เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: โรม บุนนาค
นักประวัติศาสตร์ถือกันว่า ประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการสถาปนาราชอาณาจักรสุโขทัย โดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นกษัตริย์พระองค์แรก
แต่ตอนนั้นก็มีกรุงสุโขทัยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว โดยมีคนเผ่าไทยหลายกลุ่มได้อพยพหนีความวุ่นวายจากความขัดแย้งในตอนใต้ของจีนลงมาสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ บางส่วนก็เลยลงไปทางใต้แถบสุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี จนถึงนครศรีธรรมราช
ในราวปี ๑๗๐๐ พ่อขุนศรีเนานำถม หัวหน้าของคนกลุ่มหนึ่งได้ตั้งเมืองสุโขทัยขึ้น ศิลาจารึกหลักที่ ๒ ซึ่งพบที่วัดศรีชุมจารึกไว้ว่า
“แคว้นสุโขทัยมีพ่อขุนศรีเนานำถมปกครอง พ่อขุนศรีเนานำถมมีโอรสองค์หนึ่งคือพ่อขุนผาเมือง ซึ่งเป็นราชบุตรเขยกษัตริย์ขอม ได้รับพระราชทานนามว่า ศรีอินทรปตินทราทิตย์ ต่อมาพ่อขุนศรีเนานำถมสิ้นพระชนม์ ขุนนางขอมชื่อ สบาดโขลญลำพง เข้ายึดกรุงสุโขทัย”
ในยุคนั้นย่านนี้อยู่ในอิทธิพลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ผู้เรืองอำนาจที่สุดของขอม แต่ทว่าล่วงเข้าวัยชรามีพระชนมายุ ๙๐ พรรษาแล้ว และทรงเห็นว่าแคว้นที่เกิดใหม่นี้รักสงบไม่รุกราน จึงทรงผูกสัมพันธไมตรีด้วยนโยบายเกี่ยวดองเป็นญาติ เพื่อความสงบสุขในบั้นปลายชีวิตของพระองค์ โดยพระราชทานนางสิขรมหาเทวี พระราชธิดา ให้แก่พ่อขุนผาเมือง ทั้งยังพระราชทานพระขรรค์ชัยศรีและบรรดาศักดิ์ “ศรีอินทรปตินทราทิตย์” เป็นเกียรติแก่พระราชบุตรเขยด้วย
เมื่อพ่อขุนศรีเนานำถมสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.๑๗๒๔ หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ไม่นาน ขุนนางขอมที่ชื่อ สบาดโขญลำพง ก็เข้ายึดอำนาจเมืองสุโขทัย เป็นผลให้พ่อขุนผาเมืองต้องไปครองเมืองราด ซึ่งอยู่แถวแม่น้ำป่าสัก
สบาดโขลญลำพงครองเมืองสุโขทัยอยู่นาน จนในปี พ.ศ.๑๗๘๒ พ่อขุนบางกลางหาว พ่อเมืองบางยาง ปัจจุบันอยู่ในอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ผู้เป็นสวามีของพระนางเสือง พระพี่นางของพ่อขุนผาเมือง จึงได้ไปชวนพระอนุชาของมเหสีผู้เป็นพระสหายด้วย ร่วมกันปลดปล่อยสุโขทัยให้พ้นอำนาจขอม โดยพ่อขุนบางกลางหาวเข้ายึดเมืองศรีสัชนาลัย พ่อขุนผาเมืองยึดเมืองสุโขทัย
เมื่อยึดอำนาจได้ อาจจะด้วยเหตุที่พ่อขุนบางกลางหาวเป็นสวามีพระพี่นาง และพ่อขุนผาเมืองเป็นพระราชบุตรเขยของกษัตริย์ขอม พ่อขุนผาเมืองจึงเสียสละให้พ่อขุนบางกลางหาวขึ้นครองเมืองสุโขทัย พร้อมกับมอบพระขรรค์ชัยศรีและพระนามศรีอินทรปตินทราทิตย์ให้ด้วย เพื่อเป็นยันต์คุ้มกันการรุกรานของขอม แสดงว่าแม้จะเป็นผู้กำจัดขอมสบาดโขลญลำพง แต่ก็ยังมีความนิยมในพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ส่วนพ่อขุนผาเมืองไปครองเมืองศรีสัชนาลัย
พ่อขุนบางกลางหาวได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ของราชอาณาจักรสุโขทัยใน พ.ศ.๑๗๘๑ ต้นราชวงศ์พระร่วง ทรงพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ถือได้ว่าเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกหลังจากกำจัดอิทธิพลของขอม สถาปนาราชอาณาจักรไทยขึ้นโดยสมบูรณ์ ประเทศไทยจึงได้เริ่มขึ้นในครั้งนั้น
ในยุคนั้นในย่านนี้มีรัฐของคนเผ่าไทยเกิดขึ้นหลายรัฐ ต่อมาพระเจ้าอู่ทองกษัตริย์ของกรุงอโยธยาได้ย้ายเมืองจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามาอยู่ฝั่งตะวันตก สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น และเป็นอีกแคว้นหนึ่งที่รุ่งเรืองโดยรวบรวมเมืองต่างๆในย่านนั้นมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งละโว้ สุพรรณภูมิ อู่ทอง ต่อมาก็ได้รวมเข้ากับสุโขทัย ซึ่งไม่อาจกล่าวได้ว่า อยุธยายึดสุโขทัย หรือสุโขทัยยึดอยุธยา เพราะเป็นการเข้ากลืนกันอย่างนิ่มนวลแบบเกี่ยวดองเป็นญาติ มีราชวงศ์สุโขทัยเข้าครองกรุงศรีอยุธยา
กษัตริย์อยุธยาที่ทรงรวบรวมสุโขทัยเข้ามาก็คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โอรสของเจ้าสามพระยา กษัตริย์พระองค์ที่ ๗ ของอยุธยา มีพระนามเดิมว่าพระราเมศวร ประสูติจากพระราชเทวี พระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ ๒ กษัตริย์พระองค์ที่ ๗ ของสุโขทัย
เจ้าสามพระยาเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งพระองค์หนึ่ง ทรงเป็นผู้ปราบปรามขอมจนสิ้นอำนาจโดยยึดเมืองพระนครได้ และส่งพระนครอินทร์ พระราชโอรสองค์โตไปครอง และส่งพระราเมศวร พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เพื่อให้ใกล้ชิดกับสุโขทัย
เมื่อเจ้าสามพระยาสวรรคต และพระนครอินทร์ พระเชษฐาก็สิ้นพระชนม์ไปก่อน พระราเมศวรจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๘ ของกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงครองราชย์อยู่ถึง ๔๐ ปี เป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของกรุงศรีอยุธยา แต่พระองค์ยังคงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกตลอดรัชกาล ถือได้ว่าย้ายเมืองหลวงจากกรุงศรีอยุธยามาเป็นการชั่วคราว ทำให้ทรงใกล้ชิดกับสุโขทัยจนรวมกันได้สนิท
นับจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สถาปนากรุงสุโขทัยขึ้น จนถึงกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ ถึงวันนี้ประเทศไทยมีอายุ ๗๘๔ แล้ว และปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำมาตลอด จนถึง พ.ศ.๒๔๗๕ จึงมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ก็ถูกลดพระราชอำนาจลงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่สามารถใช้อำนาจทางปกครองด้วยพระองค์เอง รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาล การ “ใช้อำนาจ” ก็คือการลงพระปรมาภิไธย
“The King Can Do No Wrong” พระมหากษัตริย์ทำผิดไม่ได้ ก็เพราะทรงทำอะไรไม่ได้นั่นเอง
พระมหากษัตริย์จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์สูงสุดของประเทศในรัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทย
แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญก็ถวายสิทธิพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่อยู่อย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า “สิทธิที่จะพระราชทานการสนับสนุน” โดยพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะพระราชทานการสนับสนุนการกระทำหรือกิจการใดๆของรัฐหรือเอกชนได้ หากพระองค์ทรงเห็นว่ากิจการนั้นๆเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงใช้สิทธินี้อย่างเต็มที่ ยาตราด้วยพระบาทบุกบั่นไปในถิ่นทุรกันดาร ไม่เว้นแม้แต่ถิ่นที่ไม่มีความปลอดภัย ทรงแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่กำลังประสบความยากแค้น โดยปลูกฝังความอุดมสมบูรณ์ขึ้นทุกหัวระแหงด้วยโครงการส่วนพระองค์ โครงการพระราชดำริ และทรงตรากตรำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานตลอดรัชกาล ทำให้ประชาชนผู้ยากไร้กลับมีความผาสุกและมีความมั่นคงในชีวิต ประเทศไทยมีความสดใสรุ่งเรืองถูกกล่าวขานไปทั่วโลกในรัชสมัยของพระองค์
แม้จะทรงสูญเสียความเป็นผู้นำทางการเมือง แต่ทรงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของประชาชน นอกจากจะทรงได้รับการเคารพเทิดทูนจากพสกนิกรของพระองค์แล้ว ทั่วโลกยังถวายพระราชสมัญญา “King of Kings” ทรงเป็นกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญพระองค์เดียวของโลก ที่ได้รับการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช”
นี่ก็เป็นคำตอบที่ประเทศนี้ยังเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ตลอดไป เป็นศูนย์รวมใจไทยทั้งชาติ