ทั่วไป
20 ก.ย. 2564 เวลา 10:07 น.
ปภ.รายงานเกิดอุทกภัย 14 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,629 ครัวเรือน สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ยังคงมีน้ำท่วมขังบางพื้นที่ เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ปภ.รายงานเกิดอุทกภัย 14 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,629 ครัวเรือน สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ยังคงมีน้ำท่วมขังบางพื้นที่ เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 64 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานในช่วงวันที่ 16-20 ก.ย. 64 เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา ปราจีนบุรี จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา และนครศรีธรรมราช รวม 43 อำเภอ 124 ตำบล 568 หมู่บ้าน 3 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,629 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 4 จังหวัด ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือประชาชนต่อไป
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตก เฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 64 จนถึงปัจจุบัน (20 ก.ย. 64 เวลา 06.00 น.) ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิจิตร ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา ปราจีนบุรี จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา และนครศรีธรรมราช รวม 43 อำเภอ 124 ตำบล 568 หมู่บ้าน 3 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,629 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 4 จังหวัด ดังนี้
1. พิจิตร ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอสากเหล็ก อำเภอบึงนาราง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอวชิรบารมี อำเภอโพทะเล และอำเภอสามง่าม ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร และอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ
2. ชัยภูมิ น้ำในลำน้ำชีเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัส อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอเนินสง่า และอำเภอบ้านเขว้า รวม 8 ตำบล ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ
3. นครราชสีมา น้ำล้นอ่างเก็บน้ำจากฝนตกหนักเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านขุนทด อำเภอสูงเนิน อำเภอโนนสูง และอำเภอโชคชัย รวม 8 ตำบล ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ
4. พระนครศรีอยุธยา น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา และอำเภอบางบาล รวม 15 ตำบล ปัจจุบันมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผงที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ
ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ สำหรับประชาชนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง