เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่รายภาคภาคตะวันออก เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม ได้มอบหมายให้คณะทำงานติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินการของจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ในการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุต่อสถานการณ์อิทธิพลของพายุฤดูฝนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด รวมถึงติดตามความคืบหน้าการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุของทุกจังหวัด เพื่อเตรียมการล่วงหน้าในการป้องกันภัยน้ำท่วมที่อาจจะเกิดในห้วงฤดูฝน ติดตามความคืบหน้าการคัดสรรกรรมการลุ่มน้ำของลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ พล.ร.อ.พิเชฐ สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 กันยายน 2564 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง แม่น้ำสายหลักทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 49,573 ล้านลูกบาศก์เมตร (60%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 43,578 ล้านลูกบาศก์เมตร (61%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 7 แห่ง (อ่างฯ แม่มอก ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน หนองปลาไหล แก่งกระจาน และนฤบดินทรจินดา) ระดับน้ำในแม่น้ำมีแนวโน้มสูงขึ้น และเสี่ยงล้นตลิ่ง ได้แก่ แม่น้ำน่าน อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร แม่น้ำยม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย แม่น้ำเจ้าพระยา จ.สิงห์บุรี จ.ชัยนาท จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี ลำน้ำพอง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น แม่น้ำชี จ.ชัยภูมิ จ.ขอนแก่น แม่น้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์ แม่น้ำพระปรง อ.เมือง จ.สระแก้ว
ขณะที่ กอนช. ติดตามพายุดีเปรสชันเตี้ยนหมู่ ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ที่บริเวณ จ.ขอนแก่น ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าจากเเม่น้ำวัง เเม่น้ำปิง เเม่น้ำยม และเเม่น้ำน่าน ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทานจึงปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากอัตรา 1,951 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่นอกคั้นกันน้ำ บริเวณคลองบางบาล ชุมชนแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา คลองโผงเผง จ.อ่างทอง วัดไชโย จ.อ่างทอง และ อ.พรหมบุรี อ.เมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำจะสูงขึ้นจากปัจจุบัน ในช่วงเช้าของวันที่ 26 กันยายน 2564
ทั้งนี้ กอนช. ขอให้หน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ล่าสุดจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 16-24 กันยายน 2564 เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 26 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กําแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ราชบุรีนครศรีธรรมราช ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 12 จังหวัด