หลังจากมีผู้ไปตั้งแคมเปญรณรงค์ใน www.change.org ขอให้ใช้เลขอารบิกในเอกสารราชการไทยแทนตัวเลขไทย โดยอ้างเหตุผล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เป็นสากล และส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและประมวลผลข้อมูลดิจิทัล ทำให้เกิดการออกมาถกเถียงของกลุ่มที่เราอาจแบ่งได้ว่า ระหว่าง “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” และ “ฝ่ายก้าวหน้า”
แคมเปญนี้ ตั้งขึ้นมาสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กทม.) ของกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศผลนับคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ด้วยตัวเลขไทย อีกทั้งยังเป็นไฟล์พีดีเอฟ ส่งให้กับสื่อมวลชน ซึ่งสื่อที่นำมาใช้งานต้องมาพิมพ์เป็นเลขอารบิกอีกต่อหนึ่ง
นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้ก่อตั้งบริษัทโอเพ่นดรีม ผู้ตั้งแคมเปญนี้ใน change.org ให้เหตุผลถึงการเริ่มต้นการรณรงค์ว่า การใช้เลขไทยในเอกสารดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขเพื่อการคำนวณเป็นการขัดขวางความเจริญของงานประมวลผลเอกสารดิจิทัลด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งคงต้องได้เวลาที่รัฐจะต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลงการใช้เลขไทยให้ถูกที่ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน
“ผลของการการใช้งานอย่างบ้าไม่บันยะบันยังไม่รู้กาลเทศะนั้น ทำให้เกิดการใช้เลขไทยที่วิปริตผิดที่ผิดทางในเอกสารราชการกันเป็นอย่างมาก เช่น คำว่า ๕G, Windows ๑๐ หรือแม้กระทั่ง URL ที่ใช้งานไม่ได้จริง”
หลังจากเรื่องนี้เป็นกระแสในโซเชียล ทำให้มีผู้ออกมาแสดงความเห็นหลากหลาย เช่น น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียนและนักแปล โพสต์บนเฟซบุ๊กว่าสนับสนุนแคมเปญนี้ เพราะเห็นว่า “คุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคนที่ต้องวิเคราะห์หรือเกี่ยวข้องกับข้อมูลของรัฐจะดีขึ้นมาก”
ขณะที่เฟซบุ๊กของพรรคไทยภักดี โพสต์ภาพของ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณาจารย์สถาบันทิศทางไทย พร้อมกับโควตคำพูดว่า “จะได้ใช้เลขไทย จบนะ” พร้อมกับตัวเลขไทย 1-10 โดยที่ในมุมด้านซ้ายมีโฆษณาขายเสื้อพรรคไทยภักดีในราคาที่เขียนเป็นเลขอารบิก ก่อนมีการเปลี่ยนภาพใหม่โดยใช้เลขไทย
ความเป็นมาของเลขไทยที่ใช้ในหนังสือราชการเกิดมาในยุคไหน และเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเลขไทยมีอะไรบ้าง
เลขไทยมีที่มาจากเลขเขมรและเลขอินเดียใต้
ประวัติการเกิดขึ้นของตัวเลขไทยที่ใช้กันในปัจจุบัน วารสารราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 เดือน ม.ค.-มี.ค. 2545 ระบุว่า อักษรไทยและตัวเลขไทย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงริเริ่มนำมาใช้เป็นภาษาของชาติไทย ทรงนำอักษรขอม (เขมร) มาดัดแปลง และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาตามยุคสมัยจนถึงแบบกันที่ใช้ในสมัยนี้
วารสารราชบัณฑิต ระบุด้วยว่า เช่นเดียวกับตัวเลขอารบิกที่ชาวตะวันตกนำไปใช้ ก็มีต้นตอจากอินเดียและมีวิวัฒนาการจนมีรูปสัณฐานดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ชาวขอมที่เป็นต้นตำรับภาษาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นกลุ่มนักปราชญ์ชาวอินเดียที่อพยพหนีภัยการเมืองเข้าไปอยู่ในประเทศเขมรหรือกัมพูชาในปัจจุบัน และบางกลุ่มได้เข้าไปอยู่ในดินแดนประเทศไทย ดังนั้น ตัวเลขไทยและตัวเลขอารบิกในปัจจุบัน จึงมีต้นตออักษรตัวเลขชุดเดียวกันคือ จากอักษรเทวนาครี
ข้อถกเถียงทางวิชาการเกี่ยวกับที่มาของเลขไทย นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ยังเคยสืบค้นไว้ว่า เลขโบราณใน “จารึกเขมร” สมัยก่อนเมืองพระนคร ซึ่งมีรูปแบบตัวอักษรที่รับมาจาก อักษรอินเดียใต้ (หรืออักษรสมัยราชวงศ์ปัลลวะ) ได้วิวัฒนาการเป็นเลขเขมรสมัยเมืองพระนคร และจากเลขเขมรโบราณสมัยเมืองพระนคร ก็ส่งอิทธิพลต่อเลขไทยสมัยสุโขทัย ซึ่งปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหง
ผู้เขียนอธิบายด้วยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ก็น่าจะสรุปได้ว่า “เลขอินเดียใต้ (ราชวงศ์ปัลลวะ)” เป็นที่มาของเลขที่ใช้ในดินแดนอุษาคเนย์ทั้งหมด รวมทั้งเลขที่ใช้ในอาณาจักรทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย
ต่อมาเลขอินเดียใต้ได้วิวัฒนาการกลายเป็นเลขเขมรโบราณสมัยเมืองพระนคร เป็นลักษณะเฉพาะ แล้วจากนั้นจึงส่งอิทธิพลมายังเลขไทยสมัยสุโขทัย จากนั้นจึงกลายเป็นเลขไทยในปัจจุบัน ด้วยการอธิบายตามวิวัฒนาการของรูปแบบตัวอักษร (Palaeography) ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
ส่งเสริมให้ใช้ในเอกสารราชการเมื่อปี 2543 สมัยรัฐบาลชวน
หลักฐานของใช้ตัวเลขไทยในเอกสารหนังสือของราชการ มาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2543 ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ซึ่งขอความร่วมมือให้ส่วนราชการไทยใช้เลขศักราชเป็นเลขปีพุทธศักราชในกิจกรรมทุกด้านของหน่วยงานราชการ เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เลขไทย
คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ในสมัยนั้น โดยระบุว่า เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกของประชาชนชาวไทยในการอนุรักษ์เอกลักษณ์ของชาติ เพื่อมิให้วัฒนธรรมต่างชาติครอบงำ
“ได้มีการพิจารณาศึกษาการใช้เลขศักราชของหน่วยราชการที่มีการใช้เลข 2000 กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เนื่องจากมีกระแสวัฒนธรรมต่างชาติครอบงำ กิจกรรมแทบทุกด้านของภาคเอกชนมีการใช้เลขศักราชเป็น 2000 เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง อันอาจจะส่งกระทบต่อเอกลักษณ์ของไทยในอนาคต จนกลายเป็นปัญหาที่จะแก้ไขได้ยาก” ข้อความจาก กมธ. การศาสนาฯ ที่ส่งไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ เมื่อ 16 ก.พ. 2543
เอกสารบันทึกมติ ครม. ปีดังกล่าว ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้พุทธศักราชหรือ พ.ศ. ด้วยว่า เกิดจากพระราชดำริและพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามประกาศวิธีนับวันเดือนปี ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 131 เป็น พ.ศ. 2455 ต่อมามี พ.ร.บ. ปีประดิทิน พ.ศ. 2483 ใช้บังคับก็ยังคงใช้เลขปีศักราชเป็นปี พ.ศ. ต่อไป
ส่วนการใช้ พ.ศ. ในการออกหนังสือราชการทั่วไป เริ่มใช้เมื่อปี 2526
มีข้าราชการร้องเรียนเมื่อปี 2554
ระบบห้องสมุดเอกสารสาธารณะอ้างอิงเพื่อการพลิกโฉมรัฐบาลไปสู่ดิจิทัลของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บันทึกว่า หลังจากมีมติ ครม. ให้ใช้ หน่วยราชการจึงให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ก็สร้างปัญหาให้กับเอกสารหลายลักษณะ เช่น การใช้เลขไทยผสมกับคำภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศไทย เช่นคำว่า ASEAN+๖ หรือ การใช้เลขไทย กับข้อมูลในกระดาษทำการ (Spreadsheet) อันส่งผลให้ระบบประมวลผลเกิดความผิดพลาด
ข้าราชการจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายหนึ่ง ร้องเรียนเข้าไปยังระบบสอบถามข้อมูลออนไลน์ สำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน มี.ค. 2554 เกี่ยวกับปัญหาการใช้เลขไทย ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เช่น ตารางข้อมูลตัวเลข คำเฉพาะ การเซ็นชื่อของผู้บังคับบัญชาที่ลงตัวเลขอารบิกแล้วถูกธุรการกลับไปแก้ใหม่ รวมทั้งความชัดเจนเรื่องเอกสารแนบ
ระบบข้อมูลของสำนักนายกฯ ได้ชี้แจงว่า การใช้เลขไทยในหนังสือราชการนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละส่วนราชการ ในบางกรณีตัวเลขไทยอาจไม่เอื้อต่องานบางประเภท เช่น งานการเงิน งานวิเคราะห์ตารางตัวเลข หรืองานที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศ ส่วนราชการก็สามารถพิจารณาใช้เลขอารบิกได้ โดยไม่เป็นการบังคับว่าส่วนราชการจะต้องใช้เลขไทยอย่างเดียวเท่านั้น