ลอยกระทงกับนางนพมาศ
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
ทําไมแม้แต่ทางการยังว่าลอยกระทงมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย นางนพมาศด้วย
ชะนีแก้ว
ตอบ ชะนีแก้ว
คำตอบนำมาจากบทความเรื่อง “ลอยกระทง เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยจริงหรือ?” โดย พัชรเวช สุขทอง เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com ดังนี้
ลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ โดยจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นประเด็นที่มีข้อ ถกเถียงกันมายาวนานว่า ประเพณีนี้มีจุดเริ่มต้นในสมัยใดกันแน่
ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าลอยกระทงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่คำว่าลอยกระทงเริ่มเด่นชัดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยโปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีการสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และความจำเป็นด้านอื่นๆ จึงมีพระราชนิพนธ์หนังสือตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สมมตฉากในเรื่องเป็นสมัยสุโขทัย และเกิดการทำกระทงด้วยใบตอง เมื่อระยะเวลาผ่านไป การทำกระทงด้วยใบตองก็แพร่หลายไปที่ต่างๆ จนถึงปัจจุบัน
เมื่อพูดถึงลอยกระทง สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือนางนพมาศ และสมัยสุโขทัย ทั้งที่ในศิลาจารึกและเอกสารต่างๆ ไม่มีคำว่า “ลอยกระทง” แต่จะมีประเพณีที่มีลักษณะคล้ายกับการลอยกระทงโดยในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า “เผาเทียน เล่นไฟ” ซึ่งมีความหมายกว้างๆ ว่า ทำบุญไหว้พระ แม้แต่ในสมัยอยุธยา ทั้งเอกสารและวรรณคดี มีแต่ชื่อ ชักโคม ลอยโคม และ แขวนโคมดังตัวอย่างจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ดังนี้
“ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่คงคาด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืน…เราจะเห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ…ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาปสาทะของแต่ละคน…โดยนัยเดียวกันเพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณี ที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้นๆ ของปีใหม่ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง”
ด้วยเหตุนี้คำว่า “ลอยกระทง” จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นาน และชัดเจนในยุคต้นรัตนโกสินทร์ โดยจากหลักฐานพระราชพงศาวดารแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และเรื่องนางนพมาศพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3
สำหรับ “นางนพมาศ” มาจากวรรณคดีเรื่อง นางนพมาศ ที่เคยเชื่อกันว่าแต่งในสมัยสุโขทัย เนื่องมาจากกรมศิลปากรจัดให้หนังสือเรื่องนี้อยู่ในสมัยสุโขทัย แต่ในปัจจุบันมีหลักฐานหลายอย่างที่บ่งชี้ว่านางนพมาศเป็นวรรณกรรมช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แต่งขึ้นในช่วงระหว่างรัชกาลที่ 2 และ 3 หรือก่อนหลังไม่มาก หากนำสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับหนังสือที่เชื่อกันว่าแต่งขึ้นใน สมัยสุโขทัยอย่างไตรภูมิพระร่วง หรือหนังสือที่แต่งขึ้นในสมัย กรุงศรีอยุธยา ก็จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
ยังมีส่วนของเนื้อความดังที่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชี้ไว้ว่า “นางนพมาศมีข้อความอยู่หลายตอนที่แสดงว่าจะแต่งในสมัยสุโขทัยไม่ได้ เช่น การอ้างถึงอเมริกัน ปืนใหญ่ ฯลฯ นอกจากนี้สำนวนโวหารก็เห็นได้ชัดเจนว่าเขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ซ้ำยังเชื่อกันอีกด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์แทรกอยู่ประมานครึ่งเรื่อง”
ปัจจุบันเป็นที่แน่นอนและชัดเจนแล้วว่าวรรณคคีเรื่องนางนพมาศเป็นวรรณกรรมแห่งยุคต้นรัตนโกสินทร์ มิใช่วรรณกรรมสุโขทัยแต่อย่างใด