เขียนวันที่
วันจันทร์ ที่ 23 มกราคม 2566 เวลา 17:52 น.
‘คปต.’ ยื่นหนังสือ ‘อว.’ สอบข้อเท็จจริง ‘นายกสภา มสธ.’ ส่อมีปัญหาธรรมาภิบาล-แสวงหาประโยชน์มิชอบ ปมแก้ระเบียบยกอำนาจจัดการ ‘ทรัพย์สิน-เงินลงทุน 2.5 พันล้าน’ ให้บอร์ดบริหารเงินรายได้ฯ ขัด ‘พ.ร.บ.มสธ.’ พบมีการก้าวก่ายฝ่ายบริหาร- แต่งตั้ง ‘รักษาการอธิการบดี มสธ.’ ส่อขัดข้อบังคับ-กฎหมาย
………………………………..
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) ยื่นหนังสือถึงนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมาย กรณีนายวิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ที่อาจมีปัญหาด้านธรรมาภิบาล และอาจมีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
สำหรับหนังสือของนายวีระ มีเนื้อหาสรุปได้ว่า คปต.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากบุคคลากรของ มสธ. เกี่ยวกับปัญหาธรรมาภิบาลและความโปร่งใสภายในมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบใน 2 เรื่อง ประกอบด้วย
เรื่องแรก มีหลักฐานจากบุคลากรของ มสธ. และเมื่อได้ตรวจสอบชั้นต้นแล้ว น่าเชื่อว่า มสธ. ที่มีนายวิจิตร เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มีความไม่โปร่งใส และเชื่อว่าอาจมีการแสวงหารผลประโยชน์โดยมิชอบ ใน 4 ประเด็น ได้แก่
1.นายวิจิตร ในฐานะนายกสภา มสธ. ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายบริหาร มสธ. ได้ใช้อำนาจก้าวก่ายแทรกแซงการบริหารงานของ มสธ. โดยแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานอนุกรรมการปฏิรูปฯ เพื่อจัดทำแผนปฏิรูป มสธ. และได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1 หมื่นบาท รวมแล้วเป็นเงินปีละหลายแสนบาท ทั้งๆที่นายวิจิตรไม่มีอำนาจและไม่สามารถกระทำได้ จึงน่าจะเป็นการทุจริตหรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือจงใจใช้อำนาจที่ขัดต่อกฎหมาย
2.มีการออกข้อบังคับให้คณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สิน มีอำนาจออกระเบียบการเงินได้เอง โดยไม่ต้องเสนอต่อสภา มสธ. เพื่อขออนุมัติ เพียงแต่รับทราบ ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชฯ ที่กำหนดให้ สภา มสธ. มีอำนาจออกข้อบังคับและระเบียบ และจัดวางระเบียบเกี่ยวกับเงินและทรัพย์สิน หรือเท่ากับว่า สภา มสธ. จะออกข้อบังคับโอนอำนาจของตน ไปให้คณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สินไม่ได้
3.ปัจจุบัน มสธ. มีการนำเงินคงคลังของมหาวิทยาลัยจำนวนเงิน 2,500 ล้านบาท ไปลงทุนกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 4 แห่ง โดยมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สิน เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ซึ่งอาจเกิดปัญหาความชอบด้วยกฎหมายและความโปร่งใส กล่าวคือ การนำเงิน 2,500 ล้านบาท ไปลงทุน ได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สิน ไม่มีอำนาจ ตามแนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
อีกทั้งการนำเงิน 2,500 ล้านบาท ไปลงทุนกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้ง 4 แห่ง นั้น มีความโปร่งใสหรือไม่ กระบวนการลงทุนมีหลักเกณฑ์อย่างไร เนื่องจากพบว่าคนในครอบครัวของคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สิน มีความเกี่ยวพันกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 1 แห่ง ,การลงทุนมีหลักประกันความเสี่ยงหรือไม่ ได้ผลตอบแทนการลงทุนคุ้มค่าหรือไม่ และมีการเปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้าไปตรวจสอบได้หรือไม่ เป็นต้น
4.การขึ้นเงินเดือนนายวิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภา มสธ. โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภา เป็นผู้เสนอขอขึ้นเงินเดือนนายกสภา มสธ. โดยไม่นับเงินที่นายกสภา มสธ. ได้รับอยู่แล้วจากงบประมาณแผ่นดิน แต่เป็นการขอขึ้นเงินเดือนเพิ่มอีกก้อนหนึ่งจากเงินรายได้ของ มสธ. นั้น อาจมีปัญหาธรรมาธิบาล เนื่องจากนายกสภา มสธ. มีเงินเดือนจากงบแผ่นดิน และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจากงบแผ่นดินอยู่แล้ว ในขณะที่เงินรายได้ของ มสธ. กำลังลดลง เพราะนักศึกษาน้อยลง
เรื่องที่สอง กรณีที่นายวิจิตร มีคำสั่งแต่งตั้ง รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี มสธ. ตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 นั้น เชื่อว่าเป็นการขัดต่อข้อบังคับ กฎระเบียบ กฎหมาย รวมถึงหลักธรรมาภิบาลในการบริหารของ มสธ. จึงขอให้ อว.ตรวจสอบว่า รศ.ดร.มานิตย์ เป็นข้าราชการสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือไม่ และการแต่งตั้ง รศ.ดร.มานิตย์ ดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี มสธ. มีขั้นตอนและกระบวนการอย่างไร มีการแจ้งยืมตัวกับหน่วยงานใด บุคคลใดเป็นผู้ขอและผู้อนุมัติ และมีการกำหนดระยะเวลาในการยืมตัวหรือไม่
ขณะที่การยืมตัว รศ.ดร.มานิตย์ เป็นการขอยืมตัวเพื่อปฏิบัติราชการนั้น เป็นการขอยืนตัวเต็มเวลาหรือไม่ และกรณีการปฏิบัติราชการในเวลาเดียวกัน รศ.ดร.มานิตย์ ได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทน ค่าจ้างใดบ้าง จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชหรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือนับเงินเดือนจากทั้ง 2 สถาบัน เนื่องจากเป็นข้าราชการต้องทำงานเต็มเวลาเพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ หลังจาก รศ.ดร.มานิตย์ ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มสธ. แล้ว ปรากฎว่าได้มีการแต่งตั้งให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยควบตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักและรองอธิการบดี ตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้นไป และยังพบว่า รศ.ดร.มานิตย์ รักษาการในตำแหน่งอธิการบดี มสธ. มาเกิน 180 วันแล้ว หรือตั้งแต่เดือน ต.ค.2564-ปัจจุบัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อแนวปฏิบัติหลักธรรมาภิบาลของกระทรวง อว. หรือไม่
อ่านประกอบ :
สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ‘มานิตย์ จุมปา’ เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดี มสธ.