สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ฯ นำเทคโนโลยีดาวเทียมแก้ปัญหา ไฟป่า-หมอกควัน-ฝุ่นละอองในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ
วันที่ 19 เมษายน 2565 2565 กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ลงพื้นที่จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “ส่งเสริมการใช้งานระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองเชิงพื้นที่ แบบมีส่วนร่วม” ให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการภัยพิบัติ และแก้ปัญหาภัยไฟป่า-หมอกควัน-ฝุ่นละออง
นางกานดาศรี ลิมปาคม รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ( จิสด้า ) กล่าวว่า การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้งานระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองเชิงพื้นที่ แบบมีส่วนร่วมในกลุ่มพื้นที่ 17 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี พิจิตร พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และลำพูน โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และระบบสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อการบริหารจัดการไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม นำไปสู่การ ขยายผล และใช้งานได้จริงในระดับพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการป้องกัน ควบคุม บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่น ละอองในประเทศไทย
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองเป็นยังคงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และมอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทุ่มเทสรรพกำลัง องค์ความรู้ และทรัพยากร เพื่อควบคุม และบริหารจัดการ แหล่งกำเนิดปริมาณฝุ่นละอองไม่ให้สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน และปฏิบัติงานป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น ละออง บนหลักการ “ขยายผล พัฒนา ขจัดปัญหา” กำหนดเป้าหมายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และ ฝุ่นละอองในปี 2565
อย่างไรก็ตาม จิสด้าได้นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารจัดการภัยพิบัติ หมอกควัน ในทุกปี พร้อมพัฒนาระบบประมวลผลข้อมูลภูมิสารสนเทศจากดาวเทียม เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน ช่วยวิเคราะห์ คาดการณ์ รายงานผลได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ ตลอดจน นำข้อมูล GIS จังหวัดและข้อมูลจาก ภาพถ่ายดาวเทียม เข้าร่วมแก้ไขปัญหาภัยพิบัติหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ นำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการไฟป่าหมอกควัน และลดปัญหามลพิษทางอากาศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