วันจันทร์ ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564, 16.03 น.
ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบระดับจังหวัด พัฒนานวัตกรรมทางสังคม หนุนเสริมการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบ มุ่งเป้าลดนักสูบหน้าใหม่ พร้อมนำผู้สูบเข้าสู่ระบบการเลิกบุหรี่
โครงการสนับสนุนการสื่อสารงานของภาคีควบคุมยาสูบ (ทีมชวน ช่วย เลิกบุหรี่) ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “นวัตกรรมชวน ช่วย เลิก : การพัฒนานวัตกรรมเพื่อหนุนเสริมการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด” ซึ่งเวทีนี้ได้มีตัวแทนจากจังหวัดต่าง ๆ ร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนการพัฒนาชุดนวัตกรรมเพื่อนำมาสู่การลด ละ เลิกบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการขยายผลเพื่อขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบในระดับจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
นายธีระยุทธ์ มุจรินทร์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ ได้กล่าวถึงนวัตกรรม “อำนาจเจริญ 4 ส. : คู่มือบำบัดและติดตามการเลิกบุหรี่แบบง่าย” ว่า ที่มาของการเริ่มนวัตกรรมนี้มาจากในช่วงปี 2556-2559 ยังไม่มีการดำเนินงานควบคุมยาสูบอย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีรูปแบบการบำบัดอย่างชัดเจน รวมถึงไม่มีระบบการลงทะเบียนทำให้ไม่สามารถติดตามผู้สูบบุหรี่ได้ จึงศึกษา รวบรวม และเรียบเรียงข้อมูลกว่า 2 ปี จนนำมาสู่การเริ่มต้นบันทึกข้อมูลผู้ติดบุหรี่ในระดับจังหวัด ซึ่งในคู่มือฉบับนี้จะมีการบันทึกข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งการประเมินผู้สูบบุหรี่ การให้คำปรึกษาของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการติดตามพฤติกรรมของผู้สูบ ซึ่งจากการคัดเลือกอาสาสมัครที่สมัครใจเข้าร่วมลงบันทึกข้อมูลในคู่มือฉบับนี้ กว่า 140 คน จากโรงพยาบาลแห่งละ 20 คน พบว่า สามารถนำมาสู่การเลิกบุหรี่ได้ครบ 140 คน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าผู้ที่เข้าร่วมมีความตั้งใจเลิกบุหรี่อยู่แล้ว ทำให้สามารถเลิกได้จริง
ในคู่มือนั้นจะมีข้อแนะนำ เพื่อชักชวนให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ได้ใน 6 ขั้นตอน ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบประวัติและข้อมูลส่วนตัวของผู้สูบบุหรี่ ประเมินพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ป่วย ที่สามารถบอกจำนวนในการสูบ ประเภทของยาสูบ และเวลาที่ใช้สูบ เพื่อประเมินระดับของการติดบุหรี่ ซึ่งจะนำไปสู่การการให้คำแนะนำแก่ผู้สูบบุหรี่แบบง่าย ๆ โดยยึดหลัก 4 ส. คือ 1. เสี่ยงต่อโรคที่ตามมา เช่น มะเร็งปอด โรคเส้นเลือดในสมอง 2. เสียเงินแบบสูญเปล่า 3. เสี่ยงต่อบุหรี่มือสอง และ 4. สังคมไม่ยอมรับ จากนั้นประเมินความเปลี่ยนแปลง (Stage of change) ว่า ผู้เข้ารับคำปรึกษาพร้อมจะเลิกบุหรี่หรือไม่ เลิกเพื่ออะไร หรือเพื่อใคร หรืออาจจะเกิดความลังเลใจไม่แน่ใจ พร้อมรับฟังว่าคนนั้นลังเลเรื่องอะไร และให้กำลังใจในการเลิก พร้อมนำมาสู่กระบวนการ 4 ส. ใหม่ได้ หรือคนที่ปฏิเสธนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่มีเครื่องย้ำเตือนไว้ว่า ตอนนี้อาจจะยังไม่พร้อม แต่เมื่อพร้อมแล้วก็ขอให้เข้ารับคำปรึกษาได้ และยังมีกระบวนการเลิกบุหรี่ได้อยู่
