ค้นความจริง‘โนรา’มาจากไหน?
เปิดหลักฐานนาฏศิลป์ไทย
‘ไม่ได้นับ1ที่สุโขทัย’
แซ่บต่อเนื่องไม่มีแผ่ว สำหรับรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูร้อนเช่นนี้ที่ทั้ง ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือมติชน ขยันเปิดประเด็นท้าทายองค์ความ (ไม่) รู้เดิมในสังคมไทย ดังเช่นตอนที่ออนแอร์ล่าสุดอย่าง ‘นาฏศิลป์ไทย ไม่อินเดีย โนรา ละครอยุธยาลงใต้’ นัดหมายหน้าพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร ซึ่งในอดีตคือพื้นที่ ‘วังหน้า’
ทว่า ไร้เงา ขรรค์ชัย หัวเรือใหญ่ค่ายมติชนซึ่งฝาก เอกภัทร์ เชิดธรรมธร บอกแฟนๆ รายการว่าขอ ‘ลากิจ’ ชั่วคราว ด้าน สุจิตต์ เย้าว่า อนุมัติให้ 1 ครั้ง ครั้งหน้าต้องกลับมาเจอกัน
จากนั้น ไม่รอช้า คว้าภาพถ่ายเก่า พ.ศ.2489 ออกโชว์เพื่ออธิบายความว่าเหตุใดจึงเลือกมาเช็กอินพิกัดนี้
“มาเริ่มถ่ายทำตรงนี้ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการนาฏศิลป์ไทยตั้งแต่ยุคแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองหลัง พ.ศ.2475 โดยมีการก่อตั้งกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2477 สมัยนั้นยังไม่มีโรงละครแห่งชาติ เวลามีการแสดงละคร จึงมาใช้หอประชุมกรมศิลปากร เล่นไปนานๆ จึงเปลี่ยนเป็นโรงละครศิลปากร ตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกับพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน คือจุดที่เป็นอาคารดำรงราชานุภาพในปัจจุบัน”
ความรู้จาก‘ครู’ใน‘วงเหล้า’
หน้า‘สังคีตศาลา’เมื่อ 5 ทศวรรษก่อน
เล่าย้อนอดีตจบ ไม่ต้องกลัวไม่ครบเครื่อง สุจิตต์ ชิงเปิดภาพถ่ายฉายให้เห็นฝูงชนต่อคิวรอชมละครหน้าโรงละครดังกล่าวซึ่งยังเป็นเรือนไม้ในยุคที่โรงละครแห่งชาติยังไม่เกิด กระทั่ง พ.ศ.2503 เกิดไฟไหม้ จึงสร้างใหม่โดยใช้เวลาราว 5 ปี แล้วเสร็จใน พ.ศ.2508 ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร เปิดเป็น ‘โรงละครแห่งชาติ’ ดังที่รู้จักกันในปัจจุบัน
“ปลายพฤศจิกายน หลังฝนหมดแล้ว จะมีการแสดงที่สังคีตศาลา บริเวณสนามหญ้าหน้าโรงราชรถ ตั้งเวทีเล็กๆ พอผมเข้าเรียนคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เป็นลูกค้าประจำ เสาร์-อาทิตย์ ต้องมา ไม่ได้มาดูอะไรนักหนาหรอก มานั่งขัดสมาธิกินเหล้า (หัวเราะ) ยุคนั้นมีอยู่ร้านหนึ่ง ขายเหล้าด้วย นอกนั้นก็เป็นพวกขนม มาอาศัยผู้หลักผู้ใหญ่ อย่างครูเสรี หวังในธรรม ครูเทียบ คงลายทอง ครูยอแสง ภักดีเทวา ครูแจ้ง คล้ายสีทอง หนึ่งในหัวโจกผู้ทำหน้าที่ซื้อโซดาคือ ครูมืด ปราสาท ทองอร่าม ตอนนั้นยังเรียนชั้นประถม ผมก็ได้ความรู้จากวงเหล้าสังคีตศาลา เรื่องดนตรีไทยบ้าง เรื่องโขนละครบ้าง” สุจิตต์เล่าเมื่อทอดน่องจากหน้าพระที่นั่งศิวโมกขพิมานมายืนกลางสนามหญ้าของ พช.พระนคร ที่มีฉากหลังคือโรงราชรถและอาคารโรงละครแห่งชาติ ถนนราชินี
ก่อนเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการ
‘พระพิฆเนศ’คือเทวดาของประชาชน
จากจุดนี้ หนึ่งใน 2 กุมารสยามฉายเดี่ยวมุ่งหน้าเลาะรั้ว สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ซึ่งเขยิบออกไปไม่ไกล ปักหลักนั่งบอกเล่าเรื่องราวบนเก้าอี้เยื้องประติมากรรมพระพิฆเนศองค์ใหญ่ ซึ่งคนไทยเชื่อว่าเป็นเทพแห่งศิลปวิทยาการ ทั้งยังมองเห็น พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้าอยู่ในเฟรมเดียวกัน
ก่อนเข้าสู่เรื่องราวของ ‘โนรา’ เมื่อมาถึงตรงนี้ สุจิตต์ ผู้ประกาศนับถือศาสนาผี แต่เทปนี้สารภาพว่า เคารพบูชาพระพิฆเนศ ‘เพราะท่านเป็นเทวดาของประชาชน’
“พระพิฆเนศในฐานะเทพแห่งศิลปวิทยาการคือสิ่งที่สถาปนาขึ้นใหม่สมัย ร.6 แล้วเราใช้ความหมายนี้มาจนถึงปัจจุบัน เดิมไม่ใช่อย่างนั้น ท่านไม่ได้ถนัดฟ้อนรำ พระพิฆเนศในความหมายเดิมและเป็นสากลคือเทพเจ้าผู้ขจัดอุปสรรค พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ หากจะคิดริเริ่มทำงานอะไรให้บอกพระพิฆเนศ นักเดินเรือยุคดั้งเดิม เชิญพิฆเนศไปในเรือ เพื่อขจัดอุปสรรคจากคลื่นลม” สุจิตต์เล่า
ไม่เพียงเท่านั้น ยังย้อนความทรงจำครั้ง ขรรค์ชัย ลี้ภัย (ทางการเมือง) ไปอินเดียใต้ โดยมีเหตุการณ์ที่ทำให้ตนสนใจในเรื่องราวของพระพิฆเนศมากยิ่งขึ้น
“คราวหนึ่งขรรค์ชัยลี้ภัยไปอยู่อินเดียใต้ โทรศัพท์มาบอกให้ผมเอาพริกขี้หนูไปให้หน่อย ผมก็เอาพริกขี้หนูใส่กระเป๋าอย่างดี ยาววาหนึ่ง ขึ้นเครื่องบินไปหา แล้วไม่รู้จะทำอะไรดี เลยตามรอยศาสตราจารย์ มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (อดีตคณบดีคณะโบราณคดี) ซึ่งท่านสอนวิชาศิลปะอินเดีย ผมไปเห็นคนแกะสลักพระพิฆเนศ ตามตลาด ตามหมู่บ้าน มีหลายท่ามาก ทั้งนั่ง นอน กางร่ม ตอนนั้นรู้สึกว่า เฮ้ย! ทำไมพระพิฆเนศสนุกอย่างนี้ แล้วชาวบ้านจะขอลูก ขออะไรจากพระพิฆเนศก็ได้ เป็นเทวดาที่ไม่ถือตัว พอผมกลับมา เลยบอกไมเคิล ไรท์ ให้ช่วยหาข้อมูลว่าพระพิฆเนศแปลกๆ ทั้งหมดนี้มีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร ไมเคิล ไรท์ ก็ทำฉบับย่อให้พิมพ์เป็นเล่มเมื่อปี 2548” สุจิตต์เล่า
นาฏศิลป์ไทยไม่ได้เริ่มที่สุโขทัย
ไม่ได้มาจากอินเดียยกแผง
จากนั้น ยิงหมัดตรงสู่เรื่องราวของนาฏศิลป์และโนรา โดยยืนยันว่า นาฏศิลป์ไทยไม่ได้เริ่มต้นที่สุโขทัย แต่เริ่มต้นเมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว และไม่ได้รับจากอินเดียทั้งหมดอย่างที่มักพูดกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน แต่เป็นบ้านเมืองใหญ่โตระดับรัฐเล็กๆ มาก่อน เพราะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อินเดียมาซื้อทองแดงไปขายกรีก คำว่า ‘สุวรรณ’ ในชื่อ ‘สุวรรณภูมิ’ ก็หมายถึงทองแดง ไม่ใช่ทองคำ
“การร้องรำทำเพลงมีมาก่อนอินเดียเข้ามา นาฏศิลป์ไทยไม่ได้มาจากจิทัมพรัม ในอินเดียใต้ โขนทั้งเรื่อง มีความเป็นอินเดียแค่ 2 อย่างคือ 1.เนื้อเรื่องซึ่งมาจากรามายณะ 2.เครื่องประดับ ท่วงท่าต่างๆ เช่น ถีบเหลี่ยม แยกขา ทั้งในโขน และโนรา ก็ไม่มีในอินเดีย แต่เหมือนท่ากบซึ่งปรากฏในภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ การไหว้ครู ก็ไม่มีในอินเดีย แต่เป็นการไหว้ผีแบบพื้นเมือง พิธีครอบครู เป็นความเชื่อเรื่องผีขวัญผสมพราหมณ์”
หมื่นระบำบรรเลง (คล้าย พรหมเมศร์) ครูโนรา นครศรีธรรมราช ทำท่า ‘กินนร’ และ ‘เขาควาย’ หรือราหูจับจันทร์
‘โนรา’ที่ภูมิใจ
คือละครนอกของ‘อยุธยา’ที่แพร่ลงใต้
คอลัมนิสต์ผู้ไม่นิยมติดกระดุมเสื้อเชิ้ตลายสก๊อต ยังบอกอีกว่า สำหรับโนราที่รู้จักกันในปัจจุบัน มีที่มาจากละครนอกสมัยอยุธยา แล้วแพร่ลงไปทางภาคใต้
“โนรา คือละครนอกของอยุธยาที่แพร่ลงไปภาคใต้ เดิมเป็นละครที่เล่นให้ชาวบ้านดู ส่วนราชสำนักนิยมเรื่องอุณรุท รามเกียรติ์ และพระรถเมรี ความสนุกของละครนอกคือการโต้ตอบ การเหน็บเล็กเหน็บน้อย เป็นความบันเทิงที่เข้าถึงใจคน จึงแพร่หลายมาก ลงไปถึงทางใต้ ต่อมา เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก แล้วมีการสถาปนากรุงเทพฯ นาฏศิลป์มีพัฒนาการไปในด้านต่างๆ แต่ทางภาคใต้ซึ่งเคยรับอิทธิพลไปยังคงเก็บรักษาไว้ จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังเหมือนเดิม มีหลักฐานในภาพถ่ายเก่าในยุคนั้น ท่ารำยังเป็นท่าแบบเดียวกับสมัยอยุธยา คือ ยืดยุบ ในภายหลังจึงค่อยมีการนำท่าจากอินเดียมาใส่ แต่ก็ไม่ใช่ท่าหลักแต่อย่างใด” สุจิตต์กล่าว ก่อนเอื้อนเอ่ยประเด็นสำคัญสกัดดราม่า โดยเน้นย้ำว่า
นี่คือสิ่งที่ภาคใต้สามารถภาคภูมิใจได้ว่าสามารถเก็บรักษาความดั้งเดิมมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร
คืนนี้มีนัด!
2 ทุ่ม 28 เมษายน พฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน
รับชมรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอนล่าสุด ‘คนกรุงเทพฯ ร้อยพ่อพันแม่ จากบางกอก ถูกบังคับเป็นไทย’
เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรมและยูทูบมติชนทีวี
ชวนทอดน่องยัง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เปิดไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์สร้างกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่ประกอบขึ้นด้วยผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ โชว์หลักฐานทั้งเอกสารและภาพถ่ายเก่าฉายชีวิตประชากรบนเรือนแพริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฟากฝั่ง กระทั่งประเด็น ‘สำเนียงบางกอก’ ซึ่งแตกต่างจาก ‘สำเนียงกรุงศรีอยุธยา’
นอกจากนี้ ยังชวนแฟนรายการให้ร่วมทวงถามถึง ‘พิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯ’ ที่ไม่เคยมี และยังไม่มีวี่แววว่าจะมี แม้เป็นเมืองใหญ่ที่มีประชาชนตามทะเบียนราษฎร์กว่า 10 ล้าน พัฒนาการเพิ่มพูนจากบันทึกของสังฆราชปัลเลอร์กัวซ์ สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งระบุไว้เพียง 4 แสน จาก 6 ล้านของชาวสยามทั้งประเทศ