วันพุธ ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 06.00 น.
นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมงกล่าวว่า ได้ใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ ด้วยการกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูงจับสัตว์น้ำจืดในช่วงเวลาและพื้นที่น้ำจืดพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้ฟื้นตัวเกิดขึ้นใหม่ทดแทนและดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับมาตรการปิดอ่าวของฝั่งทะเล และจากการเก็บข้อมูลทางวิชาการพบว่าสภาพภูมิอากาศ และปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่ยังคงสอดคล้องกับชีววิทยาการสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำจืดซึ่งส่วนใหญ่มีการวางไข่อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน จากผลการประเมินทางวิชาการมาตรการฤดูน้ำแดง ปี 2564 พบว่าปริมาณพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำมีความใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ผ่านมาส่งผลให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดมีโอกาสได้สืบพันธุ์วางไข่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับข้อมูลจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ระบุว่า สภาวะลานีญา จะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ทำให้ช่วงนี้มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนทั่วทุกภาคของประเทศไทยสูงกว่าปกติ นั่นหมายถึงว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำแดง และเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาสัตว์น้ำ และระบบนิเวศเกิดความยั่งยืน ตามมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ (ฤดูน้ำแดง)กรมประมง จึงเห็นควรใช้ประกาศฉบับเดิมบังคับใช้กฎหมายออกเป็น 3 ระยะตามความเหมาะสมของระบบนิเวศแต่ละพื้นที่ โดยห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ในห้วงเวลาและพื้นที่ ดังนี้ วันที่ 16 พฤษภาคม-15 สิงหาคม 2565 พื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 1 มิถุนายน-31 สิงหาคม2565 พื้นที่ 39 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภูขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคามกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทองพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรีสระบุรี นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานครสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ส่วนวันที่ 1 กันยายน-30 พฤศจิกายน 2565 พื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา