วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตรงกับวันที่ 17 มกราคมของทุกปี เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนรามคำแหงที่มีต่อชาวไทย และวันที่ค้นพบหลักศิลาจารึกที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย
รู้หรือไม่ ทุกวันที่ 17 มกราคมของทุกปีเป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งเป็นวันที่ค้นพบหลักศิลาจารึกที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย โดยศิลาจารึกนี้ถูกค้นพบโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะผนวชอยู่เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2376 ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ศิลาจารึกนี้เป็นบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย มีลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม สูง 111 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินทรายแป้งเนื้อละเอียด มีจารึกทั้งสี่ด้านโดยมีเนื้อหาแบ่งได้ 3 ตอนดังนี้
ตอนที่ 1 เป็นการเล่าพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ใช้คำว่า “กู” เป็นหลัก
ตอนที่ 2 ไม่ใช้คำว่า “กู” แต่ใช้ว่า “พ่อขุนรามคำแหง” เล่าถึงเหตุการณ์และธรรมเนียมในกรุงสุโขทัย
ตอนที่ 3 เป็นการสรรเสริญและยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตราชอาณาจักรสุโขทัย
ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนี้ ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี พ.ศ. 2546 โดยยูเนสโก บรรยายว่า “จารึกนี้นับเป็นมรดกเอกสารชิ้นหลักซึ่งมีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันทรงค่าว่าด้วยแก่นหลักหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ไม่เพียงแต่บันทึกการประดิษฐ์อักษรไทยซึ่งเป็นรากฐานแห่งอักษรที่ผู้คนหกสิบล้านคนใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน การพรรณนาสุโขทัยรัฐไทยสมัยศตวรรษที่ 13 ไว้โดยละเอียดและหาได้ยากนั้นยังสะท้อนถึงคุณค่าสากลที่รัฐทั้งหลายในโลกทุกวันนี้ร่วมยึดถือ”
พ่อขุนรามคำแหง คือใคร
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุ 19 พรรษา ได้เสด็จเข้าร่วมกองทัพกับพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ผู้เป็นบิดาไปป้องกันเมืองตาก และได้สู้รบกับขุนสามชนจนได้รับชัยชนะ ทำให้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชทานนามให้ว่า “รามคำแหง” ที่มีความหมายว่า รวมผู้กล้าหาญเข้มแข็งในการรบ ก่อนที่จะได้ขึ้นเสวยราชย์ราวปี 1822
โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟูและเจริญขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ระบบการปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” ก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ประชาชนอยู่ดีกินดี สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้งทางการเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม และการศาสนา อาณาเขตของกรุงสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล
ขณะที่ในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจอย่างจีน โดยนอกจากการเพิ่มพูนสัมพันธไมตรีตามปกติ ยังโปรดให้นำช่างจากชาวจีนมาเพื่อก่อตั้งโรงงานตั้งเตาทำถ้วยชามทั้งเพื่อใช้ในประเทศและสามารถส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงได้ด้วย ถ้วยชามที่ผลิตในยุคนี้เรียกว่า “ชามสังคโลก”
นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังทรงใช้พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ จากลังกา ผ่าเมืองนครศรีธรรมราช มาประดิษฐานที่เมืองสุโขทัย ทำให้พระพุทธศาสนาวางรากฐานมั่นคงในอาณาจักรสุโขทัย และเผยแพร่ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ในราชอาณาจักรสุโขทัย จนกระทั่งได้เป็นศาสนาประจำชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดให้สร้างทำนบกักน้ำที่เรียกว่า “สรีดภงส์” เพื่อนำน้ำไปใช้ในตัวเมืองสุโขทัยและบริเวณใกล้เคียง โดยอาศัยแนวคันดินที่เรียกว่าเขื่อนนพพระร่วง ทำให้มีน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคในยามที่บ้านเมืองขาดแคลนน้ำ และในปี 1826 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ยังทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แทนตัวอักษรขอมที่เคยใช้กันมาแต่เดิม เรียกว่า “ลายสือไทย” และได้มีการพัฒนาการมาเป็นลำดับจนถึงอักษรไทยในปัจจุบัน ทำให้คนไทยมีอักษรไทยใช้มาจนถึงทุกวันนี้
กิจกรรมในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มีอะไรบ้าง
การวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายราชสักการะ พิธีถวายราชสดุดี และจัดนิทรรศการ เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดี และรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
ที่มาข้อมูล : กระทรวงวัฒนธรรม
ที่มาภาพ : wikipedia