ตามที่ประเทศไทย ได้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและคุณภาพอากาศ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งปัจจุบัน สถานการณ์จุดความร้อนและค่าคุณภาพอากาศทางภาคเหนือ เริ่มส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร รวมถึงปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีปริมาณสูงขึ้น อีกทั้งประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง ประกอบกับสภาพอากาศปิด ลมสงบนิ่ง จึงส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศโดยรวมของพื้นที่ภาคเหนือค่อนข้างมาก นั้น
ในการนี้ กองทัพภาคที่ 3 และทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาและร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ในการลดปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนืออย่างจริงจัง รวมทั้งได้วางแผนในการควบคุมการเผา และการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ดังนี้
1. เชียงราย งดเผา 15 กุมภาพันธ์ – 15 เมษายน 65 จำนวน 60 วัน
2. เชียงใหม่ งดเผา 1 มกราคม – 30 เมษายน 65 จำนวน 120 วัน
3. ลำปาง งดเผา 1 มีนาคม – 30 เมษายน 65 จำนวน 61 วัน
4. ลำพูน งดเผา 20 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 65 จำนวน 60 วัน
5. แพร่ งดเผา 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 65 จำนวน 90 วัน
6. น่าน งดเผา 15 กุมภาพันธ์ – 20 เมษายน 65 จำนวน 65 วัน
7. พะเยา งดเผา 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 65 จำนวน 90 วัน
8. แม่ฮ่องสอน งดเผา 20 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 65 จำนวน 70 วัน
9. ตาก งดเผา 1 มีนาคม – 30 เมษายน 65 จำนวน 61 วัน
10. อุตรดิตถ์ งดเผา 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 65 จำนวน 90 วัน
11. พิษณุโลก งดเผา 16 ธันวาคม 64 – 30 เมษายน 65 จำนวน 136 วัน
12. กำแพงเพชร งดเผา 16 ธันวาคม 64 – 30 เมษายน 65 จำนวน 136 วัน
13. เพชรบูรณ์ งดเผา 16 กุมภาพันธ์ – 16 เมษายน 65 จำนวน 60 วัน
14. นครสวรรค์ งดเผา 1 มกราคม – 30 เมษายน 65 จำนวน 120 วัน
15. อุทัยธานี งดเผา 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 65 จำนวน 90 วัน
ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดพิจิตร และสุโขทัย จะได้กำหนดห้วงห้ามเผา ของคณะกรรมการจังหวัด และประกาศให้พี่น้องประชาชนทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จะประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืนและถาวรได้นั้น ต้องเกิดจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหา โดยจะต้องประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เกิดจิตสำนึกมีความรักและหวงแหนป่าไม้ในบ้านเกิด รวมถึงให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนต้องมีการวางแผนในให้เป็นระบบแบบแผนตามลำดับขั้นตอนได้อย่างมั่นคงและทันท่วงที