วันที่ 22 ต.ค. 2564 เวลา 20:01 น.
สุโขทัย-แห่งเดียวในพื้นที่ “ศาลแม่แก้ว” เทวสตรีโปรดปรานปลัดขิก ตามความเชื่อเก่าแก่กว่า 600 ปี
ที่ริมถนนสายหลักส้นทาง ศรีสัชนาลัย-อุตรดิตถ์ ต.ดงคู่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย มี “ศาลแม่แก้ว”และจะมีปลัดขิก ทั้งอันเล็กอันใหญ่ ทาสีแดง ตั้งวางไว้เรียงรายตรงหน้าศาลจำนวนมาก ผู้คนต่างก็พากันคิดสงสัยและอยากรู้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร
นายพรม ศรีธิ อายุ 85 ปี มัคนายกวัดดงคู่ หมู่ที่ 2 ต.ดงคู่ อ.ศรีสัชนาลัย เล่าให้ฟังว่า ศาลแม่แก้วแห่งบ้านดงคู่ นั้นมีมายาวนานแล้ว เดิมตั้งอยู่ในดอยตรงเขาตาดหน้ายักษ์ ก่อนจะย้ายมาอยู่ตรงริมถนน และชาวบ้านจะร่วมใจกันจัดพิธีเลี้ยงแม่แก้ว ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เป็นประจำทุกปี โดยมีเครื่องเซ่นไหว้เป็นหัวหมู ไก่ต้ม เหล้าขาว อาหารคาว-หวาน และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ปลัดขิก เวลาร่างทรงประทับเขาจะชอบแล้วก็วิ่งเข้าหาไปลูบไปคลำปลัดขิกด้วย
นายสมชาย เดือนเพ็ญ รองปลัดเทศบาลตำบลในเมือง และนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสุโขทัย กล่าวว่า ศาลแม่แก้วของหมู่บ้านดงคู่ เป็นศาลแห่งเดียวในสุโขทัยที่บูชาด้วย “ดอกไม้เจ้า” ซึ่งเป็นภาษาโบราณ แปลว่า อวัยวะเพศชาย (ปลัดขิก) แม่แก้วโปรดปรานมาก เพราะเป็นเทวสตรี เป็นศาสนาผีที่เป็นผู้หญิง ความเชื่อนี้มีมายาวนาน จากการตรวจเอกสารและสอบหาข้อมูล พบว่า ชาวบ้านดงคู่ส่วนหนึ่งเป็นคนล้านนา มาจาก อ.ลับแล จ.อุตรดิถต์
อีกส่วนเป็นชาวไทยจาก ต.ทุ่งยั้ง ที่อพยพมาอยู่ใน ต.ดงคู่ อ.ศรีสัชนาลัย และความเชื่อเรื่องศาลแม่แก้วก็มาจากชาว อ.ลับแล ซึ่งเป็นชาวล้านนาที่อพยพมาจากเมืองเชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 1948 สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 3 หรือพญาไสลือไทย และที่เชียงรายก็มีความเชื่อเรื่องแม่แก้วเช่นกันแสดงว่าความเชื่อนี้มีมายาวนานอย่างน้อย 600 ปี เพราะชาวลับแลอพยพมาจากเชียงราย เมื่อประมาณ 616 ปีที่แล้ว และบางส่วนก็มาอยู่ที่ ต.ดงคู่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย จึงนำความเชื่อนี้มาด้วยจนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน