“บางกอกแอร์เวย์ส“ ซมพิษโควิด ทำขาดทุนเกือบ 8.6 พันล.
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยถึงผลประกอบการของบริษัท ในปี 2564 ว่า บริษัท มีรายได้รวม 5,668.5 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 44.5 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บริษัทฯต้องหยุดปฏิบัติการบินชั่วคราวตามมาตรการจำกัดการเดินทางในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 แม้ว่าจะมีนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวภายใต้โครงการแซนด์บ็อกซ์ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพฤศจิกายน 2564
“รายได้รวมที่ลดลงดังกล่าว เป็นผลมาจากรายได้บัตรโดยสารของธุรกิจสายการบินลดลงร้อยละ 78.7 รายได้จากธุรกิจสนามบินลดลงร้อยละ 75.7 และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องลดลงร้อยละ 20.1 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 8,145.1 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 45.4 ในปี 2564 บริษัทมีจำนวนผู้โดยสาร 536,304 คน ลดลงร้อยละ 71.5 เมื่อเทียบกับปี 2563 และมีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 58.6 “
สำหรับผลขาดทุนสุทธิของบริษัท ในปี 2564 เท่ากับ 8,599.8 ล้านบาท โดยมีรายการขาดทุนสุทธิจากการยกเลิกสัญญาเช่ากองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย จำนวน 5,434.7 ล้านบาท ในขณะที่ผลขาดทุนจากการดำเนินงานในปี 2564 เท่ากับ 2,532.5 ล้านบาท ขาดทุนลดลงร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับปี 2563”
ในปี 2564 บริษัทได้ปรับแผนการปฏิบัติการบิน ให้สอดคล้องกับมาตรการจำกัดการเดินทาง รวมถึงปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร โดยเปิดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ-สมุย, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-สุโขทัย, กรุงเทพฯ-ลำปาง, กรุงเทพฯ-ตราด, กรุงเทพฯ-กระบี่, หาดใหญ่-ภูเก็ต, สมุย-ภูเก็ต, อู่ตะเภา-ภูเก็ต และอู่ตะเภา-สมุย
รวมทั้งเที่ยวบินพิเศษภายใต้นโยบายนำร่องเปิดประเทศของภาครัฐ โครงการสมุยพลัส และภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยเปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุย, สมุย-ภูเก็ต และสมุย-สิงคโปร์ นอกจากนี้ได้เปิดให้บริการเที่ยวบินเส้นทางต่างประเทศเพิ่มเติม คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 โดยดำเนินการภายใต้มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขอนามัยสูงสุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสาร
สำหรับธุรกิจการลงทุน บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่งเป็นบริษัทร่วม ได้นำส่งแผนแม่บทสนามบินฉบับสมบูรณ์ให้แก่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2564 และได้ว่าจ้างบริษัทออกแบบที่มีชื่อเสียง และมีประสบการณ์ในการออกแบบสนามบินขนาดใหญ่ เพื่อออกแบบอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณพื้นที่สนามบิน
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่