เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: โรม บุนนาค
เมื่อมีการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรในเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประทับที่วังไกลกังวล หัวหิน ตามปกติประจำปี ตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว เมื่อได้ข่าวการยึดอำนาจในกรุงเทพฯและจับกรมพระนครสวรรค์ฯ กรมพระยาดำรงฯ และบุคคลสำคัญอีกหลายคนเป็นตัวประกัน ทั้งในตอน ๑๐.๐๐ น.ของวันนั้น นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย นายทหารเรือคนสำคัญของคณะราษฎร ได้นำเรือหลวงสุโขทัยไปถึงวังไกลกังวล ทูลเชิญพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับกรุงเทพฯ และยังจอดคุมอยู่
ในคืนนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงเรียกประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ตามเสด็จฯ กับบางท่านที่ตามไปเมื่อเกิดการยึดอำนาจแล้ว เช่นกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงคมนาคม ที่หลบหนีการจับกุมขึ้นรถไฟขบวนพิเศษไปหัวหินได้
ที่ประชุมในคืนนั้นประกอบด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ นายพลเรือเอก กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาบดีกระทรวงกลาโหม นายพลโท พระองค์เจ้าอลงกฎ รองเสนาบดีกระทรวงกลาโหม นายพลตรี พระยาพิชัยสงคราม แม่ทัพกองทัพที่ ๑ นายพลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ นครราชสีมา และพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรและราชเลขาธิการ ผู้บันทึกการประชุมในคืนนั้น
ที่ประชุมมีความเห็นแตกเป็น ๒ ฝ่าย เสียงข้างมากเห็นว่าควรจะต่อสู้กับคณะปฏิวัติที่มีคนอยู่เพียงแค่หยิบมือ ราษฎรส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ด้วย เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การยอมแพ้จะเป็นการทำให้เสียพระเกียรติ และได้เสนอความเห็นขอกราบบังคมทูลให้พระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยทางเครื่องบินไปที่กองพลนครราชสีมา ส่วนนายทหารในที่ประชุมซึ่งล้วนคุมกำลังสำคัญทั้งนั้นก็จะแยกย้ายกันไปรวบรวมทหารที่นครสวรรค์ ปราจีนบุรี ราชบุรี เพรชบุรี เคลื่อนเข้าเปิดล้อมกรุงเทพฯพร้อมกับกองพลนครราชสีมา แล้วใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวว่ากองทหารของพระเจ้าอยู่หัวได้ล้อมพระนครไว้หมดแล้ว ขอให้ทหารที่ถูกคณะราษฎรหลอกมาวางอาวุธ
ส่วนฝ่ายเสียงข้างน้อยเห็นว่าไม่ควรสู้ เพราะคนพวกนี้ไม่ได้เป็นภัยกับองค์พระมหากษัตริย์ ทั้งยังอัญเชิญให้ครองราชย์ต่อไป ขอแต่ให้พระราชทานรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งก็ตรงกับพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้วที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยให้ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศร่างขึ้นแล้ว แต่ได้รับการคัดค้านจากขุนนางบางคนจึงทรงยับยั้งไว้ก่อน ส่วนที่เกรงว่าจะเป็นการเสียพระเกียรติกลับจะเป็นการได้พระเกียรติเสียอีก
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงฟังความคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายแล้ว มีพระราชดำรัสว่า ถ้าจะสู้ก็คงสู้ได้แน่นอน แต่จะเสียเลือดเนื้อข้าแผ่นดินซึ่งเป็นคนไทยด้วยกัน ถ้าพระองค์จะยอมสละพระราชอำนาจของพระองค์ตามคำขอของคณะราษฎร ก็จะไม่มีผู้ใดเสียหาย ในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุข จึงตัดสินพระทัยยอมรับคำทูลเชิญของคณะราษฎร แต่จะไม่กลับไปกับเรือหลวงสุโขทัยที่ส่งมารับ ให้ดูเหมือนถูกจับกลับไป รับสั่งให้แจ้งกับนายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัยว่าจะเสด็จกลับกรุงเทพฯในวันที่ ๒๖ มิถุนายน โดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง
ในเช้าวันที่ ๒๖ มิถุนายน ในเวลา ๑๑.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้คณะราษฎรกลุ่มหนึ่งซึ่งมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมร่วมด้วย เข้าเฝ้าที่วังสุโขทัย นำหนังสือทูลเกล้าฯถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งคือพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้คณะราษฎร มิให้ถือว่าการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นเป็นการละเมิดกฎหมาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพระกรุณาลงพระปรมาภิไธยยกโทษให้ และยังทรงให้ใส่ข้อความในคำปรารถของพระราชกำหนดด้วยว่า
“อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้ เราก็ได้ดำริอยู่แล้ว ที่คณะราษฎรนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่แล้ว และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติอาณาประชาชนแท้ๆ จะกระทำการหรือแต่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยก็มิได้”
อีกฉบับหนึ่งคือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ฉบับนี้ทรงขอเวลาศึกษา ๑ คืนก่อน รุ่งขึ้นทรงขอให้เติมคำว่า “ชั่วคราว” เป็น “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕”
ฝ่ายคณะราษฎรก็ยินยอมตามพระราชดำริทั้ง ๒ ฉบับ
การยินยอมของทั้งสองฝ่ายเป็นการประนีประนอมกันนี้ ทำให้บรรยากาศอันตรึงเครียดของการยึดอำนาจได้ผ่อนคลายลง แต่อย่างไรก็ตาม แม้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจะแสดงว่าทรงเห็นด้วยกับความคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร แต่ก็ยังค้างคาพระราชหฤทัยกับข้อความในประกาศของคณะราษฎรที่กล่าวร้ายต่อพระองค์อย่างรุนแรง นอกจะทรงชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่นกล่าวหาว่าพระองค์ตั้งแต่คนสอพลอนั้น ได้ทรงปลดคนโกงออกก็มาก ลำพังพระองค์ๆเดียวจะเที่ยวจับคนโกงให้หมดเมืองอย่างไรได้ แม้แต่คณะนี้ก็คอยดูไป คงจะได้พบคนโกงเหมือนกัน ที่ว่าเอาราษฎรเป็นทาสหรือว่าหลอกลวงก็ไม่จริง และเป็นการเสียหายอย่างยิ่ง แต่อาจจะเป็นได้ว่าได้ปฏิบัติการช้าไป ที่ว่าราษฎรช่วยกันกู้ประเทศนั้นก็เป็นความจริง แต่พระราชวงศ์จักรีเป็นผู้นํา และผู้นํานั้นสำคัญ เสียใจที่ได้ทิ้งเสีย ไม่กล่าวถึงพระคุณควบไปด้วย เป็นการเท่ากับด่าถึงบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นเสียใจมาก
ทรงต่อว่าคำประกาศในวันที่หลวงประดิษฐ์เข้าเฝ้านั้นว่า
เมื่อเขียนประกาศทำไมไม่นึก เมื่อจะอาศัยกัน ทำไมไม่พูดให้ดีกว่านั้น และเมื่อพูดดังนั้นแล้วทำไมไม่เปลี่ยนเป็น Republig เสียทีเดียว เปรียบเหมือนเอาผ้าขาวมาจะทำธง แล้วเอามาเหยียบย่ำเสียให้เปรอะเปื้อน แล้วเอามาชักขึ้นเป็นธงจะเป็นเกียรติยศงดงามแก่ชาติหรือ ประกาศนี้คงอยู่ในมือราษฎรเป็นอันมาก ทำให้ขาดเสียความนิยม เมื่อไม่นับถือกันแล้วจะให้เป็นกษัตริย์ทำไม”
หลวงประดิษฐ์ฯได้กราบทูลว่าไม่ทราบมาก่อนว่ามีพระราชดำริจะพระราชทานรัฐธรรมนูญ รู้เท่าไม่ถึงพระบรมราชประสงค์ ไม่ใช่เป็นการมุ่งร้ายต่อพระองค์ เมื่อได้ทราบเกล้าฯแล้วก็จะไม่มีความเข้าใจผิดอีกต่อไป และคงมีความเคารพนับถือในพระบารมีตามเดิม จะไปพิจารณาหาทางร่างประกาศถอนความที่ได้ปรักปรำและขอพระราชทานอภัยให้เป็นที่สมพระเกียรติยศ
จากวันนั้นพระยามโนปกรณ์นิติธาดา อดีตขุนนางคนสำคัญของอำนาจเก่าซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรก อันเป็นผลจากการประนีประนอม ได้ร่วมกับคณะราษฎรทำหนังสือขอพระราชทานอภัยที่คณะราษฎรได้ออกประกาศกล่าวร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานหนังสือตอบ มีความว่า
วังสุโขทัย
วันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕
ถึง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และผู้แทนคณะราษฎร
ข้าพเจ้าได้รับหนังสือขอขมาในการที่คณะราษฎรได้ออกประกาศปรักปรำ แสดงถึงการกระทำของข้าพเจ้าเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. นี้ ในขณะที่คณะราษฎรได้เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ซึ่งบัดนี้คณะราษฎรได้ทราบความจริงแล้วว่า ข้าพเจ้าตั้งใจดีต่อราษฎร และได้คิดที่จะให้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดินแก่ราษฎรอยู่แล้ว หากแต่ล่าช้าไปไม่ทันกาล และไม่ได้เป็นใจกับพวกทุจจริต ข้าพเจ้าขอขอบใจคณะราษฎรซึ่งมีความหวังดีต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าหวังว่าในโอกาสหน้าเมื่อถึงเวลาสมควร คณะราษฎรคงจะได้ออกคำแถลงการณ์ปลดเปลื้องมลทินให้ราษฎรได้ทราบความจริงดุจดังเมื่อประกาศหาความผิดไว้นั้น
ประชาธิปก ปร.”
ต่อมาก่อนประกาศรัฐธรรมนูญบับถาวรในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ บรรดาสมาชิกคณะราษฎรได้เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ขอพระราชทานอภัยโทษ โดยนำดอกไม้ธูปเทียนทูลเกล้าฯถวายตามประเพณี มีพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรเป็นตัวแทนกราบบังคมทูล มีความว่า
“การที่พวกข้าพระพุทธเจ้าได้ประกาศกล่าวข้อความในวันเปลี่ยนแปลงด้วยถ้อยคำอันรุนแรงกระทบกระเทือนถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ด้วยมุ่งถึงผลสำเร็จทันทีทันใดเป็นใหญ่ สมเด็จพระมหากษัตราธิราชในพระบรมวงศ์จักรี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ได้ทรงมีส่วนนำความเจริญมาสู่ประเทศสยามตามกาลสมัย บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกข้าพระพุทธเจ้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนี้ กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษอีกครั้งหนึ่งเป็นคำรบสองในถ้อยคำที่ได้ประกาศไป”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้ามีพระราชดำรัสตอบมีความว่า
“ข้าพเจ้ามีความยินดีมากที่ท่านได้คิดมาทำพิธีขอขมาวันนี้เอง โดยที่ข้าพเจ้ามิได้ร้องขออย่างใดเลย การที่ท่านทำเช่นนี้ย่อมเป็นเกียรติยศแก่ท่านเป็นอันมาก เพราะท่านทั้งหลายได้แสดงว่ามีธรรมในใจ และเป็นคนที่สุจริตและใจเป็นนักเลง เมื่อท่านรู้สึกว่าได้ทำอะไรที่เกินไป พลาดพลั้งไปบ้าง ท่านก็ยอมรับผิดโดยดีและโดยเปิดเผย การกระทำเช่นนี้เป็นของที่ทำยาก และต้องใจเป็นนักเลงจริงๆ จึงจะทำได้ เมื่อท่านได้ทำพิธีเช่นนี้ในวันนี้ก็แสดงให้เห็นชัดว่า การใดที่ท่านได้ทำไปนั้นท่านได้ทำไปเพื่อหวังประโยชน์แก่ประเทศแท้จริง ท่านได้แสดงว่าท่านเป็นผู้มีน้ำใจกล้าหาญทุกประการ ท่านกล้ารับผิดเมื่อรู้สึกว่าตนได้ทำการพลาดพลั้งไป ดังนี้เป็นการที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไว้ใจในตัวของท่านยิ่งขึ้นอีกเป็นอันมาก ในข้อนี้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอันมาก”
นี่ก็เป็นบรรยากาศส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย ซึ่งไม่มีการเสียเลือดเนื้อจากการต่างความคิด เช่นเดียวกับการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ ๕ เพราะทุกฝ่ายมุ่งแต่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เมื่อรู้ตัวว่าทำผิดพลาดไปเพราะยังด้อยประสบการณ์ ก็ยอมขออภัย และให้อภัยกันตามวิถีชีวิตไทย ไม่ใช้วิธีเอาชนะกันแบบเอาเป็นเอาตายจนประเทศชาติย่อยยับ แล้วตกเป็นผู้แพ้ด้วยกันทุกฝ่าย อย่างที่เห็นๆกันในประเทศอื่น…นี่แหละแบบฉบับของประเทศไทย