วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2024

ผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียชี้โอกาสพบผู้รอดชีวิตจากเรือหลวงสุโขทัยมีริบหรี่ – BBC News ไทย

เรือหลวงสุโขทัย

ที่มาของภาพ, ROYAL THAI NAVY

รองศาสตราจารย์ เดวิด เลตส์ นักวิชาการด้านกฎหมายนาวีและกฎหมายทหารจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย แสดงความเห็นว่า โอกาสพบผู้รอดชีวิตเพิ่มจากเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปางมีอยู่อย่างริบหรี่ 

“ผมไม่คิดว่าพวกเขามีโอกาสสูงนักที่จะพบผู้รอดชีวิต มันคือความจริงที่โชคร้าย โอกาสที่มีอยู่ไม่มากนัก” รศ. เลตส์ ซึ่งเคยรับราชการในกองทัพเรือออสเตรเลียนาน 30 ปี ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี 

“มันไม่ใช่แค่กระแสคลื่น แต่ผู้ประสบภัยซึ่งมีความอ่อนล้า อาจจมไปกับเกลียวคลื่น อาจมีฉลามอยู่แถวนั้น บางคนอาจตื่นตระหนก และถูกกลืนลงใต้ทะเล พวกเขาไม่น่าจะมีชีวิตอยู่ได้นานในกรณีแบบนี้…”

คำให้สัมภาษณ์ของ รศ. เลตส์ มีขึ้นก่อนการแถลงข่าวของผู้บัญชาการกองทัพเรือไทย ที่เกิดขึ้นช่วงเย็นของ 20 ธ.ค. ซึ่ง พล.ร.อ. เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวของสิงคโปร์ยืนยันว่า ปฏิบัติการค้นหาและช่วยชีวิตจะยังดำเนินต่อไป ยังไม่เปลี่ยนไปเป็น ปฏิบัติการค้นหาผู้เสียชีวิต

รศ. เลตส์ แสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติมากที่เรือรบจะจมลงหลังจากเครื่องยนต์ดับท่ามกลางพายุ และชี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เรือหลุดพ้นจากพายุรุนแรงได้ยากขึ้น 

เขาอธิบายว่าตามปกติ ทหารเรือจะได้รับการฝึกฝนให้รับมือกรณีที่เครื่องยนต์เรือหยุดทำงาน แต่ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะสามารถกู้การทำงานของเครื่องยนต์ให้กลับมาได้เร็วแค่ไหน 

นอกจากนี้ รศ. เลตส์ บอกว่าเรือรบทั่วไปมักแบ่งพื้นที่ออกเป็นห้องต่าง ๆ ที่เรียกว่า “คอมพาร์ตเมนต์” (compartment) เพื่อให้สามารถปิดประตูป้องกันน้ำทะเลไหลทะลักเข้าไปส่วนอื่น ๆ และทำความเสียหายต่อเครื่องยนต์ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทหารเรือได้รับการฝึกฝนให้ปิดประตูคอมพาร์ตเมนต์ส่วนต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้เรือลอยลำได้ต่อไป 

“การที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นเรื่องแปลกมากที่จะคิดว่าเหตุการณ์เรือล่มครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร พายุสร้างความเสียหายให้บางอย่างหรือไม่ เกิดรูรั่วที่ตัวเรือหรือเปล่า และมีเหตุชนปะทะหรือไม่ ซึ่งเราไม่ทราบเลย” รศ. เลตส์ กล่าว 

แต่เขาชี้ว่าแม้จะมีรูรั่วเกิดขึ้นที่ด้านข้างตัวเรือ แต่ทหารเรือได้รับการฝึกฝนเรื่อง “การควบคุมความเสียหาย” ซึ่งรวมถึงการฝึกซ่อมแซมรูรั่วที่เกิดขึ้น หรือการปิดคอมพาร์ตเมนต์ไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้าสู่บริเวณอื่น ๆ ในเรือ

ที่มาของภาพ, Thai News PIX

คำบรรยายภาพ,

รถเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิตที่กู้ขึ้นมาได้

ผู้บัญชาการทหารเรือของไทยได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้เช่นกัน ในการแถลงข่าวเมื่อ 20 ธ.ค.

“จากการรับทราบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ทราบว่ามีน้ำเข้าเรือในปริมาณมาก โดยน้ำเริ่มเข้าบริเวณหัวเรือ จนทำความเสียหายกับระบบเครื่องไฟฟ้า ระบบเครื่องจักรช่วยของเรือหลวงสุโขทัย”  

พล.ร.อ. เชิงชาย เผยว่าลูกเรือพยายามใช้เครื่องสูบน้ำในเรือเพื่อระบายน้ำออกตามขั้นตอน แต่ไม่สามารถสูบน้ำออกได้ทัน ทำให้น้ำเข้าเรือมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เครื่องจักร และเครื่องจักรช่วยได้รับความเสียหายและหยุดทำงาน 

“ปกติเรือรบจะมีความทนทะเลมากกว่าเรือโดยทั่วไปเพราะเป็นเรือที่สร้างขึ้นมาเพื่อปฏิบัติการรบ จะมีการผนึกน้ำเป็นคอมพาร์ตเมนต์ หากบริเวณไหนที่ได้รับความเสียหายจากการรบจะมีการผนึกน้ำ เพื่อสร้างให้เกิดกำลังลอยภายในเรือ เพื่อจะสามารถสู้รบอยู่ได้…” 

“เมื่อเรือไม่สามารถสู้กับน้ำทะเลที่เข้ามาในตัวเรือได้ เขาก็ใช้วิธีการผนึกน้ำ เพื่อให้ตัวเรือยังลอยอยู่ แต่ปรากฏว่าหลังจากที่พยายามจะสู้กับน้ำทะเลที่เข้ามา ทำให้ไม่สามารถบังคับเรือได้ เพราะน้ำได้เข้ามาท่วมระบบเครื่องจักรช่วยสำคัญหลายส่วน…” 

ผู้บัญชาการทหารเรือระบุว่าน้ำที่ทะลักเข้าเรือทำให้เครื่องยนต์ซ้ายและเครื่องควบคุมใบจักรดับ ทำให้เรือไม่สามารถแล่นเข้าพื้นที่ท่าเรือบางสะพานได้ จนสุดท้ายน้ำท่วมและทำให้เครื่องยนต์ดับทั้งหมด ส่งผลให้เรือมีสภาพลอยลำกลางทะเล และน้ำเข้าเรืออย่างต่อเนื่องจนเรือเอียงและอับปางลงในที่สุด 

ทำไมลูกเรือไม่ได้ขึ้นแพชูชีพทั้งหมด

รศ. เลตส์ ระบุว่า ตามปกติมักมีแพชูชีพติดตั้งไว้บริเวณดาดฟ้าเรือ และระบบปล่อยแพชูชีพจะทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อเรืออับปาง หรือลูกเรือสามารถกดปล่อยเรือได้เองเช่นกัน  

แต่เขาคาดการณ์ว่า เหตุที่เกิดขึ้นในช่วงกลางดึก ทำให้ลูกเรืออาจค้นหาระบบปล่อยแพชูชีพได้ยาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนเรือขณะนั้น ว่ามีเหตุฉุกเฉินอื่นเกิดขึ้นด้วยหรือมีความเสียหายอื่นด้วยหรือไม่ และเป็นการยากที่จะทราบได้จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

ด้าน พล.ร.อ. เชิงชาย ชี้แจงในการแถลงข่าวว่า เรือหลวงสุโขทัยมีแพชูชีพอยู่ทั้งหมด 6 แพ ซึ่งทำงานด้วยระบบอัตโนมัติและระบบสั่งการจากคน บวกกับมีแพชูชีพของเรือหลวงกระบุรี และจากเครื่องบินลาดตระเวนของกองทัพเรือที่เข้าให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเพียงพอต่อจำนวนคนบนเรือหลวงสุโขทัยในกรณีที่ต้องสละเรือใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นกองทัพเรือได้รับรายงานจากเรือหลวงสุโขทัยว่า เรือมีการเอียงในระดับคงที่ที่ 60 องศา จึงวางแผนที่จะนำเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เข้าไปสูบน้ำในเรือ และถ้าเรือลากจูงมาถึงก็จะสามารถลากเรือกลับไปยังท่าเรือบางสะพานได้ ส่งผลให้เรือหลวงสุโขทัยยังไม่คิดจะเคลื่อนย้ายกำลังพลลงแพชูชีพ 

พล.ร.อ. เชิงชาย ระบุว่าแต่ด้วยสภาพคลื่นลมในช่วงนั้นรุนแรงมาก ทำให้น้ำไหลเข้าเรืออย่างต่อเนื่องจนเรือเอียงมากขึ้น และเริ่มจมลงจากด้านท้ายลงไปจนหัวเรือตั้งขึ้น ส่งผลให้เกิดความชุลมุน กำลังพลบางส่วนจึงกดปลดแพชูชีพให้กำลังพลที่ไม่มีเสื้อชูชีพได้ขึ้นไปบนแพ ส่วนกำลังพลบางส่วนที่มีเสื้อชูชีพก็พยายามว่ายน้ำไปที่เรือหลวงกระบุรีที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ซึ่งมีการส่งเรือเล็กเข้าไปช่วยผู้ที่อยู่ในทะเลด้วย และสามารถช่วยกำลังพลส่วนใหญ่ขึ้นมาได้

ที่มาของภาพ, THE ROYAL THAI NAVY HANDOUT/EPA-EFE/REX/Shutterstock

คำบรรยายภาพ,

เรือหลวงสุโขทัย เข้าประจำการตั้งแต่ปี 2527

ก่อนหน้านี้ กองทัพเรือ แถลงพบผู้สูญหายภัยจากเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง แล้ว 7 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 6 ราย และรอดชีวิต 1 ราย  

พล.ร.อ. เชิงชาย ระบุว่า กองทัพเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเร่งปฏิบัติการกู้ภัยต่อเนื่อง และยังมีความหวังพบผู้รอดชีวิตเพิ่ม เนื่องจากพบผู้รอดชีวิต1 ราย ห่างจากจุดเรือล่ม 60 กิโลเมตร หลังจากเรืออับปางไปแล้ว 41 ชั่วโมง 

พล.ร.อ. ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ ระบุว่า นับแต่เกิดเหตุพบผู้ประสบภัยแล้วทั้งสิ้น 81 คน แบ่งเป็นรอดชีวิต 76 คน เสียชีวิต 6 คน ยังไม่พบอีก 23 คน ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่างการนำส่งและพิสูจน์ทราบอัตลักษณ์

ก่อนหน้านี้มีเสียงวิจารณ์ว่า บนเรือมีเสื้อชูชีพไม่เพียงพอสำหรับกำลังพล 30 นายที่ขึ้นเรือเพิ่มเติมเพื่อไปร่วมกิจกรรมครบรอบ 100 ปี การสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่หาดทรายรี จังหวัดชุมพร พล.ร.อ. เชิงชาย ชี้แจงว่า ตามปกติต้องมีการนำเสื้อชูชีพไปกับกำลังพลที่ขึ้นเรือเพิ่มเติม และบนเรือมีเสื้อชูชีพสำรองจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีแพชูชีพ ห่วงยาง ลูกยางที่ผูกติดกับเรือ 

ผู้บัญชาการทหารเรือ ระบุว่า ก่อนเกิดเหตุเรือหลวงสุโขทัยทราบถึงเรื่องนี้ จึงเตรียมแผนรับมือเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น การเกาะตัวเป็นหมู่ในกรณีเรืออับปาง และแนวทางการช่วยเหลือกันในเหตุฉุกเฉินตาง ๆ อย่างไรก็ตาม ช่วงเกิดเหตุเรือจมลงอย่างรวดเร็ว แต่มีการทำตามขั้นตอนบางส่วน เช่น การกดแพชูชีพซึ่งช่วยคนได้ 20 กว่าคน 

พล.ร.อ. เชิงชาย กล่าวว่า ในกลุ่มผู้ขึ้นเรือกลุ่มใหม่ที่ไม่มีเสื้อชูชีพ 30 คนนั้น ได้รับความช่วยเหลือขึ้นจากทะเลได้ 18 คน และยังสูญหายอีก 12 จึงไม่อยากให้มองว่า คนไม่มีชูชีพจะสูญเสียชีวิตทั้งหมด

ThaiArmedForce เว็บไซต์อิสระด้านกิจการทหารของประเทศไทยทวีตวิจารณ์คำชี้แจงดังกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการคิดแบบนี้

“เหมือนกับบอกว่าขึ้นรถแล้วจะคาดเข็มขัดนิรภัยหรือไม่คาดก็ไม่ได้การันตีว่าจะรอด เสื้อชูชีพคืออุปกรณ์พื้นฐานของการขึ้นเรือ จำเป็นต้องมี เอาอะไรมาแทนลำบาก”

“อีกทั้งถ้า ผบ.ทร.บอกว่า เรือดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลก็ยิ่งต้องมีเสื้อชูชีพแบบเกินพอด้วยซ้ำ เพราะถ้าเสื้อชูชีพยังไม่พอสำหรับกำลังพลของเรือ จะสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลได้อย่างไร ซึ่งก็แสดงให้เห็นอีกว่าที่บอกว่า #เรือหลวงสุโขทัย ไปช่วยผู้ประสบภัยนั้นไม่น่าจะจริง”

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ญาติผู้ประสบภัยจุดธูป 19 ดอกขอให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ช่วยให้ผู้สูญหายรอดชีวิต

ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ส่งกำลังเข้าช่วยสนันสนุนภารกิจการค้นหาช่วยเหลือของกองทัพเรือ โดยมอบหมายให้ กองบินตำรวจส่งเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ คือ bell 429 ที่เป็น ฮ.ช่วยเหลือทางการแพทย์ และ bell 212 ซึ่งเป็น ฮ.กู้ภัย มีเครื่องมือในการกู้ชีพ ค้นหา ช่วยเหลือ  พร้อมกับส่งทีมชุดกู้ภัยของกองบินตำรวจ และชุดกู้ภัยค่ายนเรศวรร่วมภารกิจ

นอกจากนี้ สั่งการให้ตำรวจน้ำส่งเรือ 2 ลำ ร่วมสนับสนุนภารกิจออกค้นหาตามแนวชายฝั่ง ตามที่กองทัพเรือมอบหมายและประสานงานมา ส่วนภารกิจค้นหาในทะเลเป็นของกองทัพเรือ  พร้อมกับให้ตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประสานงานร่วมปฏิบัติในศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ท่าเทียบเรือน้ำลึกอำเภอบางสะพานอีกส่วนหนึ่งด้วย

เรือหลวงสุโขทัย ประสบอุบัติเหตุคลื่นลมแรง จนมีน้ำเข้าเรือเป็นจำนวนมาก และได้จมลงใต้ทะเลแล้วในช่วงดึกของวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา กำลังพลที่ลงเรือหลวงสุโขทัยในวันเกิดเหตุมีทั้งหมด 105 นาย ขณะนี้สามารถช่วยเหลือได้แล้ว 76 คน และอยู่ในระหว่างการค้นหาอีก 29 คน

หลังจากเรือหลวงสุโขทัยอับปางลงเมื่อเวลา 23.30 น. คืนวันที่ 18 ธ.ค. กองทัพเรือเร่งค้นหาเข้าสู่วันที่ 3 ด้วยการเสริมกำลังเรือหลวงจำนวน 4 ลำ โดยมีเรือหลวงอ่างทอง เป็นเรือควบคุมสั่งการ

พล.ร.ท. พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ระบุช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า สภาพอากาศในทะเลอ่าวไทยมีลมเบาลง คลื่นทะเลสูง 2 เมตร ทำให้การปฏิบัติการจะทำได้ง่ายขึ้น คาดหวังว่าวันนี้น่าจะเจอผู้ประสบภัยเพิ่มเติม

สำหรับแผนการค้นหา ได้วางแผนการค้นหารัศมี 30×30 ตารางไมล์ ครอบคลุม จ. ประจวบคีรีขันธ์ และ จ. ชุมพร ตอนบน และจะขยับการค้นหามาทางด่านล่างตามกระแสน้ำ คาดว่าผู้สูญหายจะอยู่จากเรืออับปางในรัศมีด้านล่างไม่เกิน 20 ไมล์ทะเล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ผู้บัญชาการทหารเรือ (ซ้าย) ให้คำมั่นจะนำกำลังพลที่ประสบภัยทุกคนกลับบ้านให้ได้

เมื่อเวลา 20.45 น. คืนที่ผ่านมา (19 ธ.ค.) เรือหลวงกระบุรี เข้าเทียบท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังจากออกลาดตระเวนค้นหากำลังพลเรือหลวงสุโขทัย 31 นาย ที่สูญหาย พร้อมทั้งนำกำลังพล 1 นาย ที่รอดชีวิตจากการค้นหาเจอช่วงเช้ากลับขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย 

เจ้าหน้าที่ได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังจากพบว่านอนหมดสติลอยคออยู่กลางทะเลจนปลอดภัย โดยทีมแพทย์พร้อมเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้นำส่งตัว ไปยังโรงพยาบาลบางสะพาน ซึ่งพบว่ามีบาดแผลบริเวณศรีษะ และข้อเท้า แต่อาการโดยรวมปลอดภัย 

เสื้อชูชีพ กับจำนวนกำลังพล

หนึ่งในข้อสังเกตกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ที่ผู้บัญชาการทหารเรือ ออกมายอมรับ คือ เรื่องเสื้อชูชีพกำลังพลบนเรือ สอดคล้องกับคำให้การของกำลังพลผู้ได้รับการช่วยเหลือชุดแรก 

เมื่อ 19 ธ.ค. ผู้บัญชาการทหารเรือ เปิดเผยว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ มีการนำกำลังพลขึ้นเรือเพิ่มมาอีก 30 คน และคิดว่าน่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้เสื้อชูชีพไม่เพียงพอ ซึ่งจะต้องตรวจสอบต่อไปว่า ทำไมจึงไม่นำเสื้อชูชีพติดเรือมาด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในเวลา 23.45 น. 19 ธ.ค. พล.ร.ท. พิชัย ล้อชูสกุล ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ระบุว่า ยืนยันถึงเรื่องเสื้อชูชีพมีไม่เพียงพอว่า ยังมีห่วงชูชีพที่สามารถเกาะอยู่ในน้ำได้ 3 วัน 

“ที่ไม่มีชูชีพจริง ๆ 6-7 นาย แต่ยังมีพวงชูชีพ แต่ด้วยคลื่นลมที่แรงมาก พอทุกคนเกาะแล้วเชือกที่ผูกพวงชูชีพมันหลุด” พล.ร.ท. พิชัย พร้อมยืนยันว่าไม่มีกำลังพลติดค้างอยู่ในเรือแน่นอน  

ที่มาของภาพ, THE ROYAL THAI NAVY/HANDOUT/EPA-EFE/REX/Shutterstock

คำบรรยายภาพ,

พ.จ.อ.นที ทิมดี กำลังพลที่ได้รับการช่วยเหลือจากเรือหลวงกระบุรี ถูกนำตัวขึ้นฝั่งที่ท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเวลา 20.45 น. คืนวันที่ 19 ธ.ค. 2565

ก่อนหน้านี้ บีบีซีไทย ได้เห็นข้อความที่ระบุว่าเป็นรายงานจากกำลังพลรายงานว่า “สถานะ ร.ล. สุโขทัย เรือเอียง 80% กำลังพลของเรือมีเสื้อชูชีพหมดทุกคน (คนประจำ) แต่ในส่วนของกำลังพล นย. (นาวิกโยธิน) และ สอ.รฝ. (หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานต่อสู้รักษาฝั่ง) รวม 30 นาย ที่ไปกับเรือไม่มีชูชีพ” 

กำลังพลสองนายให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ถึงนาทีที่เกิดเหตุการณ์ว่า ขณะเกิดเหตุ มีคลื่นสูงซัดเข้ามาที่เรือ ตอนแรกยังพอตั้งหลักได้ แต่หลังจากนั้นไม่ถึง 2 นาที ก็มีคลื่นลูกที่สองซัดเข้ามาที่เรืออีก ทำให้เสียหลักกันทั้งหมด รู้ตัวอีกทีก็ลอยคออยู่กลางทะเล โดยไม่มีเสื้อชูชีพ  

พลทหารนายนี้ เล่าว่า เมื่อลอยคอในทะเลต้องเกาะกันเป็นกลุ่ม ให้คนที่มีชูชีพพาลอยไปหาเรือหลวงกระบุรีที่จอดรอช่วยเหลืออยู่ เพื่อนบางส่วนที่ไม่มีชูชีพก็ลอยห่างไปเรื่อย ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการบอกกันว่า ต้องมีบางคนที่ต้องเสียสละ เพราะเสื้อชูชีพไม่พอ  

เขายังเห็นเพื่อนสนิทสองคนที่หายไปต่อหน้าต่อตา และทั้งสองคนไม่ได้สวมเสื้อชูชีพ ตอนนี้ได้แต่ภาวนาขอให้เพื่อนรอดปลอดภัย 

พลทหารอีกนายหนึ่ง กล่าวว่า ขณะถูกคลื่นซัดกวาดจากเรือขณะที่เรือกำลังจม เขาไม่มีเสื้อชูชีพ เมื่อตกลงในน้ำ “ผมก็ไปเกาะเขาเอา”

เกิดอะไรขึ้น

คืนวันที่ 18 ธ.ค. กองทัพเรือ ระบุว่า เรือหลวงสุโขทัย ประสบเหตุ “เรือมีอาการเอียง” เนื่องจากคลื่นลมแรง มีน้ำทะเลไหลเข้าระบบเครื่องไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้าดับ เครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน ควบคุมเรือไม่ได้ และน้ำเข้าภายในตัวเรืออย่างรวดเร็วจนเรือเอียง โดยภาพที่เผยแพร่บนสื่อทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กของ ทร. เป็นภาพเหตุการณ์ในเวลากลางวัน 

เหตุเกิดขึ้น ขณะเรือหลวงสุโขทัย ขณะลาดตระเวนระยะ 20 ไมล์ จากท่าเรือ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขณะนั้นมีกำลังพล 106 นายบนเรือ โดยรายงานจากสื่อมวลชนระบุว่า เรือหลวงสุโขทัย กำลังกลับไปยังฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี หลังจากพยายามเข้าจอดเทียบท่าเพื่อร่วมกิจกรรมองค์บิดาของทหารเรือไทย ที่ จ.ชุมพร 

เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงภูมิพล เรือหลวงกระบุรี เฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำ พร้อมชุดป้องกันความเสียหาย ถูกส่งเข้าไปช่วยกู้สถานการณ์ โดยเรือหลวงกระบุรี เป็นลำแรกที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุ โดยมีรายงานว่าถึงจุดเหตุเวลา 20.40 น. และพยายามเข้าเทียบเรือหลวงสุโขทัย เพื่อส่งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่และช่วยเหลือกำลังพล แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากคลื่นลมยังคงรุนแรง 

หลังจากพยายามกู้เรือเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทร. ระบุว่า ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้เนื่องจากคลื่นลมแรงมาก ทำให้เรือหลวงสุโขทัยจมลงเวลา 23.30 น. 

คำบรรยายวิดีโอ,

เรือหลวงสุโขทัยอับปางจากคลื่นลมแรงทำให้น้ำเข้าสู่ตัวเรือ

บีบีซีสอบถามไปยังกองทัพเรือไทยว่า กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นไหมในประวัติศาสตร์กองทัพเรือ โดย พล.ร.อ. ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ระบุว่า “ในกองทัพเรือแทบจะเกิดขึ้นน้อยมาก ในเรือที่ยังใช้งานอยู่” 

พล.ร.อ. ปกครอง ยังระบุอีกว่า กำลังจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่าเหตุใดเรือจึงจมลงได้ ส่วนความคืบหน้าการช่วยเหลือ ณ เวลา 12.00 น. กองทัพเรือช่วยลูกเรือขึ้นมาได้ 76 คนแล้ว และกำลังตามหาอีก 31 นาย 

เรือหลวงสุโขทัย หมายเลขประจำเรือ FSG-442  เป็นเรือคอร์เวท สังกัดกองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ ขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2530 นับว่าเป็น 1 ใน 10 ลำเรือของกองเรือฟริเกตที่ 1 ซึ่งมีภารกิจเป็นกองเรือปราบเรือดำน้ำ 

เว็บไซต์ของกองเรือยุทธการ ระบุศักยภาพของเรือหลวงสุโขทัยว่า ได้รับการติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย มีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูง พร้อมปฏิบัติการรวบได้ทั้ง 3 มิติ ในเวลาเดียวกัน คือ การป้องกันภัยทางอากาศ สงครามผิวน้ำ และสงครามปราบเรือดำน้ำ

ไทม์ไลน์เหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง

18 ธ.ค.

  • น้ำทะเลเข้าท่อไอเสียเรือหลวงสุโขทัยเวลา 17.16 น.  เป็นเหตุให้เครื่องยนต์/ระบบไฟฟ้าดับ และเริ่มเอียง บนเรือมีกำลังพล 105 นาย
  • เรือหลวงกระบุรีเดินทางจากบางสะพานไปช่วยเรือหลวงสุโขทัยถึงจุดเกิดเหตุเวลา 20.40 น. พยายามเข้าช่วยแต่ไม่สำเร็จ
  • เรือหลวงสุโขทัยจมเวลา 23.30 น.  

19 ธ.ค.

  • ช่วยเหลือกำลังพลได้ทั้งหมด 75 นาย สูญหายอีก 30 นาย
  • ผบ.ทร. ยอมรับมีการนำกำลังพลจากหน่วยอื่นขึ้นเรือเพิ่มมาอีก 30 คน ทำให้เสื้อชูชีพบนเรือไม่เพียงพอ
  • กำลังพล 1-2 นาย ให้สัมภาษณ์สื่อว่า กำลังพลบางส่วนไม่มีเสื้อชูชีพประจำตัว บางรายต้องเกาะคนที่มีชูชีพลอยคอ 

20 ธ.ค.

  • ช่วยเหลือกำลังพลเพิ่มเติมได้อีก 1 นาย เวลา 14.15 น.
  • กองทัพเรือแถลงข่าวความคืบหน้าเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยว่า ค้นพบผู้ประสบภัยแล้ว 81 นาย (รอดชีวิต 75 นาย เสียชีวิต 6 นาย) และยังคงสูญหายอีก 23 นาย

ประสบเหตุช่วงคลื่นลมแรงในอ่าวไทย

เหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัย ประสบเหตุอับปางจากผลกระทบของคลื่นลมทะเล เกิดขึ้นในช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย ระหว่างวันที่ 17-20 ธ.ค. 2565 คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร 

ประกาศกรมอุตุฯ ออกมาฉบับแรกเมื่อ 14 ธ.ค. ขณะที่ประกาศฉบับที่ 8 เมื่อ 18 ธ.ค. ยังเตือนถึงคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยในระดับเดิม 

ในช่วงระหว่างวันที่ 17-18 ธ.ค. ปรากฏข่าว เรือสินค้าขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า เรือสันทัดสมุทร 2 บรรทุกตู้สินค้า บรรจุไม้ยางพาราจำนวน 36 ตู้และลูกเรือ 9 คน อับปางบริเวณทะเลอ่าวบ้านดอน อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ขณะมุ่งหน้าท่าเรือแหลมฉบัง และเรือบรรทุกน้ำมัน เกยตื้นที่แหลมสมิหลา อ.เมืองสงขลา ใกล้กับปากร่องน้ำทะเลสาบสงขลา

ที่มาของภาพ, ROYAL THAI NAVY

เหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอัปปาง ทำให้ อนาลโย กอสกุล แอดมินของเว็บไซต์ รวมข้อมูลข่าวสารด้านอาวุธและกองทัพฉบับประชาชนที่ชื่อว่า “ไทยอาร์มฟอร์ซ” ThaiArmedForce (TAF) ตั้งข้อสังเกตถึง การประเมินความเหมาะสมของสภาพอากาศก่อนเดินทาง เมื่อเทียบกับขนาดและศักยภาพของเรือในการเดินเรือท่ามกลางคลื่นลมระยะนี้ 

“เรือลำนี้ไม่ใช่เรือที่ใหญ่มาก เรียกว่าระวางขับน้ำ ไม่ถึง 1,000 ตัน ทนทะเลได้ไม่ค่อยมาก ไม่รู้ว่า ตอนออกเรือ เช็คข่าวอากาศหรือเปล่า เพราะสังเกตว่าช่วงนี้มีเรือสินค้าล่ม และติดฝั่ง 2-3 ลำ” อนาลโย กล่าวกับบีบีซีไทย และระบุว่า มีรายงานว่ามีกำลังพลที่ไม่ใช่กำลังพลประจำเรือไม่มีเสื้อชูชีพ 

