ปัญหาการค้ามนุษย์ (trafficking) เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่สากลโลกไม่อาจยอมรับได้ เพราะเป็นการกระทำที่รุนเเรงของมนุษย์ต่อมนุษย์ภายใต้กระบวนการที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน อีกทั้งสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทยที่จัดได้ว่าอยู่ในจุดที่เชื่อมต่อกับเมืองท่าของหลายๆ ประเทศ จึงเป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดศูนย์รวมแห่งการเกิดอาชญากรรมหลายๆ ประเภท
จากปัญหาการค้ามนุษย์ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน และกลับมาเป็นกระเเสวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งหลังจากเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและอุยกูร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง จึงนำมาสู่วงเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘ไทยกับปัญหาการค้ามนุษย์โรฮิงญาและอุยกูร์’ ผ่านมุมมองวิชาการและภาคสนาม จัดโดย โครงการวิทยาลัยการเมือง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมกับ The Reporters และ The Motive เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อพูดคุยถึงเเนวทางการแก้ปัญหาที่รัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบ
ประเทศไทย ทางผ่านสู่ความหวังของ ‘ผู้ลี้ภัย’ ที่กลับกลายเป็นนรกบนดิน
กัณวีร์ สืบแสง อดีตหัวหน้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เมืองค็อกบาซาร์ บังคลาเทศ ชวนตั้งคำถามว่า ทำไมกลุ่มผู้ลี้ภัยจึงต้องเดินทางไกลมาถึงประเทศไทย เเล้วพวกเขาอยากมาหรือไม่ ซึ่งต้นเหตุจริงๆ เกิดจากการกดขี่ข่มเหงชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่โดยทหารเมียนมา ทำให้ต้องอพยพลี้ภัยออกมา แต่ในระยะหลังชาวโรฮิงญาเดินทางออกมามากขึ้นด้วยความสมัครใจ โดยพวกเขาต้องจ่ายเงินให้แก่นายหน้าเพื่อเป็นค่าเดินทาง ทั้งทางเรือและทางบก เเละจากคำให้สัมภาษณ์ของชาวโรฮิงญาที่โดนจับ พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาจ่ายเงินค่าเดินทางเอง เเต่เมื่อมาถึงกลับต้องจ่ายเงินเพิ่ม ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่การลักลอบนำพา (smuggling) และการค้ามนุษย์ (trafficking)
หากมองตามบริบทความเป็นจริง พวกเขาคือผู้ลี้ภัย เเต่กระบวนการนำพานั้นผิดกฎหมาย ซึ่งการแก้ปัญหาของรัฐไทยมักเป็นการแก้ปัญหาแบบการปิดประตูตีเเมว คือการปิดประเทศเเละแก้ปัญหาภายในประเทศ ในขณะที่กลุ่มขบวนการเป็นเหมือนเสือที่ซ่อนตัวอยู่รอบนอก เป็นกลุ่มมาเฟียที่มีอิทธิพล มีเงินสะพัด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประเทศไทยตกเป็นเหยื่อและโดนกัดจากเสือตัวนี้มาตลอด
กฎหมายไทยไม่มีการเยียวยาเหยื่อ
กัณวีร์ สืบแสง ในฐานะผู้มีประสบการณ์การทำงานในประเด็นผู้ลี้ภัย กล่าวถึงกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ว่า กฎหมายฉบับแรกที่บังคับใช้อยู่คือ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2521 ระบุว่าผู้ใดก็ตามที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ต้องถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง ฉบับต่อมาคือ พระราชบัญญัติป้องกันเเละปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 กฎหมายทั้งสองฉบับมีความลักลั่นตรงที่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง คือหากผู้ใดลักลอบเข้ามาจะต้องถูกจับ ขัง เเละส่งกลับทันที ส่วน พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ กำหนดว่ากลุ่มผู้หญิงและเด็กที่ถูกหลอกเข้ามาจะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เช่นกัน กล่าวโดยสรุปคือ ไม่มีกฎหมายฉบับใดบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า จะมีการดูแลเหยื่ออย่างไร ทั้งในเรื่องการเดินทางเเละการพลัดถิ่นของผู้ลี้ภัย
ความยากลำบากและผลกระทบที่เหยื่อต้องแบกรับอันเนื่องมาจากข้อกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจน นำไปสู่ความคลุมเครือระหว่างกรณีผู้ลักลอบเข้าเมืองกับผู้ลี้ภัยสงคราม ประเด็นนี้ ผศ.อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ชี้เเจงเพิ่มเติมถึงความแตกต่างระหว่าง 2 กรณีดังกล่าวว่า ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ‘มูลเหตุจูงใจ’ โดยสามารถเเบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็น ดังนี้
- มูลเหตุจูงใจทางเศรษฐกิจ: กรณีนี้สามารถจัดการตามข้อกฎหมายได้ตามปกติ
- มูลเหตุจูงใจทางการเมืองเเละสังคม: กรณีนี้ต้องมีการพิจารณาที่แตกต่างกันออกไปตามเป้าประสงค์ของผู้ที่เข้ามา
นอกจากนี้ กัณวีร์กล่าวทิ้งท้ายถึงท่าทีและการจัดการของรัฐบาลไทยว่า ทุกครั้งที่ประเทศไทยส่งพวกเขากลับประเทศต้นทาง ในขณะที่สถานการณ์ยังไม่สงบ โดรนหรือเครื่องบินยังบินอยู่ อาจยิ่งทำให้รัฐบาลไทยมีภาพลักษณ์ที่เเข็งกร้าวหากมองในมุมของมนุษยธรรม
แสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศ คืนศักดิ์ศรีเหยื่อค้ามนุษย์
กัณวีร์กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการเดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 ของผู้ลี้ภัยว่า มีเพียงประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นของผู้ลี้ภัยที่สามารถทำได้จริง แต่ยังมีกลุ่มคนอีกประมาณกว่า 90,000 คน ที่ยังติดอยู่ในค่ายพักพิง ซึ่งตามกฎหมายไทย พวกเขาต้องกินอยู่ เติบโต เเละตายในพื้นที่พักพิงเท่านั้น จะมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถเดินทางออกจากพื้นที่พักพิงไปทำงานข้างนอกได้
ประเด็นคำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมรัฐบาลจึงไม่ให้พวกเขาทั้งหมดได้กลับไปพิสูจน์สัญชาติที่เมียนมา เเละกลับมาทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถกระทำได้แล้ว เนื่องจากเกิดรัฐประหารในประเทศเมียนมา เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำคือ ปิดศูนย์พักพิงแล้วเปิดเป็น One Stop Service ให้ผู้ลี้ภัยจดทะเบียนสัญชาติเเละทำงานในประเทศไทยได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเก็บภาษีได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องแยกให้ออกระหว่างขบวนการนำพากับขบวนการค้ามนุษย์ เพราะทั้งสองกรณีต้องอาศัยการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน และควรใช้เวทีหารือร่วมกันระหว่างประเทศ (Culture Migrant Smuggling Policy) พร้อมทั้งใช้นโยบายที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการป้องกัน เพื่อให้ครอบคลุมทั้งประเทศในภูมิภาคที่เกี่ยวข้องเเละประเทศมหาอำนาจ
อีกกรณีศึกษาที่ควรนำมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาคือ การใช้ Trafficking in Persons Report (TIP Report) หรือการรายงานการค้ามนุษย์เป็นรายบุคคลในสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงควรจะใช้เวทีนี้ในการเป็นผู้นำในการนำเสนอให้ได้ว่า การค้ามนุษย์เป็นสิ่งที่ต้องมีการเปลี่ยนเเปลง โดยการเชิญชวนประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมแก้ไข
“อย่ามองว่าเป็นการชักศึกเข้าบ้าน หรือทำให้เสียศักดิ์ศรี แต่ให้มองว่าเป็นการเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สำหรับกลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ซึ่งจะสร้างความภูมิใจให้แก่ประเทศไทยได้ว่า เราสามารถแก้ปัญหาให้แก่มนุษยชาติได้”
ทางด้าน ผศ.อาทิตย์กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อเสนอแนะในมิติการเมืองระหว่างประเทศว่า นอกจากการทำงานร่วมกับประเทศภายนอกแล้ว ควรจะมีการทำงานร่วมกับประเทศมุสลิมให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะชาวโรฮิงญามีความเป็นพวกพ้องเดียวกันกับประเทศมุสลิม อีกทั้งตามหลักศาสนาอิสลาม การช่วยเหลือมนุษย์คนหนึ่งนั้นมีค่าเท่ากับการช่วยเหลือมนุษยชาติทั้งหมด จึงเห็นสมควรที่รัฐบาลควรจะร่วมมือกับประเทศมุสลิมให้มากขึ้น
ปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ของ OIC (Organisation of the Islamic Cooperation) หรือองค์กรความร่วมมืออิสลาม โดยสามารถใช้วาระนี้ในการร่วมผลักดันเข้าไปในที่ประชุมดังกล่าว เพื่อให้ไปได้ไกลกว่าภูมิภาคอาเซียน และเพื่อจะได้ไม่ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศจีนต่อไป ถึงแม้ในทางปฏิบัติประเทศไทยจะยังไม่มีความร่วมมือกับประเทศตะวันตกที่เข้มข้นพอ แต่แนวทางนี้จะช่วยยืนยันเเละเป็น soft power ได้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีคนมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก
ผศ.อาทิตย์เสนอด้วยว่า รัฐบาลควรใช้จุดนี้เป็นโอกาสที่จะเเสดงให้โลกเห็นว่า มีการผลักดันเรื่องนี้ โดยการทำเรื่องกฎหมายผู้ลี้ภัย (refugee) ที่ไม่ต้องไปลงนามกับใคร จัดทำได้ในทันที ซึ่งจะยิ่งช่วยส่งเสริมให้จุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเข้มเเข็งขึ้น และอาจช่วยให้เกิดกระบวนการพัฒนาได้ในภายหลัง หากสามารถหลุดจากกรอบกับดักชาตินิยมที่ว่า ‘ทำไมเราต้องช่วย ทำไมต้องชักศึกเข้าบ้าน’ ได้ จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเป็นไปได้ในอีกหลายรูปแบบ
Author
มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม