั่งเช่นนี้ก็ตาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมี พันจ่า ทหารเรือนอกราชการคนหนึ่งไปตะโกนในงานศพกำลังพลที่เสียชีวิตว่า กำลังพลทุกคนคือผู้บริสุทธิ์ ผู้รับผิดชอบ คือคนตัดสินใจ ที่มีการแชร์กันในโซเชียล อย่างแพร่หลาย “ผมไม่ขอพูดใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะหาว่าแก้ตัว ส่วนไหนเป็นความรับผิดชอบ ของผม ผมก็ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ความจริง ก็คือความจริง เพราะทุกคน จะต้องให้ข้อมูล กับคณะกรรมการสอบสวนของกองทัพเรือ แล้วก็จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะตอนนี้ สื่อแต่ละสื่อก็ไปสัมภาษณ์ลูกเรือที่รอดชีวิต แต่ละคนประจำจุด ประจำสถานี หรือมีหน้าที่แตกต่างกันในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็คิดต่างกันไป ดังนั้นให้รอผลการสอบสวน” พล.ร.ท.พิชัย ระบุ
ส่วนการที่กำลังพลของ นย. และ สอ.รฝ.30 นาย ร่วมลงเรือไปด้วยนั้น เนื่องจากทางจังหวัดประจวบได้ประสานขอสนับสนุนกำลังพล และเรือรบร่วมพิธีวันประสูติของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่หาดทรายรี ชุมพร เป็นประจำทุกวันที่ 19 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเรือหลวงสุโขทัย มีแผนที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในการลาดตระเวนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลอยู่แล้ว จึงได้รับมอบหมายภารกิจนี้ให้ไปร่วมพิธีที่ หาดทรายรี
“ผมว่า ผู้บังคับการเรือ และกำลังพลบนเรือจะเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นได้ดีที่สุด” ผบ.ทัพเรือภาค 1 กล่าว
ขณะที่ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ได้รับทราบรายงานเบื้องต้นจากผู้บัญชาการทหารเรือก็ได้ระบุในการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพว่า “สิ่งสำคัญคือการแสดงถึงกำลังพล เรือหลวงสุโขทัย ที่พยายามดูแลรักษายุทโธปกรณ์หลัก ที่มีความสำคัญอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเชื่อมั่นว่า อยู่ในขีดความสามารถที่จะแก้ไขอุบัติการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับเรือหลวงสุโขทัยได้ จนถึงเวลาสภาพลมฟ้าอากาศมีความรุนแรงต่อเนื่องจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุกับเรือ”
อันเป็นการสะท้อนว่ากำลังพลทุกคนได้พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว ที่คิดว่าจะเอาอยู่แก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เรือเอียงแล้วนิ่งอยู่ก็ได้พยายามในการสูบน้ำออก ตักน้ำออกทุกอย่างก็คิดว่าเรือจะไม่จมลงไปมากกว่านี้ ด้วยเพราะไม่เคยมีประสบการณ์เหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน แม้ที่ผ่านมาจากมีการฝึกการสละเรือหรือประจำสถานีก็ตาม จึงทำให้เกิดการประมาทหรือคาดไม่ถึงจนสละเรือช้ากว่าที่ควรจะเป็น หรืออาจจะมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องที่ทำให้ผู้บังคับการเรือต้องตัดสินใจเช่นนั้นหรือไม่
“ต้องชื่นชม ในการทำหน้าที่ และ ขอแสดงความคารวะกำลังพลของเรือหลวงสุโขทัย ที่ได้เสียชีวิตในการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้” พลเอกเฉลิมพลระบุ
ไม่ว่า จะด้วยเหตุใด ก็ตาม ทั้งหมดนี้จะอยู่ในการสอบสวนของคณะกรรมการ 2 ชุดของกองทัพเรือ ที่มี “เสธ.โอ๋” พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ และ เสธ. ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ เป็นประธาน ที่เชื่อกันว่าผลการสอบสวนและสภาพตัวเรือหลวงสุโขทัยที่กองทัพเรือมีแผนที่จะกู้ขึ้นมาจากใต้ทะเลในระยะลึก 50 เมตร แต่ต้องใช้เวลาหลายเดือนนั้น จะเป็นตัวบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรือ เช่นสภาพเรือเกิดอะไรผิดปกติอะไร สิ่งใดเสียหาย เช่น เครื่องยนต์ และเพลาเรือ
กรณีนี้ได้กลายเป็นประเด็นการเมืองเพราะฝ่ายค้านก็มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น รมว.กลาโหมด้วย จะต้องมีส่วนในการรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดทางทหาร จึงมีการตั้งกระทู้ถามในสภา แถมทั้งมีความพยายามจะเชื่อมโยงกับเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ที่ส่อเค้าบอกกองทัพเรืออาจจะยอมเปลี่ยนจากเครื่อง MTU 396 เยอรมนีตามสัญญาเดิมมาเป็นเครื่องยนต์จีน CHD620 ที่ฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่ พลเอกประยุทธ์ ว่ายอมอ่อนข้อให้จีนหลังจากพบปะกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ที่มาเยือนไทยในช่วงการประชุมเอเปกที่ผ่านมา
ในขณะที่การเมืองภายในกองทัพเรือเรื่องของขั้ว ในกองทัพเรือก็มีผลที่ทำให้เกิดกระแสข่าวลือต่างๆถาโถมไปยังผู้บังคับบัญชาในแต่ละระดับ ต้องไม่ลืมว่า พล.ร.อ.เชิงชาย ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ถูกจัดอยู่ในขั้วของ “บิ๊กเฒ่า” พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร.คนก่อน ที่เพิ่งเกษียณราชการไป ที่ก็มีความขัดแย้งกับอีกขั้วอำนาจหนึ่งในกองทัพเรือ
แต่ไปๆมาๆงานนี้หากตรวจสอบพบความผิดปกติ ของเรือหลวงสุโขทัยจากเรื่องอะไหล่หรือการซ่อมบำรุงโดยเฉพาะเพิ่งผ่านการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ในปี 2561 ถึง 2563 มาแล้ว ก็อาจจะต้องมีการสอบสวนย้อนหลังว่าเกิดอะไรขึ้นกับสมรรถนะของเรือหลวงสุโขทัยที่ถือเป็นเรือหลักของทร.
งานนี้มีเรื่องของความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพราะกองทัพเรือกำลังจะมีสมาชิกใหม่คือเรือหลวงช้าง LPD 792 ที่เป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ที่กำลังต่อที่เซี่ยงไฮ้ของจีน ที่จะเสร็จ เม.ย. 2566 นี้ที่เดิมจะนำมาเป็นเรือพี่เลี้ยงให้เรือดำน้ำ แต่เมื่อเรือดำน้ำมีปัญหาก็จะเป็นเรืออเนกประสงค์ที่จะมาช่วยเสริมงานของเรือหลวงอ่างทองที่เป็นเรือยกพลขึ้นบก และเป็นที่จับตามองว่ากองทัพเรือต้องเตรียมจัดหาเรือมาทดแทนเรือหลวงสุโขทัย ที่แน่ๆจะกู้ขึ้นมา ก็คงไม่สามารถใช้การได้แล้ว ซึ่งเป็นจังหวะที่ก่อนหน้านี้ พล.ร.อ.เชิงชาย มีแผนที่จะต่อเรือ ฟริเกตสมรรถนะสูงอีก 1 ลำ หลังจากที่เคยต่อเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช จากเกาหลีใต้มาแล้ว
โดยคณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติหลักการให้กองทัพเรือต่อเรือฟริเกตสมรรถนะสูงไว้ 2 ลำ โดยอยู่ระหว่างการเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณ 15,000,ล้าน ในปีเพื่อเตรียมของบฯ 2567 โดยจะให้มีการต่อเรือในไทยและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทต่อเรือของประเทศไทย จึงถือว่าเป็นเรื่องดวงชะตาพอดีที่ พล.ร.อ.เชิงชายขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารเรือในสมัยนี้แล้วเจอกับโศกนาฏกรรมใหญ่เรือหลวงสุโขทัยอับปาง กำลังพลเสียชีวิต เกือบ 20 นาย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการทดสอบใจและความเป็นผู้นำของ พล.ร.อ.เชิงชายในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้เป็นที่ยอมรับของสังคมในผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะอย่างน้อยการที่ พล.ร.อ.เชิงชาย มาแถลงข่าวเอง และตอบคำถามสื่อเอง ก็ถือว่า เป็นการไม่หนีปัญหา เพราะจริงๆสามารถให้โฆษกกองทัพเรือแถลงเองก็ได้
นอกจากต้องสู้กับกระแสภายนอกกองทัพการเมืองแล้วยังต้องเจอการเมืองภายในกองทัพเรือและต้องเยียวยาความรู้สึกของกำลังพลที่อาจเกิดข้อสงสัยและคำถามมากมายหากสรุปผลออกมาไม่เป็นที่พอใจ