ด้านคาร์ล สคุสเตอร์ กัปตันกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เกษียณวัยแล้ว ยอมรับกับซีเอ็นเอ็นว่า ลูกเรือไทยเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากมาก กับการนำเรือฝ่าสภาพอากาศที่เลวร้าย 

“เมื่อคุณสูญเสียกระแสไฟฟ้า คุณอยู่กลางความมืด ต้องทำทุกอย่างด้วยเครื่องปั๊มน้ำ และถังน้ำ” 

“สำหรับเรือขนาดเล็ก อายุใช้งานเกือบ 40 ปี ในทะเลที่คลุ้มคลั่ง โอกาสเรือจม มากกว่าความสำเร็จที่จะฝ่าพายุไปได้”

ความสำคัญของเรือหลวงสุโขทัย

ThaiArmedForce.com วิเคราะห์ว่า เรือหลวงสุโขทัย เป็นเรือรบหลัก 1 ใน 5 ลำของกองทัพเรือในตอนนี้ที่รบได้ครบ 3 มิติคือบนฟ้า ผิวน้ำ และใต้น้ำ และมีจรวดพื้นสู่พื้นกับพื้นสู่อากาศในการรับมือกับภัยคุกคามครบ อีก 4 ลำ ได้แก่ เรือหลวงภูมิพล เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน และเรือหลวงรัตนโกสินทร์

กองทัพเรือมีแผนที่จะจัดหาเรือที่มีสมรรถณะสูงแบบนี้ 8 ลำด้วยกัน ซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือคนปัจจุบันเคยกล่าวไว้เมื่อตอนรับตำแหน่งใหม่ว่ากำลังจะเสนองบจัดหา 1 ลำเพิ่มเติม ต่อจาก เรือหลวงภูมิพล ขณะที่อีก 2 ลำ ยังไม่มีแผน จึงต้องใช้ เรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี ที่พอจะทดแทนได้ไปก่อน แต่เรือไม่มีจรวดพื้นสู่อากาศ และระบบปราบเรือดำน้ำไม่ทันสมัยในการรบเป็นกองเรือ

เรือหลวงสุโขทัยสามารถทำหน้าที่ในการป้องกันทางอากาศ เป็นเรือป้องกันระยะใกล้ (Goalkeeper) ให้กับเรือหลักที่มีคุณค่าสูงได้ เปิดเรือยามเรดาร์ (Picket) ให้กับกองเรือหลักได้ และทำหน้าที่ในการปราบเรือดำน้ำ เป็นเรือฉากระยะใกล้ (Inner screen) ได้ดังนั้นการเสียเรือหลวงสุโขทัยไปคือการเสียกำลังรบชั้นแนวหน้าถึง 20% ที่กองทัพเรือมี ซึ่งก็หมายถึงจะส่งผลให้ขีดความสามารถของกองทัพเรือลดลงไปค่อนข้างมากแน่นอน

สุโขทัย

สุโขทัย

มรดกโลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนา งามตาผ้าตีนจก สังคโลกทองโบราณ สักการแม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข

Related Posts

Next Post

บทความ แนะนำ

No Content Available

หมวดบทความ

การก่อสร้าง การขนถ่ายสินค้า การขุด หรือเจาะบ่อน้ำ การค้าวัสดุก่อสร้าง การติดตั้งไฟฟ้าสายหลัก การผลิต การบรรจุก๊าซ การผลิตน้ำมันพืช การผลิตน้ำแข็ง การผลิตปุ๋ยเคมี การผลิตและบรรจุยา การหล่อหลอม การกลึงโลหะ การหีบฝ้าย ปั่นนุ่น การเคลือบ ชุบ อาบขัดโลหะ การเลี้ยงสัตว์ กิจกรรม ข่าว ตรวจหวย ธุรกิจ บริษัท มูลนิธิ ร้านค้า ร้านอาหาร วิถีชีวิต สถานที่ท่องเที่ยว สถานศึกษา สพป.สุโขทัย เขต 1 สพป.สุโขทัย เขต 2 สพม.เขต 38 สมาคม สำนักงานจัดการเดินทาง สุโขทัย หน่วยงานราชการ อบต. เอสเอ็มอี โรงงาน โรงพยาบาล บริการสุขภาพ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนวิชาชีพ โรงเรียนสามัญ โอทอป

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.