เรือหลวงสุโขทัย ขนาดความยาว 76.8 เมตร น้ำหนัก 960 ตัน สูง 28 เมตร ยังคงจมอยู่ใต้ท้องทะเล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระดับความลึก 40 เมตร ในสภาพตั้งตระหง่านกับพื้นทะเล ห่างจากฝั่งประมาณ 19 ไมล์ทะเล โดยกองทัพเรือยังคงค้นหากำลังพลที่สูญหาย และเตรียมแผนจะกู้เรืออย่างเร่งด่วน จะไม่แยกชิ้น ตัดชิ้นส่วนใดๆ เพราะต้องรักษาสภาพเรือหลวงสุโขทัยให้สามารถใช้งานได้ต่อ คาดใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ดำเนินการตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อคัดเลือกบริษัททำการกู้เรือ
แต่การกู้เรือขึ้นมาทั้งลำ ต้องใช้เทคนิคและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อพยุงเรือ และต้องสูบน้ำออกจากเรือ เพื่อให้เรือเบา โดยวิธีการหลายวิธี อย่างกรณีกู้เรือฟีนิกซ์ ถูกคลื่นซัดจมทะเลภูเก็ต ระดับความลึก 45 เมตร เมื่อปี 2561 ได้ใช้เรือเครนขนาด 1,200 ตัน จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ที่มีในโลก และเป็นหนึ่งเดียวในเอเชีย ทำการยกเรือฟีนิกซ์น้ำหนัก 200 ตัน ขึ้นสู่ผิวน้ำ ก่อนสูบน้ำออกจากเรือ หลังจมทะเลนาน 4 เดือน เนื่องจากบริษัทกู้เรือรายแรก ไม่สามารถกู้เรือได้สำเร็จ
การกู้เรือหลวงสุโขทัย แม้ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนมากๆ นำไปสู่การวางแผน เพื่อเร่งดำเนินการกู้เรือให้เร็วที่สุด เพราะเชื่อว่าหากกู้เรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาได้ อาจจะสามารถคลี่คลายข้อสงสัยต่างๆ ที่ค้างคาใจของสังคมก็เป็นไปได้
หากลองนึกดูถึงวิธีการกู้เรือหลวงสุโขทัยจะเริ่มต้นอย่างไร เพื่อให้คนในสังคมเห็นภาพการนำเรือขนาดใหญ่ให้ขึ้นมาบนผิวน้ำ ที่อยู่ในสภาพตั้งตระหง่านบนผืนทรายในทะเลลึก 40 เมตร ยังไม่รวมถึงความลึกที่เรือทิ่มดิ่งลงไปในทราย อาจจะดูยากลำบากพอสมควร
ขั้นตอนเบื้องต้นในการกู้เรือนั้น “กัปตันเศกสิษฏ์ ประทุมศรี” อดีตกัปตันเรือบรรทุกสินค้า ผู้มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ในการทำงานบนเรือ เคยเผชิญกับลมพายุขนาดใหญ่กลางทะเลมาก่อน และปัจจุบันเป็นผู้บริหารอยู่บริษัทเรือบรรทุกน้ำมัน อธิบายคร่าวๆ ให้เห็นภาพว่า ถ้ากองทัพเรือต้องการกู้เรือหลวงสุโขทัยทั้งลำให้กลับมาใช้ใหม่ จะต้องอยู่ในสภาพคงเดิมมากที่สุด เพราะฉะนั้นการกู้เรือต้องใช้เทคนิค ทำให้เรือลอยขึ้นมาให้ได้ โดยใช้เรือเครนขนาดใหญ่ยกเรือขึ้นมา และอาจใช้เทคนิคติดตั้งเบาะลมที่ตัวเรือ เพื่อช่วยพยุงให้เรือหลวงสุโขทัยลอยขึ้นมาง่ายขึ้นร่วมด้วย โดยเรือเครนดังกล่าว ก็ต้องติดตั้งเครนที่สามารถยกเรือหลวงสุโขทัยที่จมอยู่ใต้ทะเลให้ขึ้นสู่ผิวน้ำได้
นอกจากนี้ลวดหรือสลิง ที่จะไปคล้องและรัดบริเวณรอบๆ ตัวเรือ เพื่อยกเรือขึ้นมา ก็ต้องสามารถรับน้ำหนักของเรือหลวงสุโขทัยได้ การถอดชิ้นส่วนต่างๆ ออกเพื่อให้เรือเบาขึ้น จะทำค่อนข้างยากที่ระดับน้ำลึก 40 ม. และที่สำคัญหากถอดชิ้นส่วนเรือออกก็จะทำให้เรือใช้การไม่ได้ และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของกองทัพเรือ
“เข้าใจว่าเป็นเรือหลวงระดับแนวหน้าของไทย แต่การกู้ขึ้นมาทั้งลำค่อนข้างยากพอสมควร แต่จากสภาพเรือที่ตั้งตรง ก็มองว่าการที่จะยกเรือขึ้นมาก็มีสิทธิ์เป็นไปได้ แต่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยใช้เครนยกร่วมกับใช้เบาะลมพยุงขึ้นมา แต่การที่เรือหลวงจมอยู่ใต้ทะเลเป็นเวลานาน อาจทำให้ตัวเรือจมอยู่ในทรายมากขึ้น ก็จะค่อนข้างเป็นปัญหากับการที่จะเอาลวดหรือสลิงไปคล้องรอบๆ ตัวเรือในบริเวณที่แข็งแรงพอสมควร อาจจะต้องหาวิธีที่จะเอาทรายบริเวณที่จะไปคล้องลวดสลิงออก หรือจะมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถขุดลงไปในทรายเพื่อนำลวดสลิงไปคล้องรอบๆ ตัวเรือให้ได้ หรืออาจใช้เบาะลมพยุงช่วยให้เรือมีแรงลอยตัวพ้นจากการจมอยู่ในทราย”
อีกอย่างหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือต้องใช้นักประดาน้ำที่มีความชำนาญ เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ อาจต้องมีการเข้าไปสำรวจในเรือก่อนที่จะยกเรือ หรือการติดตั้งลวงสลิงยกเรือ ซึ่งเป็นงานที่เสี่ยงและอันตรายมาก ซึ่งทางกองทัพเรือต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะน้ำมีความลึกมากถึง 40 เมตร ในสภาพคลื่นลมแรง จะต้องหานักประดาน้ำที่มีความชำนาญพอสมควร
ต้องทำให้เรือลอยอย่างระมัดระวัง หากจะนำมาใช้ต่อ
เมื่อกองทัพเรือต้องการทำให้ได้ตามเป้าหมายในการนำเรือมาใช้ต่อ ต้องมีความระมัดระวังค่อนข้างมากในการนำเรือขึ้นมา เพราะมีน้ำอยู่ในเรือเป็นจำนวนมาก การจะสูบน้ำออกจากเรือจะเป็นไปค่อนข้างยาก บางส่วนของเรือที่เป็นส่วนที่ผนึกน้ำ ก็ไม่แน่ใจว่าได้มีการปิดไว้หรือเปล่าก่อนที่เรือจะจม จึงเป็นไปค่อนข้างยากที่จะทำให้เรือเกิดแรงลอยตัวอีกครั้งด้วยตัวของเรือเอง จากอากาศที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของเรือจากการที่สูบน้ำออก
นอกจากนี้ เทคนิคการใช้เบาะลมพยุงให้เรือลอยขึ้น ร่วมกับการยกด้วยเครน ก็จะทำให้เรือลอยขึ้นสู่ผิวง่ายขึ้น ส่งเบาะลมลงไปและใช้นักประดาน้ำช่วยในการเอาเบาะลมลงไปผูกติดไว้กับตัวเรือให้แน่น และเติมลมให้เบาะลมจากเรือบนผิวน้ำ อาจจะช่วยให้เรือขยับลอยขึ้นจากการจมอยู่กับทราย และทำให้การเอาลวดสลิงไปคล้องทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
“วิธีที่ดีที่สุดในการกู้เรือ คือต้องทำให้เรือลอยขึ้นมาเหนือน้ำเหมือนกับที่ทั่วโลกเขาทำกัน และการจะเปรียบเทียบการกู้เรือหลวงสุโขทัย กับการกู้เรือฟินิกซ์ ก็จะคล้ายๆ กัน แต่เรือฟินิกซ์เป็นเรือโดยสารท้องแบน ซึ่งจะแตกต่างกับเรือหลวงสุโขทัย ซึ่งท้องเรือเป็นรูปตัววี และจะเห็นได้ว่าจมอยู่ในความลึกใกล้เคียงกัน ดังนั้นการกู้เรือก็จะคล้ายๆ กัน ในการต้องใช้เรือเครนขนาดใหญ่ ใช้ลวดสลิงที่สามารถรับน้ำหนักได้ ก็สามารถยกเรือขึ้นมาได้”
การกู้เรือขนาดใหญ่โดยทั่วๆ ไป ก็จะใช้วิธีในลักษณะเดียวกัน อาจมีบ้างที่ต้องการลดหนักตัวเรือโดยการแยกสิ้นส่วน แต่ในกรณีของเรือหลวงสุโขทัย หากมีแผนที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ ก็ต้องยกขึ้นมาทั้งลำ และคงใช้งบประมาณมหาศาล แต่ก็จะสามารถสร้างขวัญและกำลังใจตลอดจนความเชื่อมั่นให้กับกำลังพลของกองทัพเรือ และเรียกความน่าเชื่อถือและศรัทธาของคนไทยที่มีต่อกองทัพเรือ แต่เชื่อว่าคงไม่น่านำกลับมาใช้อีก เพราะอาจมีผลต่อความรู้สึกของกำลังพลที่จะลงไปประจำการอีกครั้ง
“หากเป็นความต้องการของกองทัพเรือ ก็ขอเอาใจช่วย อยากให้เรือหลวงสุโขทัยกลับมาลอยบนผิวน้ำได้อีกครั้ง ถ้าไม่นำไปใช้ต่อ อาจเอาเป็นทำเป็นอนุสรณ์สถาน ก็กลายเป็นสถานที่ที่ครอบครัวและญาติผู้สูญเสีย ได้มากราบไหว้ระลึกถึงผู้ที่จากไป”
ในการประเมินระยะเวลาการกู้เรือนั้น น่าจะประมาณ 3-4 เดือน จากขั้นตอนการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ในการยกเรือไม่ว่าจะเป็นการคล้องลวดสลิง และการติดตั้งเบาะลมซึ่งค่อนข้างลำบาก และต้องรอช่วงเวลาที่คลื่นลมไม่แรงมาก แต่หลังจากติดตั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว ก็น่าจะใช้เวลาไม่นานที่เราจะเห็นเรือหลวงสุโขทัยบนผิวน้ำอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงขั้นตอนการของบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการในการคัดเลือกบริษัท อาจต้องใช้เวลานานพอสมควร.