เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
สุโขทัย – ศรัทธาญาติโยมสาธุกันทั่ว..เจ้าอาวาสวัดโบสถ์สืบค้นหาพระเก่าอายุพันปีแห่งเมืองโบราณบางขลัง จุดกำเนิดประเทศไทย คืนสู่ถิ่นเดิมได้กว่า 25 องค์ ทั้งพระหินสี พระหินทรายแกะสลัก พระสัมฤทธิ์ ท้าวเวสสุวรรณ ผอบหินสีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฯลฯ เก็บรักษาให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชม และศึกษาเรียนรู้
ขณะนี้ศรัทธาญาติโยมชาวบ้านต่างพากันชื่นชมยินดีกับพระครูพิพัฒน์สุตากร เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ (เมืองโบราณบางขลัง) และเจ้าคณะตำบลเมืองบางขลัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ซึ่งได้ใช้เวลาสืบเสาะค้นหาสมบัติโบราณของวัดที่สูญหายไป จนมีชาวบ้านนำมามอบคืน และบางส่วนก็ขอเช่าบูชากลับคืนมาอีกครั้ง
ประกอบด้วย “พระรัตนมณี” เป็นพระหินสีแกะสลัก อายุกว่า 1,300 ปี จำนวน 25 องค์ มีทั้งสีแดง เขียว น้ำเงิน เหลือง ชมพู พร้อมผอบหินสีแกะสลัก ข้างในมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ด้วย รวมถึงพระพุทธรูปหินทรายแกะสลัก พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ และท้าวเวสสุวรรณ ฯลฯ ในยุคปลายของเมืองโบราณบางขลัง อายุประมาณ 800-900 ปี
พระครูพิพัฒน์สุตากรกล่าวว่า วัดโบสถ์เมืองโบราณบางขลังแห่งนี้ในอดีตเคยเป็นวัดร้าง และเป็นที่ตั้งของมณฑปเก่าแก่สมัยทวารวดี ส่วนพระพุทธรูปและสมบัติของวัดที่สูญหายไปในช่วงยังเป็นวัดร้างนั้น บางชิ้นเคยตั้งอยู่ในโบสถ์เก่า บางชิ้นก็อยู่ในซากเจดีย์ บางชิ้นถูกฝังในหลุมลูกนิมิต และบางชิ้นก็จมอยู่ใต้พื้นดิน ต่อมานักล่าสมบัติก็มาขุดค้นนำออกไป
“อาตมาพยายามสืบค้นหามาตลอด ว่าของโบราณเมืองบางขลังเหล่านี้อยู่ที่ไหนบ้าง พอทราบก็เลยขอนำกลับคืนสู่วัด เก็บรวบรวมเรื่อยมา เพื่อรักษาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชม ศึกษาเรียนรู้ศิลปะ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และในอนาคตก็อยากทำพิพิธภัณฑ์ และเป็นห้องสวดมนต์ด้วย”
ทั้งนี้ “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” หรือพ่อขุนบางกลางหาว และ “พ่อขุนผาเมือง” พระราชโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถุมแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย ทรงเป็นพระญาติและพระสหายกัน ทรงมีคุณูปการและพระมหากรุณาธิคุณแก่ประเทศและประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้
โดยทรงรวมพลกันที่เมืองบางขลัง รวมพลังขับไล่ขจัดอำนาจของ “ขอมสบาดโขลญลำพง” ที่ครอบครองดินแดนสุโขทัยมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 1762 จนถึงรัชสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถุม ให้พ้นไปจากราชอาณาจักรสุโขทัย
“เมืองบางขลัง” จึงถูกกล่าวขานเป็นจุดกำเนิดประเทศไทย เพราะถ้าไม่มีเมืองบางขลัง ก็ไม่มีกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ และไม่มีเมืองบางขลัง ก็ไม่มีประเทศไทย