เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
การค้าไทยกับคู่เจรจา FTA ช่วง 9 เดือนปี 64 มีมูลค่า 253,212.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 25.24% เป็นการส่งออก 123,693.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 18.16% เผยส่งไปคู่เจรจาขยายตัวทุกตลาด สินค้าเกษตร ส่งไปขายคู่ FTA มีสัดส่วนถึง 75.30% เกษตรแปรรูปสัดส่วน 62.58% และสินค้าอุตสาหกรรม 58.72% เตรียมลุยเปิดเจรจา FTA ใหม่และอัพเกรด FTA เดิมต่อ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) มูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยกับประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู มีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าสูงถึง 253,212.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.24% โดยเป็นการส่งออก มูลค่า 123,693.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.16% และนำเข้ามูลค่า 129,518.35 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 32.84%
ทั้งนี้ การส่งออกในทุกตลาดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยชิลี เพิ่ม 67% นิวซีแลนด์ เพิ่ม 61% อินเดีย เพิ่ม 58% เกาหลีใต้ เพิ่ม 41% เปรู เพิ่ม 40% จีน เพิ่ม 27% ญี่ปุ่น เพิ่ม 14% ออสเตรเลีย เพิ่ม 10% และฮ่องกง เพิ่ม 1% ส่วนอาเซียน เพิ่ม 13% ประเทศที่ส่งออกได้เพิ่ม เช่น ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 39% มาเลเซีย เพิ่ม 37% สปป.ลาว เพิ่ม 20% เวียดนาม เพิ่ม 15% กัมพูชา เพิ่ม 14% เมียนมา เพิ่ม 10% และอินโดนีเซีย เพิ่ม 6%
สำหรับการส่งออกรายกลุ่มสินค้า พบว่า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม โดยสินค้าเกษตรพื้นฐาน ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกสูง และยังครองแชมป์เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ในอาเซียน มีมูลค่า 14,849.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 33% มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาด FTA ถึง 75.30% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง เครื่องเทศและสมุนไพร และผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง
ส่วนกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป ไทยส่งออกมูลค่า 8,877.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4% มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาด FTA ถึง 62.58% ของการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปทั้งหมดของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร และไอศกรีม
ด้านสินค้าอุตสาหกรรม ไทยส่งออกมูลค่า 80,403.05 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 16% มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาด FTA ถึง 58.72% ของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
นางอรมนกล่าวว่า กรมฯ จะเร่งดำเนินการตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันการเจรจา FTA ฉบับใหม่ และการเจรจายกระดับและทบทวนความตกลง FTA ที่มีอยู่เดิม เพื่อเพิ่มโอกาสส่งออกให้สินค้าและการลงทุนของไทย โดยล่าสุดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็น FTA ฉบับล่าสุดของไทยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2565 จะช่วยให้การค้าและการส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกมาก