นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำและการดำเนินงานโครงการบางระกำโมเดล ปี 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นทุ่งรับน้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำยม ว่า การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 และการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ กรมชลประทานได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ทั้ง 8 มาตรการอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งเก็บกักน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรอง จัดสรรน้ำฤดูแล้ง วางแผนเพาะปลูกพืช เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ ติดตามประเมินผล และการสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำ
สำหรับโครงการบางระกำโมเดล มีพื้นที่โครงการ 265,000 ไร่ ครอบคลุม อ.พรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ถือเป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนบน โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ผ่านการบูรณาการร่วมจากหลายหน่วยงาน สามารถสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรให้เข้าใจ และร่วมขับเคลื่อนโครงการฯไปกับกรมชลประทาน ซึ่งตั้งแต่มีการเริ่มดำเนินโครงการ พบว่าพื้นที่การเกษตรในทุ่งบางระกำไม่เคยได้รับความเสียหาย เนื่องจากมีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้สามารถเพาะปลูกได้เร็วขึ้น และกรมชลประทานวางแผนส่งน้ำเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก
โดยในปี 2565 นี้ กรมชลประทานได้วางแผนส่งน้ำให้กับพื้นที่บางระกำทั้งสิ้น 265,000 ไร่ ปริมาณน้ำที่ใช้ 310 ล้าน ลบ.ม. เริ่มส่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2565 เพื่อให้เกษตรกรใช้เตรียมแปลงและได้เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตภายในเดือนสิงหาคม 2565 ก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง จากนั้นจะใช้ทุ่งบางระกำเป็นแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำหลาก สามารถตัดยอดน้ำได้ถึง 400 ล้าน ลบ.ม. ช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัย จ.พิษณุโลก และสุโขทัย รวมถึงพื้นที่ท้ายน้ำตั้งแต่ จ.พิจิตร ลงไป และยังช่วยหน่วงน้ำไม่ให้ไหลไปส่งผลกระทบกับลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และเมื่อสิ้นสุดฤดูน้ำหลากจะเริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป และจะระบายน้ำให้คงเหลือน้ำในทุ่งไว้ ประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้เกษตรกรใช้ในเตรียมแปลงสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป
ในส่วนของการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำยม นั้น กรมชลประทานได้วางแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำยม ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 23,600 ตร.กม. ความยาวรวม 735 กม. ทั้งนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาพบว่าลุ่มน้ำยมมักจะประสบทั้งปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งซ้ำซาก และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในช่วงพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง บริเวณเขตเศรษฐกิจเมืองสุโขทัย และบริเวณที่ลุ่มต่ำ จ.พิจิตร กรมชลประทานได้วางแนวทางในการพัฒนาลุ่มน้ำยมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนี้
ลุ่มน้ำยมตอนบน วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 22 โครงการ ความจุรวม 301 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยรู จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำแม่คำมี จ.แพร่ อ่างเก็บน้ำแม่แคม จ.แพร่
ลุ่มน้ำยมตอนกลาง มีแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยการปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขิน กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 6 โครงการ ความจุรวม 37 ล้าน ลบ.ม. อาทิ อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ จ.สุโขทัย อ่างเก็บน้ำแม่สำ จ.สุโขทัย ในส่วนของโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทานที่มีอยู่เดิม เช่น การปรับปรุงฝายแม่ยม จากเดิมที่สามารถระบายได้ 75 ลบ.ม/วินาที เพิ่มเป็น 1,400 ลบ.ม/วินาที การปรับปรุงคลองผันน้ำยม-น่าน จากเดิมสามารถระบายน้ำได้ 100 ลบ.ม./วินาที เป็น 300 ลบ.ม./วินาที โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ปตร.คลองหกบาท จาก 250 ลบ.ม./วินาที เป็น 500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างลุ่มน้ำยมตอนล่าง กรมชลประทานได้วางแผนพัฒนาพื้นที่แก้มลิง 118 แห่ง ความจุรวม 100 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้าง ปตร.และฝายตามลำน้ำยม 6 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 แห่ง ได้แก่ ปตร.ท่านางงาม จ.พิษณุโลก และปตร.ท่าแห ปตร.วังจิก ปตร.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร
“ทั้งนี้ เมื่อการพัฒนาลุ่มน้ำยม ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง แล้วเสร็จครบถ้วนตามแผน จะทำให้ลุ่มน้ำยมมีปริมาตรเก็บกักในลุ่มน้ำ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 500 ล้าน ลบ.ม. ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อสนับสนุนความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้งได้ประมาณ 160 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานประมาณ 100,000 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 40,000 ครัวเรือน”