พร้อมระบุว่า สิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการเลิกบุหรี่ คือ การติดตาม เพราะช่วงเวลาที่สำคัญอยู่ที่ประมาณ 3-14 วันแรก หลังจากที่เลิกบุหรี่ หากติดตามแค่วันแรกวันเดียว แล้วหยุดไป 1 เดือน อาจจะทำให้กลับไปสูบบุหรี่ใหม่ได้ ดังนั้น การติดตามในระยะ 3-14 วัน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งอาจจะให้มีการติดตามโดย อสม. หรือระบบติดตามทางโทรศัพท์ก็ได้ ซึ่งนวัตกรรมนี้สิ่งที่เป็นความแปลกใหม่ คือ สามารถสร้างเป็นแนวทางการดำเนินงานทั้งจังหวัดได้ หรือผู้เข้ามารับผิดชอบงานใหม่ เพียงอ่านคู่มือก็ใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องอบรม สามารถให้บริการบำบัดได้ และเป็นทะเบียนในการติดตามนัดหมายผู้ป่วย และสรุปผลการบำบัดได้เป็นอย่างดี ผลการใช้คู่มือนี้พบว่า ผู้ให้บริการมีความมั่นใจมากกว่าเดิม ทำงานได้ง่ายขึ้น และจากเดิมที่ผู้เลิกสูบบุหรี่ในระยะ 6 เดือนมีน้อยมาก ก็เพิ่มสูงขึ้น มีประชาชนสนใจเข้าสู่ระบบการบำบัดเพื่อเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ สถิติจากปี 2561 พบว่า จากเดิมที่มีผู้เข้ารับการคัดกรองที่ 36,751 คน หรือร้อยละ 15.52 ได้รับการบำบัด 4,045 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 65.44 เมื่อเข้าสู่ปี 2562-2564 พบว่ามีผู้เข้ารับการคัดกรองมากขึ้น อยู่ที่ประมาณ 199,000 คน ถึง 218,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 86-93 มีผู้เข้ารับการบำบัดมากขึ้น อยู่ที่ประมาณ 15,000-20,000 คนต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 78-84 ซึ่งต้องขอบคุณ สสส. ที่ช่วยสนับสนุนงบประมาณ องค์ความรู้ หรือการอบรมตรงจุดนี้ให้ เพราะลำพังแค่งบประมาณจังหวัดอาจจะไม่เพียงพอในการดำเนินงาน แต่สิ่งที่ยังคงต้องพัฒนามากขึ้น คือการติดตามในระยะ 1 เดือนไปสู่ 3 เดือน หรือ 3 เดือนไปสู่ 6 เดือน ที่มีผู้เลิกบุหรี่ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง ทำให้ต้องมาทบทวนว่า จะมีขั้นตอนอะไรมากขึ้นอีกหรือไม่
ขณะที่ นางจริยาพันธ์ รุจิรัชกุล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม กล่าวถึงนวัตกรรม “ความร่วมมือในภาวะวิกฤต : ทีมควบคุมยาสูบ vs ทีม MCATT” ว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการบูรณาการ การทำงานระหว่างผู้รับผิดชอบงานยาสูบ กับทีมดูแลสภาพจิตใจในภาวะวิกฤต (MCATT) ทั้งการดำเนินงาน บุคลากร และงบประมาณ เพื่อให้เกิดการควบคุมยาสูบ ซึ่งปัญหาของการบำบัดผู้สูบบุหรี่ในช่วงโควิด-19 ระบาด มีทั้งการปิดชั่วคราวของคลินิกเลิกบุหรี่ คลินิกรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึงมีผู้ติดเชื้อโควิดที่อยู่ในศูนย์พักคอย หรือโรงพยาบาลสนามเป็นผู้สูบบุหรี่ด้วย ซึ่งผู้ป่วยบางส่วนมีอาการอยากสูบบุหรี่ แต่สถานที่เหล่านี้ไม่สามารถสูบได้ตามกฎหมาย ทำให้บางคนเกิดความเครียด จึงได้มอบภารกิจให้กับทีม MCATT ในการลงพื้นที่ติดตามเข้าไปบำบัดสภาพจิตใจและดูแลการให้ลดสูบบุหรี่ไปพร้อม ๆ กัน สำหรับผู้สูบบุหรี่ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วกลับไปที่บ้าน หรือมีการรักษาตัวที่บ้าน จะมีกระบวนการทำงานตาม Service Plan โดยมีโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลชุมชนเป็นผู้ดูแลข้อมูล
ผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากข้อมูลของโรงพยาบาลนครชัยศรี ที่เข้าร่วมโครงการนำทีม MCATT เข้ามาช่วยเหลือดูแลผู้สูบบุหรี่ประมาณเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จนถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่า ผู้สูบบุหรี่ที่ป่วยด้วยโรค NCDs เข้ารับการบำบัดด้วยกระบวนการนี้จำนวน 253 คน สามารถลดการสูบบุหรี่ลงได้ 243 คน และเลิกบุหรี่ได้ 10 คน
ขณะเดียวกันได้พัฒนาเครื่องมือในการทำงาน โดยใช้คิวอาร์โค้ดในการสื่อสารกับคนไข้ในศูนย์พักคอย คนไข้ที่กักตัวที่บ้าน ที่ต้องการอยากเลิกบุหรี่แต่ไม่สามารถมาคลินิกเลิกบุหรี่ได้ โดยมีข้อแนะนำให้อย่างง่าย ๆ เริ่มตั้งแต่การประเมินว่าติดบุหรี่มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ทีมงานยาสูบและสุขภาพจิตลงพื้นที่ติดตามข้อมูล หรือโทรศัพท์สอบถามผู้ป่วยได้อีกด้วย เชื่อว่า หากมีการพัฒนาส่วนนี้แล้ว จะทำให้การเก็บข้อมูลและติดตามการบำบัดคนไข้ได้ง่ายขึ้น
นายสุรชัย เศวตกุญชร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด ได้นำเสนอนวัตกรรม “เครือข่ายทางสังคม : ภาคประชาสังคม” ว่า การทำงานของจังหวัดร้อยเอ็ดมีจุดเด่นตรงที่ทำงานกับภาคประชาสังคมอย่างจริงจัง และสามารถปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมได้ โดยจุดเริ่มต้นในการนำภาคประชาสังคมมาร่วมทำงานนั้น เริ่มต้นเมื่อปี 2554 ที่จังหวัดร้อยเอ็ดเข้าสู่โครงการจังหวัดปลอดบุหรี่ โดยได้นำทีม อสม. และภาคีเครือข่ายเข้ามาช่วยเหลือในการขับเคลื่อนงาน แต่ยังไม่มีคณะกรรมการเป็นรูปเป็นร่าง ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด (คผยจ.) ขึ้นมา และให้มีผู้คุณทรงวุฒิที่มาจากภาคประชาสังคม จำนวน 6 คน ทำให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
พร้อมมองว่า เรื่องการควบคุมยาสูบนั้น เป็นเรื่องของ “จริต” แต่ละคน หากหาประเด็นนี้ไม่เจอ การชวน ช่วย ให้เลิกนั้นจะลำบาก เพราะการทำงานของภาคราชการจะเป็นไปตามเวลาการทำงานเท่านั้น แต่ภาคประชาสังคมนั้นส่วนใหญ่เป็นการทำงานแบบจิตอาสาเพื่อสังคม ไม่มีวันหยุด ทำให้มองเห็น “จริต” ที่ลึกไปถึงค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต สามารถให้ความช่วยเหลือในการขอความร่วมมือผู้สูบบุหรี่ไม่ให้สูบในสถานที่ห้ามได้ หรือมีบุคคลที่สามารถเป็นแบบอย่างได้ จึงได้หยิบจุดแข็งของภาคประชาสังคมนี้ มาช่วยทั้งเรื่องของป้องกันไม่ให้สูบบุหรี่ หรือช่วยให้เลิกบุหรี่ แม้แต่ในเรื่องของการบำบัดนั้น หากเพียงแค่ให้ยา หรือเข้ารักษาตามกระบวนการก็ไม่อาจจะเข้าถึง “จริต” ของแต่ละคนได้จริง จึงให้ภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยเหลือ เช่น การนำคำสอนของพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ หรือให้ภาคีเครือข่ายในชุมชน ลงพื้นที่พูดคุยโน้มน้าวบุคคลที่มีอิทธิพลทางจิตใจของแต่ละครอบครัวให้มาช่วยเลิกบุหรี่ได้ เช่น พูดคุยกับภรรยาหรือลูก ให้สามีหรือพ่อเลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน คผยจ. มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการควบคุมยาสูบให้กับหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมกับอาศัยภาคีเครือข่ายในการสร้างกระแสรณรงค์ของพื้นที่ เช่น สภาเยาวชนของจังหวัด ที่สามารถสร้างกระแสด้วยการจัดนิทรรศการมีชีวิต ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมได้มากขึ้น เช่น พระสงฆ์ หรือองค์กรต่าง ๆ จนเกิดการทำงานเป็นเครือข่ายที่เป็นรูปธรรมได้จริง
