ปัจจุบันนี้ ในประเทศไทยมีมรดกโลกทั้งหมด 6 แห่ง โดยแบ่งเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง และมรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ.2534
“ศรีสัชนาลัย” ในฐานะเมืองบริวารของสุโขทัย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในครั้งนั้นด้วย
สำหรับ “ศรีสัชนาลัย” เป็นเมืองที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือ ราวพุทธศตวรรษที่ 9 มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง และพัฒนามาเป็นชุมชนร่วมสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 และในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ก็ยังปรากฏหลักฐานที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ซึ่งในระยะนั้นเมืองศรีสัชนาลัยมื่อว่า เมืองเชลียง ตามหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึก ตำนานและพงศาวดารที่ยืนยันว่ามีเมืองโบราณ 2 เมือง อยู่ในลุ่มน้ำยมก่อนแล้ว คือ เมืองสุโขทัย และเมืองเชลียง ต่อมาได้มีการย้ายศูนย์กลางของเมืองมาทางด้านทิศเหนือของเมืองเชลียงห่างออกไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีการเรียกชื่อเมืองว่า “ศรีสัชนาลัย” เมืองศรีสัชนาลัยมีความสำคัญควบคู่กันมากับเมืองสุโขทัย โดยมีสถานะเป็นเมืองลูกหลวง ความสำคัญของเมืองศรีสัชนาลัยดํารงสืบมา ก่อนจะค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลง จนกระทั่งถูกทิ้งร้างไปในช่วงหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
ในฐานะเมืองเก่าแก่ที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน ก็ยังคงหลงเหลือหลักฐานความเจริญรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีตอยู่ในบริเวณ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย” ซึ่งมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยทั้งหมด 28,217 ไร่ และสํารวจพบโบราณสถานทั้งหมด 281 แห่ง มีทั้งโบราณสถานในเขตกำแพงเมือง และนอกกำแพงเมือง
และนี่คือ 5 ไฮไลต์เด่นๆ ที่ไม่ควรพลาดชมภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
วัดพระศรีรัตมหาธาตุเชลียง (วัดพระบรมธาตุเมืองเชลียง หรือ วัดพระปรางค์)
โบราณสถานที่อยู่นอกกำแพงเมือง เชื่อว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นศูนย์กลางของเมืองเชลียง ตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีนาวนําถม (ประมาณพุทธศักราช 1780) มาแล้ว โดยมีหลักฐานยอดซุ้มประตูทางเข้าวัดซึ่งมีลักษณะรูปแบบศิลปะสมัยบายนและหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ยืนยันได้ว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีอายุมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18
สำหรับโบราณสถานสำคัญภายในวัด ได้แก่ “ปรางค์ประธาน” ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ด้านหน้าองค์ปรางค์มีวิหารภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ด้านข้างมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาที่มีลักษณะงดงาม
“พระธาตุมุเตา” อยู่ด้านหลังปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงฐานรูปแปดเหลี่ยม ซ้อนกันสี่ชั้น ต่อจากนั้นเป็นชั้นบัวสามชั้น ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปหักพังหมด “มณฑปพระอัฏฐารส” สันนิษฐานว่าเป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนทางทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกเหลือส่วนพระชงฆ์ของพระพุทธรูป ด้านหลัง (ทิศใต้) และทางด้านขวาหักพังเสียหายมาก “พระวิหารสองพี่น้อง” ก่อด้วยศิลาแลงฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยสององค์ ด้านหลังมีขนาดใหญ่กว่าด้านหน้า
“พระอุโบสถ” อยู่ทางด้านหน้าพระปรางค์ประธานนอกกำแพงแก้ว ได้รับการบูรณะซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2500 ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก องค์พระประธานคือ หลวงพ่อพุทธเรืองฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4.08 เมตร
วัดนางพญา
วัดนางพญาสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น หรือราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ความโดดเด่นของวัดนี้อยู่ที่ลวดลายปูนปั้นบนผนังวิหารมีความงดงามมาก โดย “วิหารประธาน” วัดนางพญาเป็นอาคารทึบขนาด 7 ห้อง ก่อด้วยศิลาแลง หลังคาเป็นเครื่องไม้ มุงกระเบื้องดินเผา ผนังทึบเจาะช่องแสงเป็นลูกกรงสี่เหลี่ยม ผิวปูนฉาบด้านนอกของวิหารประดับลายปูนปั้น เช่น ลายรักร้อยแข้งสิงห์ ลายประจํายาม และยังมีลวดลายปูนปั้นทำเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง ทว่าถูกทำลายไปบางส่วน นอกจากนั้นยังมีลวดลายพรรณพฤกษาและรูปเทพพนมที่เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น มีความงดงามอันวิจิตรที่แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากศิลปะล้านนาและศิลปะจีน
ลายปูนปั้นที่วัดนางพญาเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างฝีมือท้องถิ่น นําไปพัฒนาต่อยอดเป็น ลวดลายเครื่องประดับเงินและทองที่รู้จักกันในนาม “ทองโบราณศรีสัชนาลัย” อันเป็นงานฝีมือที่มีชื่อเสียงอย่างมากของสุโขทัย
