เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก เวทีคุยเรื่องถนน “จบเทศกาลปีใหม่…ใครได้ไปต่อ”
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ผ่านพ้นไปอีกครั้งกับเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่ควบคู่มากับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 สิ่งหนึ่งที่ยังคงเฝ้าระวังไม่แพ้โรคระบาด นั่นคือ อุบัติเหตุบนท้องถนน ที่คร่าชีวิตและทรัพย์สินไม่แพ้โควิด-19 เลยทีเดียว
ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุป 7 วันอันตรายการรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 2,707 ครั้ง เสียชีวิต 333 ราย บาดเจ็บ 2,672 คน สาเหตุหลักมาจากการขับรถเร็วและเมาแล้วขับ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (96 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดได้แก่ กรุงเทพมหานคร (22 ราย) และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี (จังหวัดละ 93 คน) ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลยมี 9 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครนายก ปัตตานี พังงา ยะลา สตูล สมุทรสงคราม สุโขทัย และแพร่
จึงเป็นที่มาของเวทีคุยเรื่องถนน “จบเทศกาลปีใหม่…ใครได้ไปต่อ” โดย สอจร. แผนงานสนับสนุนป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อถอดบทเรียนอุบัติเหตุจากเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา
“จบเทศกาลปีใหม่…ใครได้ไปต่อ” เป็นคำถามที่ถามกลับมายังทุกคนที่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา เชื่อว่า เราเป็น 1 ในหลายพันคนที่มีโอกาสได้ไปต่อเช่นกัน
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ 2565 มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าปีที่แล้ว ตัวเลขทุกอย่างลดลงหมด ทั้งในเรื่องของอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้บาดเจ็บ แต่ที่หนักขึ้นกว่าเดิม คือ เรื่องความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
โดยสาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ได้แก่
1.ความเร็ว
2.ตัดหน้ากระชั้นชิด
3.ดื่มแล้วขับ
รศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวต่อว่า ปีนี้ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่เรายังต้องเน้นในเรื่องของความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงของอุบัติเหตุที่พบบ่อยในปีนี้ส่วนใหญ่ คือ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยและไม่สวมหมวกกันน็อก และยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ คือ รถจักรยานยนต์ อีกอย่างคือ การเสียชีวิตเพราะถูกรถที่ดื่มแล้วขับมาชน
“ในเรื่องการดื่มแล้วขับ ปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายค่อนข้างเข้มข้น มีมาตรการต่าง ๆ เข้ามาดูแลจัดการ แต่ในขณะเดียวกัน อุบัติเหตุช่วงกลางคืนพุ่งสูงมาก อาจจะเป็นพฤติกรรมเสริม เช่น เวลาคนขับเมา ก็จะขับรถเร็ว ความเร็วเป็นตัวการใหญ่เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ถ้าเราลดความเร็วลงได้ ปัญหาอุบัติเหตุก็จะหมดไป” รศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวว่า 3 สาเหตุดังกล่าวที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุนั้นเป็นสาเหตุที่เจอทุกเทศกาล ดังนั้น มาตรการในการดูแลและกวดขันเรื่องอุบัติเหตุและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรจะเป็น ดังนี้
1.ตรวจเลือดของผู้ที่ไม่สามารถเป่าเพื่อวัดระดับแอลกอฮอล์ได้
2. หากใครเคยมีคดีเมาซ้ำ ต้องมีมาตรการจัดการ
ปัจจัยเสี่ยงที่ถูกพูดถึงกันอยู่อย่างต่อเนื่องในเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุ นั่นคือ ความเร็ว นพ.อนุชา กล่าวเสริมว่า ความเร็วเป็นฐานของทุกอย่าง เมื่อความเร็วบวกกับการดื่ม การตัดหน้ารถ ความง่วง แสงสว่างไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุแทบทั้งสิ้น
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการเฝ้าระวังอุบัติเหตุ สนับสนุนเครือข่ายอาสาสมัครจราจรช่วยชุมชนช่วยสกัดไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ลดการใช้ความเร็ว สวมหมวกนิรภัย สกัดคนเมา
หากคุณยังได้อ่านบทความนี้ โปรดรู้ว่าการที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามย้ำเตือนเรื่องอุบัติเหตุอยู่เสมอ ไม่ได้มีเจตนาใดมากไปกว่าไม่อยากให้มีความสุญเสียเกิดขึ้นกับใครทั้งนั้น เพราะอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ถ้าไม่ประมาท หากเรารู้จักป้องกัน ไม่ขับรถเร็ว ดื่มไม่ขับ และใช้อุปกรณ์ป้องกันนิรภัยอยู่เสมอ คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ทุกคนได้ไปต่ออย่างแน่นอน ยังมีเทศกาลอื่น ๆ ที่รอให้เราได้ไปต่ออยู่อีกมากมาย มาร่วมกันลดตัวเลขความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน