เวลาไปกราบพระในวัดต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วพระพุทธรูปประธานในอุโบสถหรือวิหารก็มักจะเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่ง และปางที่นิยมที่สุดก็น่าจะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งถือเป็นปางสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการตรัสรู้
แต่พระพุทธรูปปางอื่นๆ เช่น อิริยาบถยืนนั้นไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยสักเท่าไร อาจเป็นเพราะต้องใช้พื้นที่มากในการสร้างก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้เวลาได้ก้มกราบพระพุทธรูปยืนก็จะมีความรู้สึกที่แตกต่างไปจากพระพุทธรูปปางอื่นๆ โดยเวลาก้มลงกราบพระก็เหมือนกับได้กราบลงที่พระบาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลามองก็ต้องแหงนหน้ามอง ทำให้รู้สึกว่าพระพุทธเจ้านั้นยิ่งใหญ่ ส่วนมนุษย์ที่ยังละกิเลสไม่ได้อย่างเรานั้นตัวเล็กเสียเหลือเกิน
ดังนั้นในวันนี้เราจึงจะขอพาไปกราบพระพุทธรูปยืนองค์สำคัญในวัดต่างๆ ทั่วไทย และเพื่อถือเคล็ดเป็นมงคล จะได้อายุมั่นขวัญยืนดังเช่นพระพุทธรูปยืนกันถ้วนหน้า
เริ่มจาก “วัดบุญยืน” อ.เวียงสา จ.น่าน วัดแห่งนี้เป็นวัดสำคัญประจำอำเภอเวียงสา เมื่อครั้งอดีตเมื่อบ้านเมืองเกิดความไม่สงบหรือเกิดภัยธรรมชาติในเมืองน่านคราใด เจ้าผู้ครองนครน่านและประชาชนจะประกอบพิธีบวงสรวงสักการะบูชาพระธาตุเจดีย์วัดบุญยืน
ภายในพระวิหารวัดบุญยืนประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลก ซึ่งในสมัยที่ยังมีเจ้าผู้ครองนครน่านนั้น ได้มีการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาขึ้น ในพระวิหารต่อหน้าพระพุทธปฏิมาปางประทับยืน องค์พระประธานตลอดมา
“วัดพระปฐมเจดีย์” อ.เมือง จ.นครปฐม นอกจากจะมีพระปฐมเจดีย์ เป็นมหาเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความเป็นมายาวนานย้อนกลับไปถึงยุคทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) แล้ว
นอกจากนี้บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์มีพระพุทธรูปสำคัญคือ “พระร่วงโรจนฤทธิ์” พระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติศิลปะสุโขทัย เป็นที่เคารพบูชาอย่างยิ่งของชาวนครปฐม ให้สักการะบูชา ใครที่ไปไหว้องค์พระ ไม่ควรพลาดการไปสักการะพระร่วงโรจนฤทธิ์ ด้วยประการทั้งปวง
“วัดพระธาตุเขาน้อย” อ.เมือง จ.น่าน เป็นอีกหนึ่งวัดชื่อดังของเมืองน่าน มีองค์พระธาตุเขาน้อยศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เนื่องจากมีชัยภูมิอยู่บนยอดเขา
ทางวัดได้ทำจุดชมวิวตัวเมืองน่านไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมบรรยากาศของเมืองที่โอบล้อมด้วยขุนเขา บริเวณจุดชมวิวนี้เป็นที่ประดิษฐานของ “พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน” พระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ซึ่งหันพระพักตร์ไปทางตัวเมืองน่านเหมือนจะคอยปกป้องบ้านเมือง ที่วัดแห่งนี้จึงมีผู้คนมาไหว้พระและชมวิวกันไม่ขาดสาย
“วัดสะพานหิน” อ.เมือง จ.สุโขทัย เป็นโบราณสถานนอกเขตกำแพงเมืองของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยวัดสะพานหินตั้งอยู่บนเนินเขา จะต้องเดินตามบันไดหินขึ้นไปราว 300 เมตร ด้านบนเป็นที่ประดิษฐาน “พระอัฏฐารส” เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ถูกกล่าวถึงในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 27-32 ความว่า “เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้ มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทาน แก่มหาเถร สังฆราช ปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรหลวก กว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา ในกลางอรัญญิกมีพิหารอันหนึ่งมนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฏฐารสอันหนึ่งลุกยืน”
“วัดพระยืน” อ.เมือง จ.ลำพูน สันนิษฐานว่าพระนางจามเทวีทรงสร้างวัดนี้ขึ้นในราวปี พ.ศ. 1213 (หลังครองราชย์ได้ 7 ปี) ซึ่งนับจนวันนี้มีอายุเก่าแก่มากถึงกว่า 1,300 ปี
ชื่อของวัดพระยืน มาจากองค์พระพุทธรูปยืนเก่าแก่ ที่ตามเอกสารของวัดระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1606 ในสมัยพระเจ้าธรรมมิกราช พระยืนองค์นี้หล่อด้วยทองสำริด สูง 18 ศอก เดิมประดิษฐานอยู่ในปราสาทสถูป(หลังพระวิหาร) ต่อมาใน พ.ศ. 1712 พระยากือนา ผู้ครองนครเชียงใหม่และลำพูน ได้สร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มเติมขึ้นอีก 3 องค์
จากนั้นเมื่อกาลเวลาผันผ่าน สถูปวัดพระยืนได้พุพังไปตามกาลเวลา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2447 พระครูศีลวิลาศ(พระคันธวงศ์เถระหรือครูบาวงศ์) เจ้าคณะจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยเจ้าหลวงอินทยงยศ เจ้าผู้ครองนครลำพูน ได้ร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์สถูปเจดีย์ขึ้นมาใหม่ โดยสร้างก่อหุ้มคลุมองค์พระยืนทั้ง 4 ไว้ภายใน พร้อมกับสร้างพระพุทธรูปยืนองค์เล็กกว่าขึ้นมาประดับเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน
เจดีย์วัดพระยืนยังงดงามตามแบบศิลปกรรมพม่า คล้ายกับเจดีย์วัดสัพพัญญูในเมืองพุกาม สร้างยกพื้นลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ มีบันไดเดินขึ้นสู่ลานประทักษิณชั้นบนที่ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว และมีเจดีย์บริวารองค์เล็กอยู่ทั้ง 4 มุม
“วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ” อ.เมือง จ.พิษณุโลก เรารู้จักกันดีว่าเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชอันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก และบริเวณหลังวิหารพระพุทธชินราช ยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระอัฏฐารส” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติสูง 18 ศอก
พระอัฎฐารสนี้สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช คือในราว พ.ศ. 1800 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหาร แต่ภายหลังตัววิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น และเนินพระวิหารบางส่วนเท่านั้น ปัจจุบันเรียกกันว่า “วิหารเก้าห้อง” กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะขุดแต่งทางโบราณคดีในบริเวณนี้ และขุดพบฐานพระวิหารเดิมและพระพุทธรูปวัตถุโบราณอีกจำนวนหนึ่ง
มาที่ในกรุงเทพมหานครกันบ้าง ที่ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือวัดโพธิ์ ท่าเตียน มีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ในพระวิหารทิศตะวันออก หรือบริเวณด้านหน้าพระอุโบสถของวัดโพธิ์ พระพุทธรูปองค์นี้มีนามว่า “พระพุทธโลกนาถ ราชมหาสมมตวงศ องคอนันตญาณสัพพัญญู สยัมภูพุทธบพิตร” หรือเรียกกันสั้นๆว่า “พระพุทธโลกนาถ”
พระพุทธโลกนาถซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาตินี้มีขนาดสูง 20 ศอก เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ในกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อกรุงแตก วัดต่างๆ ถูกเผาทำลายรวมถึงวัดพระศรีสรรเพชญ์ด้วย ดังนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนฯ ขึ้น จึงโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระพุทธโลกนาถจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทิศตะวันออกจนปัจจุบัน
“วัดราชโอรสาราม” ย่านจอมทอง วัดประจำพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่มีความโดดเด่นตรงที่มีศิลปกรรมแบบจีนสอดแทรกอยู่ในวัดไทย เช่น หน้าบันของพระอุโบสถไม่มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนวัดอื่นๆ แต่กลับเป็นหน้าบันแบบเรียบๆประดับด้วยเครื่องกระเบื้องและลวดลายปูนปั้นต่างๆ อันเป็นศิลปะแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ 3
ส่วนพระยืนในวัดราชโอรสนั้นประดิษฐานอยู่ในพระวิหารที่อยู่ทางด้านซ้ายของพระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน หน้าบันเป็นลวดลายประแจจีน ประดับด้วยเครื่องถ้วย พระพุทธรูปยืนที่ประดิษฐานในพระวิหารนั้นเป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ สันนิษฐานว่าวิหารหลังนี้เคยเป็นพระอุโบสถเก่าของวัดมาก่อน และพระยืนองค์นี้ก็เป็นพระประธานในพระอุโบสถหลังเดิม ก่อนรัชกาลที่ 3 จะทรงเข้ามาบูรณะ
“วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” หรือวัดภูเขาทอง นอกจากจะมีภูเขาทองเป็นจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดีแล้ว ก็ยังมีพระพุทธรูปยืนนามว่า “พระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร” เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติขนาดสูง 5 วา 1 ศอก 10 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารวัดสระเกศอีกด้วย
เดิมทีนั้น พระอัฏฐารสเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดวิหารทอง จังหวัดพิษณุโลก ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดฯให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดสระเกศเมื่อคราวที่มีการปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ สันนิษฐานว่าน่าจะอัญเชิญมาในช่วงเดียวกับที่มีการอัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาไว้ที่วัดบวรนิเวศฯนั่นเอง
ปิดท้ายที่ “วัดอินทรวิหาร” ย่านบางขุนพรหม ก็มีพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้ง เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไปด้วยเช่นกัน พระพุทธรูปองค์นี้มีนามว่า “พระศรีอริยเมตไตรย” หรือที่คนนิยมเรียกท่านว่า “หลวงพ่อโต” โดยเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่สูงที่สุดในโลก คือมีความสูงประมาณ 32 เมตร และบนยอดเกตุของหลวงพ่อโตก็มีพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลประเทศศรีลังกามอบให้รัฐบาลไทยประดิษฐานอยู่ ส่วนองค์ของหลวงพ่อโตนั้นก็ประดับด้วยกระจกโมเสกทองคำแท้จากประเทศอิตาลีทั้งองค์ มองดูเหลืองอร่ามท่ามกลางแสงแดด
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นผู้ริเริ่มสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่เมื่อสร้างไปได้ถึงเพียงพระนาภี หรือบริเวณสะดือของพระพุทธรูป สมเด็จโตก็มรณภาพเสียก่อน การก่อสร้างจึงได้หยุดชะงักอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะดำเนินต่อมาอีกถึง 60 ปี ก่อนที่จะสร้างพระศรีอริยเมตไตรยองค์นี้เสร็จสิ้นลงในสมัยรัชกาลที่ 7