“นายกฯ” ยันผู้ป่วยโควิด-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้ามรพ. เอกชนปฏิเสธการรักษา-เรียกเก็บค่ารักษา ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,953 ตาย 30 ราย โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย
เมื่อวันที่ 20 ก.พ.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยืนยันรัฐบาลยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ดังนั้น ผู้ป่วยโควิด-19 ยังถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน และสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากสถานพยาบาลเอกชนมีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโควิด-19 หรือญาติ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกประกาศฉบับเดิม จะถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541
นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่มีการปรับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดใดๆ ในขณะนี้ โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสำคัญ จึงอยากให้ประชาชนเน้นการดำเนินชีวิตในรูปแบบ New Normal เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด – 19 อย่างเคร่งครัดต่อไป พร้อมสั่งคุมเข้มทุกมิติ
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่า เดือนเมษายนประชาชนในประเทศจะได้รับวัคซีนมากพอ ซึ่งขณะนี้กลุ่มผู้สูงอายุได้รับวัคซีนเข็ม 2 เกือบ 80% พร้อมเชิญชวนให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 เข้ารับวัคซีนได้ที่จุดให้บริการวัคซีนทุกแห่งทั่วประเทศ ขอให้มั่นใจได้ว่าวัคซีนมีความปลอดภัย
ด้าน ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,953 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 18,770 ราย (เรือนจำ 118) และเดินทางมาจากต่างประเทศ 183 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 2,712,315 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 30 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 22,624 ราย รักษาหายเพิ่ม 13,962 ราย รวมยอดรักษาหายสะสม 2,527,231 ราย กำลังรักษาตัว 162,460 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในโรงพยาบาล 76,957 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 85,503 ราย มีอาการปอดอักเสบ 747 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 189 ราย
สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต 30 ราย เป็นคนไทยทั้งหมด โดยเป็นชาย 13 ราย หญิง 17 ราย อายุน้อยที่สุด 28 ปี อายุมากที่สุด 93 ปี โดยผู้เสียชีวิตอายุ 60 ปีขึ้นไปมี 22 ราย อายุน้อยกว่า 60 ปีมีโรคเรื้อรัง 7 ราย ไม่มีโรคเรื้อรัง 1 ราย ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อจากคนใกล้ชิดและคนรู้จัก โดยพบผู้เสียชีวิตมากที่สุดในกทม. 9 ราย สมุทรสาคร 5 ราย ลพบุรี 2 ราย ปทุมธานี สมุทรปราการ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย สุโขทัย พัทลุง ภูเก็ต กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และสระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 183 ราย พบมาจาก 37 ประเทศ โดย 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 รัสเซีย 50 ราย อันดับ 2 เมียนมา 30 ราย อันดับ 3 เยอรมนี 14 ราย อันดับ 4 อิสราเอล 12 ราย อันดับ 5 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 8 ราย ทั้งนี้ พบมีชาวต่างชาติลักลอบเข้าประเทศไทยโดยมาจากเมียนมาถึง 27 ราย