ส่วน “เจดีย์ประธาน” เป็นเจดีย์ทรงระฆังอยู่บนฐานทักษิณที่แต่เดิมมีช้างปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบเช่นเดียวกับวัดช้างล้อม บริเวณองค์ระฆังมีการทําซุ้มจระนํายื่นออกมาทั้งสี่ทิศ รูปทรงของเจดีย์คล้ายคลึงกับเจดีย์ประธานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษ ที่ 21 ด้วยเช่นกัน
วัดหลักเมือง
เป็นวัดภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย อยู่ใกล้กับพระราชวัง ด้านหน้าเป็นวิหารโถงขนาด 5 ห้อง ย่อมุขด้านหน้า มีมณฑปท้ายวิหารขนาดเล็ก มีเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงปราสาทย่อมุมไม้ยี่สิบ ที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากกัมพูชาโบราณ ฐานชั้นล่างสูดประดับบัวลูกฟัก ส่วนเรือนธาตุประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ แต่ยังมีหน้าบันและกลีบขนุนตามแบบศิลปะกัมพูชาโบราณ ลวดลายปูนปั้นบนกลีบขนุน มีลักษณะคล้ายคลีงกันกับกลีบขนุนของเจดีย์ประธานวัดศรีสวาย (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย) ที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยเช่นเดียวกัน
วัดแห่งนี้มีปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ.2450 ว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ใช่เป็นวัดในพระพุทธศาสนาเป็นแน่ และมิใช่โบสถ์พราหมณ์ แต่จะเกี่ยวกับศาลผีหรือเทวดาอันใดอันหนึ่ง จึงได้เล่าต่อไปว่าบางทีจะเป็นหลักเมือง” ซึ่งในภายหลังได้มีการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานแห่งนี้ พบหลักฐานว่าน่าจะเป็นวัดในพุทธศาสนาเช่นเดียวกับโบราณสถานอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
วัดเจดีย์เจ็ดแถว
ความโดดเด่นของวัดนี้อยู่ที่เจดีย์แบบต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะของ ลังกา และ พุกาม มาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งลักษณะของเจดีย์ในวัดจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ เจดีย์ทรงดอกบัวตูม เจดีย์ทรงปราสาท และ เจดีย์ทรงระฆัง
“เจดีย์ทรงดอกบัวตูม” เป็นเจดีย์ประธานของวัด สะท้อนให้เห็นถึงศิลปะแบบสุโขทัยแท้ด้วยรูปทรงเพรียวสูง ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมที่ค่อยๆ สอบขึ้นเป็นทรงแปดเหลี่ยม บนยอดเจดีย์เป็นรูปดอกบัวตูมประดับด้วยปูนปั้นลายกลีบบัว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 19
ต่อมาคือ เจดีย์ทรงปราสาท เป็นรูปทรงแท่งสี่เหลี่ยมที่มีเรือนหลังคาลดหลั่นขึ้นไป ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านนาและขอม สุดท้ายคือ เจดีย์ทรงระฆัง คือมีลักษณะแบบระฆังคว่ำ ส่วนยอดเป็นก้านฉัตร และปล้องไฉนทรงกรวย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะแบบอินเดีย
ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่น คือ ฐานเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ยอดเป็นทรงกลม ภายในเจดีย์มีซุ้มโถง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้น มีภาพจิตรกรรมเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้า เหล่าเทวดา และกษัตริย์ ส่วนซุ้มจระนำด้านหลังของเรือนธาตุทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก
วัดช้างล้อม
วัดขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองศรีสัชนาลัย นักวิชาการสันนิษฐานว่า วัดช้างล้อมนี้น่าจะเป็นวัดเดียวกันกับที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่กล่าวไว้ว่าในปี พ.ศ. 1829 พ่อขุนรามคำแหงทรงให้ขุดเอาพระธาตุขึ้นมาทำบูชา และฝังลงในกลางเมืองศรีสัชนาลัยก่อนก่อพระเจดีย์ทับลงไป
มีโบราณสถานที่สำคัญคือ “เจดีย์ประธานทรงลังกา” ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่ฐานเจดีย์มีช้างปูนปั้นยืนหันหลังชนผนังเจดีย์อยู่โดยรอบ จำนวน 39 เชือก และช้างที่อยู่ตามมุมเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ ตกแต่งเป็นช้างทรงเครื่อง มีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอ ต้นขา และข้อเท้า โดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน และช้างทั้ง 39 เชือกนั้น มีความหมายซ่อนอยู่ นั่นคือ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นเครื่องหมายการตรัสรู้
ปัจจุบัน ช้างปูนปั้นได้ผุผังไปตามกาลเวลา เหลือเห็นเป็นเพียงรูปหัวช้างอยู่ไม่กี่เชือกเท่านั้น แต่ก็ยังหลงเหลือความงดงามของประติมากรรมสมัยสุโขทัยให้เราได้เห็นกันอยู่ ซึ่งตัวช้างจะมีลักษณะที่เด่นกว่าช้างปูนปั้นที่วัดอื่นๆ คือ เป็นช้างยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดสูงใหญ่กว่าช้างจริง และด้านหน้ามีพุ่มดอกบัวปูนปั้นประดับไว้
นอกจาก 5 ไฮไลต์ที่กล่าวไปแล้ว ภายใน “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย” ยังมีอีกหลายจุดที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น วัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ วัดเขาพนมเพลิง เตาทุเรียงบ้านป่ายาง วัดชมชื่น หลุมขุดค้นทางโบราณคดีวัดชมชื่น เป็นต้น
ซึ่งภายในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย สามารถเดินเท้าไปชมโบราณสถานต่างๆ ได้โดยรอบ แล้วก็ยังมีบริการให้เช่าจักรยานขี่ชมเมือง หรือจะเลือกนั่งรถรางนำชมก็สะดวกดีไม่น้อย
* * * * * * * * * * * * * *
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0-5595-0714 Facebook : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline