วันศุกร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 17.43 น.
“จาตุรนต์”ชี้การเมืองไม่สงบแม้ไม่มีม็อบ หวั่นโควิด คนไทยรับฉีดวัคซีนล่าช้า ส่งผลเงินท่องเที่ยวต่างชาติไม่ไหลเข้าไทย คาดอีก 6 เดือนประเทศอื่นฟื้นตัว
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่านักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ระดับสูง (พตส.) จัดเสวนา หัวข้อ “การเมืองไทยปี 64 ไปต่ออย่างไร” โดยมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี , นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ร่วมเป็นวิทยากรการเสวนา
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การเมืองไทยจะอยู่ได้หรือไม่ต้องดูจากรัฐบาล รัฐสภา และภาคประชาชน ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา เกิดกระแสความรู้สึกอยากเปลี่ยนรัฐบาล เพราะเห็นว่ารัฐบาลมีปัญหาในเรื่องของการบริหาร ปกป้องพวกพ้อง และทุจริต จึงเกิดกระแสต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล และล่าสุดก็ได้มีการลงมติให้มีการตั้ง สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง
ขณะที่ภายนอกสภาแม้มีกระแสโควิด-19 และมีการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ใช้ควบคุมโควิด-19 มาใช้กับผู้ชุมนุมจึงไม่มีการชุมนุมภายนอก แต่ก็ไม่ทำให้การเมืองสงบร่มรื่น ทั้งนี้ มองว่าปัญหาใหญ่คือความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่มีผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และไทยต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าไม่เกิน 6 เดือนหลังจากนี้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มฟื้นตัว แต่การที่รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนฉีดให้กับคนไทยล่าช้า ดังนั้น จะส่งผลต่อการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และประเทศอื่นๆที่ฉีดวัคซีนแล้วก็อาจจะประกาศห้ามเดินทางมาไทย อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการส่งเสริมการส่งออกหน้ากาก อุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเต็มที่ เนื่องจากเรายังมีขีดความสามารถ และการส่งออกด้านอื่นๆเพื่อให้เม็ดเงินจากการส่งออกไม่เป็นตัวฉุดจีดีพีของประเทศ
ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นนั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ต้องจับตาดูว่าฝ่ายค้านจะมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนและอภิปรายได้ดีกว่าครั้งที่แล้วหรือไม่ แต่ไม่เชื่อทฤษฎีความขัดแย้งว่าช่วงเวลานี้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคถอนตัว หรือนายกฯ ชิงยุบสภาเพื่อให้ได้เปรียบ และหนีกติกาใหม่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่เป็นคุณกับรัฐบาล
พร้อมกันนี้ นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะต้องไม่มีการปิดกั้นผู้ที่เห็นต่าง กระบวนการร่างรัฐบาล และพรรคร่วมไม่ควรเข้าไปแทรกวง แต่ควรเปิดให้หลายฝ่ายเสนอความเห็นและรณรงค์ความเห็นต่างได้ ไม่ห้ามแก้ไขในประเด็นที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้ ทั้งนี้ ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาแค่เสียงข้างมากซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงผู้ที่ไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าเขาจะเห็นด้วย ดังนั้น ต้องทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นความหวังไม่ใช่ความฝัน