ทันทีที่สิ้นเสียงนกหวีดครบ 90 นาทีดังออกจากปากของผู้ตัดสินในเกมฟุตบอลไทยลีก นัดที่ 24 ของฤดูกาล ที่ลีโอ สเตเดียม ซึ่งพวกเขาเอาชนะ “ค้างคาวไฟ” สุโขทัย เอฟซี ได้อย่างหมดจด 2-0
“เดอะ แรบบิท” บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ก็กลายเป็นแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศนี้ทันที
สิ้นสุดการรอคอยยาวนาน 12 ปีของการก่อตั้งสโมสร
ยิ่งไปกว่านั้นขุนพลนักเตะ “เดอะ บลูแมชชีน” ยังช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ด้วยการเป็นทีมที่การันตีแชมป์เร็วสุดในประวัติศาสตร์วงการลูกหนังไทยอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ “ปราสาทสายฟ้า” บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นเจ้าของสถิติเดิม หลังจากเคยคว้าแชมป์เมื่อฤดูกาล 2011 แม้ยังเหลือโปรแกรมอีก 5 นัด แต่สถิติดังกล่าวก็ถูกทำลายลงได้ในที่สุด เมื่อบีจี ปทุมฯ ผงาดคว้าแชมป์ได้สำเร็จ แม้จะยังเหลือโปรแกรมประจำฤดูกาลอีกถึง 6 นัดก็ตาม
กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่ยิ่งใหญ่ ทีมๆนี้ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมาโชกโชน
ประวัติศาสตร์สโมสรแห่งนี้เริ่มต้นจากการเป็นทีมบีจี เอฟซี หรือสโมสรบางกอกกล๊าส เอฟซี ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของพนักงาน บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด โดยได้เริ่มก่อตั้งชมรมฟุตบอลขึ้นเมื่อ พ.ศ.2542 หรือ ค.ศ.1999 ก่อนที่จะมีการก่อตั้งสโมสรอย่างเป็นทางการในปี 2006
จากนั้นในปี 2009 จึงได้ทำการเทกโอเวอร์ “สโมสรธนาคารกรุงไทย” ในขณะนั้น ซึ่งต้องการยุบทีม ทำให้พวกเขาได้สิทธิ์ลงฟาดแข้งในศึกลูกหนังไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกฤดูกาลดังกล่าว ก่อนที่จะจบอันดับ 3 ในซีซันแรกที่ใช้ชื่อบางกอกกล๊าสเอฟซี
และแม้ว่าพวกเขาจะได้แชมป์เมเจอร์อย่าง “ไทยคม เอฟเอคัพ” ในปี 2014 ด้วยการเฉือนชนะ “ฉลามชล” ชลบุรี เอฟซี ในรอบชิงชนะเลิศอย่างหวุดหวิด 1-0 แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถไปเคาะประตูแห่งความสำเร็จบนลีกสูงสุดได้เสียที
จนมาในปี 2018 เกิดวิกฤติครั้งใหญ่
การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ครั้งมโหฬารของสโมสร ทั้งสีประจำทีมจากเขียวเป็นฟ้า เปลี่ยนเสื้อทีม เปลี่ยนโลโก้สโมสร เปลี่ยนอัฒจันทร์ และแม้กระทั่งเปลี่ยนพื้นสนามจากหญ้าเทียมมาใช้เป็นหญ้าจริง มันไม่ได้ช่วยอะไร!
บางกอกกล๊าส เอฟซี “ตกชั้น” จากการจบฤดูกาลในอันดับที่ 14 บนตารางคะแนนรวม
ตรงนั้นจึงทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความจริงที่ว่าโชคลางไม่ได้สำคัญไปกว่าการเอาจริง มุ่งมั่น และอดทน ทำมันต่อไป
ในปีต่อมา 2019 ผู้บริหารของทีมตัดสินใจแต่งตั้ง “โค้ชโอ่ง” ดุสิต เฉลิมแสน เข้ามารับบทกุนซือใหญ่ หวังใช้ประสบการณ์จากอดีตยอดแบ็กซ้ายดาราเอเชีย ซึ่งในขณะนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องของการพาทีมจากลีกพระรองกลับขึ้นชั้นสู่ลีกเบอร์1 ขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนชื่อประจำสโมสรอีกครั้งจากบางกอกกล๊าส เอฟซี มาเป็นบีจี ปทุม ยูไนเต็ด (บีจี พียู)
ในที่สุดพวกเขาก็ผงาดคว้าแชมป์ไทยลีก 2 และทะยานเลื่อนชั้นขึ้นสู่ไทยลีกได้สำเร็จตามเป้าประสงค์ (แรก) ได้สำเร็จ
เพียงแค่ปีเดียวพวกเขาก็เริ่มเขียนหนึ่งในเรื่องราวที่มหัศจรรย์ที่สุดเรื่องหนึ่งลงบนพงศาวดารลูกหนังไทยทันที
ผู้บริหารของทีมก็เดินหน้าต่อแบบไม่ยั้ง ด้วยการทุ่มงบประมาณในการเสริมทัพนักเตะชั้นยอด อาทิ อันเดรส ตูเญซ, วิคเตอร์ คาร์โดโซ สองเซ็นเตอร์แบ็กที่แข็งแกร่งที่สุด และกระชากตัว “เจ้าตัง” สารัช อยู่เย็น มิดฟิลด์ดีกรีทีมชาติไทยมาจากอ้อมอกของ “กิเลนผยอง” เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด
รวมถึงเจรจาดึงตัว “เจ้ามุ้ย” ธีรศิลป์ แดงดา ดาวยิงหมายเลข 1 ของทีมชาติไทยมาจากชิมิสึ เอสพัลส์ ยอดทีมในศึกเจลีก ญี่ปุ่น และ ดิโอโกหลุยส์ ซานโต อดีตดาวซัลโวไทยลีกมาจาก ยะโฮร์ดารุล ทาซิม ทีมชั้นนำในลีกมาเลเซีย มาร่วมด้วยช่วยกันเพื่อสร้างตำนานบทใหม่
เป็นการลงทุนที่สูง แต่มันก็คุ้มค่ามหาศาล
“เดอะ แรบบิท” บีจี ปทุม ยูไนเต็ด กลายเป็นแชมป์ลีกสูงสุดในฤดูกาลถัดมา ซึ่งก็คือฤดูกาลนี้ทันที ทั้งๆที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นปีแรก เหมือนดั่งเช่นปีก่อนที่เขาตกชั้นและขึ้นชั้นในปีถัดมาในฐานะแชมป์
อย่างไรก็ตาม การไล่ล่าทำสถิติต่างๆในฤดูกาล 2020/2021 ของบีจี ปทุม ยูไนเต็ด ยังไม่จบแค่นี้
พวกเขาต้องการเป็น “แชมป์ไร้พ่าย” เป็นทีมที่ 3 ต่อจากเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด (ฤดูกาล 2012) และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด (ฤดูกาล 2013 และ2015)
“เดอะ แรบบิท” ที่นำทัพโดยประธานสโมสรจอมทุ่มเทอย่าง ปวิณ ภิรมย์ภักดี จะทำ “เพอร์เฟก แชมเปียนส์” ได้หรือไม่ เกมสุดท้ายของฤดูกาลที่พวกเขาจะต้องออกไปเยือน “กิเลนผยอง” เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ที่เอสซีจี สเตเดียม ในเย็นวันนี้ (28 มี.ค.)
จะตัดสินให้ได้.
นที คงสุข เรื่อง