ด้วย BCG โมเดล ที่ประกอบด้วย 3 เศรษฐกิจหลัก คือ B Bio Economy ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับ C Circular Economy ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้ G Green Economy ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ จึงทำให้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มุ่งเน้นสร้างชุมชนต้นแบบ โดยมอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. พัฒนาศักยภาพ เพิ่มอีก 50 ชุมชนท่องเที่ยวยั่งยืนมาตรฐานโลก เตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ จากเดิมมีอยู่ 12 ชุมชนในพื้นที่พิเศษ
สร้างประสบการณ์การเรียนรู้
โดย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวหันมาให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องสุขอนามัยแต่เพียงอย่างเดียว แต่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนในทุกมิติมากขึ้น ซึ่งมิใช่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พฤติกรรมนักท่องเที่ยว ที่เริ่มสนใจแหล่งท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น เนื่องจากผู้คนไม่พลุกพล่าน ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรม หรือที่เรียกว่า การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้นชุมชนที่มีศักยภาพสามารถรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพได้จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานระดับสากล เพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพทั้งไทยและต่างประเทศที่กว้างขวางมากขึ้น
ซึ่งในปี 2565 ได้มอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. พัฒนาศักยภาพชุมชนอีก 50 ชุมชน โดยก่อนหน้านี้ อพท. ดำเนินการพัฒนาศักยภาพให้กับชุมชนในพื้นที่พิเศษทั้ง 6 แห่ง ได้มาตรฐานระดับโลกไปแล้วจำนวน 12 ชุมชน โดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน (CBT Thailand) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกว่าสอดคล้องกับเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria หรือ GSTC)
ทั้งนี้ 12 ชุมชนที่ อพท. พัฒนาแล้วเสร็จดังกล่าวนี้ สามารถนำไปต่อยอดทางการตลาดนำเสนอขายต่อนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายที่เป็นตลาดระดับคุณภาพได้ทันที ได้แก่ ชุมชนตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด ชุมชนหนองอ้อ จ.สุโขทัย ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย ชุมชนบ้านคุกพัฒนา จ.สุโขทัย ชุมชนนครชุม จ.กำแพงเพชร ชุมชนกกสะทอน จ.เลย ชุมชนภูป่าเปาะ จ.เลย ชุมชนภูหลวง จ.เลย ชุมชนในเวียง จ.น่าน ชุมชนบ่อสวก จ.น่าน และชุมชนเมืองโบราณทวราวดี-อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
พัฒนาและยกระดับตามมาตรฐาน
โดยนาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ทั้ง 12 ชุมชน ดังกล่าว นับเป็นต้นแบบของชุมชนที่ได้รับการพัฒนาและยกระดับตามมาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก มีความพร้อมที่จะนำออกสู่ตลาดการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากลมาแล้วหลายรางวัล เช่น ตำบลในเวียง จ.น่าน ตำบลเชียงคาน จ.เลย ได้รับการประกาศให้เป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก (Global Sustainable Destinations Top 100) ในปี 2563 ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย ได้รับการประกาศเป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลกในปี 2564 โดยก่อนหน้านี้ จ.สุโขทัยยังได้รับการประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี 2562 อีกด้วย
สำหรับแผนยกระดับชุมชนต้นแบบปี 2565 อพท. จะคัดเลือก 50 ชุมชนที่มีศักยภาพตามมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนในระดับสากล มาพัฒนาต่อยอดให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาตามนโยบาย BCG Model มากขึ้น เช่น กิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ปลดปล่อยคาร์บอนอย่างสมดุล (Carbon Neutral CBT) และการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสุขภาพ (Wellness CBT) เป็นต้น โดยจะเป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่พิเศษและในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติมอบหมาย
ล่าสุด อพท. อยู่ระหว่างนำเสนอชุมชนบ่อสวก จังหวัดน่าน หนึ่งในชุมชนต้นแบบที่ อพท. พัฒนาจากเกณฑ์ CBT Thailand เข้าประกวดรางวัล UNWTO Best Tourism Village เพื่อต้องการประกาศความสำเร็จจากการพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย ที่ได้มาตรฐานระดับสากลอย่างแท้จริง โดยที่ผ่านมา อพท. ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งทุกชุมชนที่ได้รับการพัฒนาแล้วนั้น อพท. พร้อมที่จะส่งมอบให้ ททท. และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปส่งเสริมการตลาดต่อไป