นำเพลงสรรเสริญไชยมงคล รัชกาลที่ 5
แสดงที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ฉลองมรดกโลก 30 ปี
ถึงวันนี้พบว่ามีเพลงที่ชื่อ “สรรเสริญพระบารมี” 5 ฉบับด้วยกัน แต่ละฉบับมีทั้งทำนองและเนื้อร้องที่แตกต่างกัน แนวการบรรเลงที่แตกต่างกัน บางทำนองถูกนำมาเรียบเรียงใหม่หลายครั้ง และทำให้มีข้อมูลที่สับสน เพราะหลายคนเชื่อว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมี” มีเพียงฉบับเดียว
เพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับแรก ชื่อ “เพลงสรรเสริญพระนารายณ์” เพลงบทนี้นำทำนองมาจากเพลงสายสมร ในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ พ.ศ.2230 ทำนองถูกเรียบเรียงและบรรเลงใหม่โดยไมเคิล ฟุสโก (Michael S. Fusco) ครูแตรที่วังหลวง เป็นชาวอิตาเลียนที่เข้าร่วมในสงครามกลางเมืองอเมริกัน มาสยามกับเรือเทนเนสซี เมื่อ พ.ศ.2420 ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นผู้ควบคุมวงกองดุริยางค์ทหารเรือ ปี พ.ศ.2431 ทำแตรวงแสดงที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ได้สิ้นชีวิต พ.ศ.2445 อยู่ในสยาม 25 ปี
โน้ตเพลงสรรเสริญพระนารายณ์ ลงตีพิมพ์ในหนังสือ “สยามราชอาณาจักรแห่งช้างเผือก” (Hesse-Wartegg, Ernst von. Siam das Reich des Weissen Elefanten. Leipzing, 1899) หนังสือบันทึกการท่องเที่ยวของนักเดินทางชาวออสเตรีย “สยามราชอาณาจักรแห่งช้างเผือก” บอกเล่าเรื่องราวสังคมสยามสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2442 ในหนังสือมีโน้ตที่เขียนโดยฟุสโกอยู่ 2 เพลง คือ เพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับปัจจุบันและเพลงสรรเสริญพระนารายณ์ เป็นเหตุให้ชื่อเพลงสรรเสริญพระนารายณ์เป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา
เพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับที่สอง ชื่อ “เพลงจอมราชจงเจริญ” หรือเพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ ซึ่งใช้ทำนองเพลงก็อดเซฟเดอะควีน (God Save the Queen) ซึ่งเป็นเพลงชาติอังกฤษ เนื้อร้องโดยพระยาศรีสุนทรโวหารว่า “ความสุขสมบัติทั้งบริวาร เจริญพละปฏิภาณผ่องแผ้ว จงยืนพระชนมาน นับรอบร้อยแฮ มีพระเกียรติเพริศแพร้ว เล่ห์เพี้ยงจันทร” ใช้บรรเลงเป็นเพลงคำนับหรือเพลงเกียรติยศรับเสด็จ ระหว่าง พ.ศ.2395-2414 มีบุคคลสำคัญคือ ร้อยเอกโธมัส น็อกซ์ (Thomas George Knox) กับร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) ทหารอังกฤษผู้สอนแตรทหาร ซึ่งได้สงสัยค้นหาร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) มานาน แต่ก็ไม่มีตัวตน
ร้อยเอกอิมปีย์ (Sameul Joseph Ames) ชาวอังกฤษ เป็นครูฝึกทหารวังหลวง พ.ศ.2396 ใช้เพลงชาติอังกฤษ คำสั่งเป็นภาษาอังกฤษ ทหารสยามคุ้นเคยกับภาษาบาลีมากกว่า “สะเปร โบขะลัม พรหมะสันตาตุสันตา” สั่งว่า “Spread both columns from center to center” ต่อมาได้เป็นหลวงรัถยาภิบาลบัญชา เป็นผู้บังคับกองโปลิสคนแรกของสยามเมื่อ พ.ศ.2403 ร้อยเอกอิมปีย์เป็นต้นตระกูลเอมซ์บุตร เสียชีวิต พ.ศ.2444 อายุ 69 ปี
เพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับที่สาม คือ เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย มีครูดนตรีไทย 3 คน คือ ครูมีแขก ครูขุนเณร และครูกรกฎ โดยนำเอาเพลงบุหลันลอยเลื่อนมาปรุงแต่งเพื่อใช้บรรเลงเป็นเพลงคำนับและรับเสด็จ เรียกว่าเพลงสรรเสริญพระจันทร์ (สมัยรัชกาลที่ 6 เรียกว่าเพลงสรรเสริญเสือป่า) ใช้ระหว่าง พ.ศ.2415-2431
เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย ได้เรียบเรียงให้เป็นทางฝรั่งโดยเฮวุดเซน (Huvitzen, Heutsen, Hudson, Hoodson) เรียกกันว่าครูยุเซน เป็นครูแตรทหารมหาดเล็กในเวลานั้น เอาเพลงสรรเสริญพระบารมีไปแต่งแปลงกระบวนสำหรับให้แตรวงเป่าเป็นเพลงคำนับ เป่าแต่ท่อนเดียวเพื่อรับเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ เมื่อเป่าตลอดทั้ง 2 ท่อน รับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องของเฮวุดเซนเป็นอีกคนหนึ่งที่ยังสับสนว่า เป็นใครกันแน่
“เพลงกอดเสพธีควีน มิสเตอร์เฮวุดเซนครูแตรคนที่เอาเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่งเป็นเพลงแตรวงนั้น เป็นฝรั่งครึ่งชาติผิวคล้ำ สังเกตชื่อดูเหมือนจะเป็นเชื้อสายฮอลันดา อาจจะจ้างมาเมื่อเสด็จไปเมืองปัตตาเวียก็เป็นได้” จากสาส์นสมเด็จฯ
สรรเสริญพระบารมีฉบับที่สี่ คือฉบับปัจจุบัน แต่งโดยปโยตร์ อันเดรเยวิช ชูโรฟสกี (Pyotr Andreyevich Schurovsky, พ.ศ.2393-2451) โน้ตเพลงสรรเสริญพระบารมี ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2434 ในหนังสือรวมเพลงชาติต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งรวบรวมโดย ปโยตร์ ชูโรฟสกี เป็นวาทยกรและนักแต่งเพลงชาวรัสเซีย มีโน้ตเพลงประจำชาติต่างๆ กว่า 80 ชาติ หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ใน 3 ภาษา คือ รัสเซีย ฝรั่งเศส และเยอรมัน คำนำโดยสชูโรฟสกี เขียนบอกว่า ได้เก็บรวบรวมเพลงชาติต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้อย่างเคร่งครัด ได้ส่งคำขอโน้ตเพลงประจำชาติอย่างเป็นทางการไปยังประเทศต่างๆ ผ่านทางกงสุล สถานทูต หรือผู้มีอำนาจ โดยให้ยืนยันว่าบทเพลงทั้งหมดที่ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ ได้รับการรับรองจากทุกประเทศแล้ว ว่าเป็นเพลงประจำชาติของประเทศนั้นๆ จริง
สารบัญยังระบุว่า เพลงประจำชาติสยามนี้ ชูโรฟสกีได้เก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการ หมายถึงแต่งขึ้นอย่างเป็นทางการ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2431 ณ สถานทูตสยาม กรุงปารีส โดยรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทาน “กล่องยานัตถุ์ทำด้วยเงินสลักพระปรมาภิไธย” ให้กับชูโรฟสกี
ข้อมูลเดิมนั้น เพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับนี้ แสดงครั้งแรกที่หน้ากรมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหมปัจจุบัน เมื่อวันจันทร์ แรม 4 ค่ำ ปีชวด ตรงกับวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2431 แสดงพร้อมกับเพลงเขมรไทรโยค
ปโยตร์ ชูโรฟสกี พบกับนักเปียโนชาวเดนมาร์ก ชื่อ ฟริตซ์ เฮวุดเซน (Frits Seligmann Hartvigson) เป็นอาจารย์สอนเปียโนที่ราชวิทยาลัยดนตรีที่กรุงลอนดอน (the Royal College of Music in London) โดยที่ปโยตร์ ชูโรฟสกี ได้ขอให้เฮวุดเซนเล่นเพลงและส่งบทเพลงสรรเสริญพระบารมีไปยังกรุงสยาม
เฮวุดเซน เกิดวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2384 ที่เมืองจุตแลนด์ (Jutland) เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2462 ที่โคเปนเฮเก็น เฮวุดเซนเรียนเปียโนกับแม่ ในปี พ.ศ.2402 ไปเรียนเปียโนที่เบอร์ลิน พ.ศ.2407 ได้ย้ายไปที่ลอนดอน มีโอกาสแสดงเปียโนบ่อยที่วังคริสตัลและที่ราชสมาคมดนตรี วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2420 เล่นเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 1 ของไชคอฟสกี ที่เซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน (the St. James’s Hall) ระหว่าง พ.ศ.2415-2418 เฮวุดเซนอาศัยอยู่ที่รัสเซีย ไปแสดงเปียโนที่ลอนดอน ได้รับยกย่องให้เป็นอัศวินแห่งเดนมาร์ก
เฮวุดเซนคนนี้ ไม่มีหลักฐานว่าเดินทางมาที่เมืองยะโฮ ปัตตาเวีย หรือมาที่สยามแต่อย่างใด คำถามมีอยู่ว่า “Huvitzen” เป็นฝรั่งครึ่งชาติผิวคล้ำ สังเกตชื่อดูเหมือนจะเป็นเชื้อสายฮอลันดา อาจจะจ้างมาเมื่อเสด็จไปเมืองปัตตาเวีย เป็นใครกันแน่
เพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับที่ห้า คือ เพลงสรรเสริญถวายไชยมงคล รัชกาลที่ 5 เป็นเพลงที่ไมเคิล ฟุสโก เป็นผู้แต่งขึ้นใหม่ บรรเลงครั้งแรกวันที่ 15-16 กันยายน พ.ศ.2439 ในงานจัดเลี้ยงน้ำชา ที่ริมบันไดใหญ่ พระที่นั่งจักรี วังหลวง โดยมีไมเคิล ฟุสโก เป็นผู้ควบคุมแตรวงทหารเรือบรรเลง
เพลงสรรเสริญถวายไชยมงคล รัชกาลที่ 5 ฉบับนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สนอง คลังพระศรี ได้พบโน้ตเพลงฉบับเต็ม และมอบให้แก่อาจารย์กิตติ ศรีเปารยะ และมอบมาถึงผู้เขียนอีกทอดหนึ่ง จึงจะได้นำมาบรรเลงเป็นครั้งแรกหลังจากการบรรเลงครั้งแรก พ.ศ.2439 ครั้งนี้ก็เป็นการต่อชีวิตเพลงสรรเสริญถวายไชยมงคล รัชกาลที่ 5 ฉบับนี้
วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2565 ในโอกาสฉลอง 30 ปีมรดกโลก ที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย วงไทยซิมโฟนีออร์เคสตร้าจะนำบทเพลงสรรเสริญถวายไชยมงคล รัชกาลที่ 5 มาบรรเลงเพื่อรำลึกถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ส่งเจ้ากรมแผนที่ไปรังวัดพื้นที่ในภาคเหนือสุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ คณะสำรวจได้ยินวงปี่พาทย์ที่เมืองพิชัยเล่นเพลงฝรั่ง หัวหน้าช่างสำรวจคือ เจมส์ แมคคาร์ธี (James McCarthy) ชาวอังกฤษ มีชีวิตอยู่ปี พ.ศ. 2396-2462 เป็นช่างสำรวจแผนที่ เป็นเจ้ากรมแผนที่คนแรกของประเทศสยาม พ.ศ.2428
ในการแสดงครั้งนี้ ได้นำเพลง “ตับฝรั่ง” ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ในสงครามกลางเมืองอเมริกา ได้เข้ามาพร้อมๆ กับจาคอฟ ไฟต์ (Jacob Feit) พ่อของพระเจนดุริยางค์ และไมเคิล ฟุสโก อาทิ เพลง Yankee Doodle, Wait for the Wagon, When the saints go marching in, Marching Through Georgia หรือเพลงคุณหลวง
เพลงตับฝรั่ง เป็นเพลงฝรั่งที่นิยมเล่นกันในวงปี่พาทย์ไทย เนื่องจากทหารแตรทั้งที่วังหลวงและวังหน้าได้ฝึกทหารแตร โดยครูแตรเอานักดนตรีในวงปี่พาทย์มาฝึก นักดนตรีวงปี่พาทย์ก็ไปฝึกเป่าแตรวงสากล โดยเอาเพลงปี่พาทย์ที่รู้จักมาเล่น จึงเกิดเป็นวงปี่พาทย์เล่นเพลงฝรั่งและวงแตรวงเล่นเพลงไทย ปรากฏเหลืออยู่ทั่วไป
ไมเคิล ฟุสโก เป็นผู้ดูแลวงทหารเรือ แต่ก็ไม่พบรูปและครอบครัว ทั้งๆ ที่อยู่ในสยาม 25 ปี จนสิ้นชีวิต