ส่วนนายนภชณัฐ จันทร์นิ่ม นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย กล่าวถึงนวัตกรรม “เครือข่ายทางสังคม : ภาคบังคับใช้กฎหมาย” ว่า จังหวัดสุโขทัย มีจุดเด่นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยจุดเริ่มต้นมาจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พุทธศักราช 2560 เพื่อรองรับภายหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในตลาดสดและสถานีขนส่งผู้โดยสาร โดย คผยจ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการควบคุมบังคับใช้กฎหมาย ที่ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 หน่วยงาน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานขนส่งจังหวัด สำนักงานสรรพสามิตจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี โดยเริ่มต้นบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแห่งแรกคือ ตลาดสดเทศบาลสุโขทัยธานี
การดำเนินงานได้แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกคือการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างพ่อค้า แม่ค้า และผู้มาใช้บริการในตลาด เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดการรับรู้ว่าสถานที่แห่งนี้จะปลอดจากบุหรี่ หากมีการสูบจะผิดกฎหมายและจับปรับจริง จากนั้นเข้าสู่ระยะการเริ่มบังคับใช้กฎหมายแบบเข้มงวด ที่มีการตรวจสอบว่ามีใครสูบบุหรี่ในสถานที่แห่งนี้หรือไม่ หากมีก็จะนำเจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปดำเนินคดีเพื่อปรับทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น ในระยะถัดมาคือขยายความร่วมมือไปยังกลุ่มประชาชน ที่อาศัยในตึกแถวโดยรอบตลาดสด ซึ่งได้รับความร่วมมือดีมาก มีผู้เข้าร่วมเครือข่ายกว่า 120 คน ทำให้ต้องตั้งกรุ๊ปไลน์ขึ้นมาเพื่อแจ้งเหตุว่า มีใครสูบบุหรี่ในสถานที่แห่งใด เจ้าหน้าที่ก็จะลงไปในพื้นที่ภายใน 5 นาที เพื่อจับและปรับต่อไป โดยเจ้าหน้าที่จะทำการปรับในอัตราที่ต่ำสุด เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากนัก โดยมุ่งเน้นให้เกิดกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ว่า สถานที่แห่งนี้มีการจับจริง ปรับจริง จากนั้นคณะอนุกรรมการจาก 6 หน่วยงาน ได้ขยายพื้นที่จากตลาดสดเทศบาลสุโขทัยธานี ไปสู่ตลาดสดหลักในทุกอำเภอ โดยสำนักงานตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัย ได้ทำหนังสือเวียนไปสำนักงานตำรวจภูธรทุกอำเภอ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
จุดเน้นในการควบคุมยาสูบของจังหวัดสุโขทัย แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1. สร้างการรับรู้ ที่ประชาสัมพันธ์ผู้เข้าใช้บริการตลาดสดรับทราบว่า ตลาดเป็นพื้นที่สาธารณะต้องปลอดจากบุหรี่ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ก็ให้ความรู้ว่ายิ่งสูบก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคโควิดด้วย นอกจากนี้ยังให้ความรู้สร้างความตระหนัก ให้พ่อค้าที่เคยสูบบุหรี่ ลดการสูบบุหรี่ลง พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สูบบุหรี่ให้เข้ารับบริการเลิกสูบบุหรี่ 2. ทำให้เกิดการยอมรับ ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จากการทำงานจริง เพราะมีการจับปรับ
-(016)