การเมืองช่วงนี้ อุณหภูมิปรอทการเมือง เริ่มร้อนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถูกรุมถล่มจากรอบสารทิศ จากปัญหา แพงทั้งแผ่นดิน ข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภค ต่างพาเหรดกันขึ้นราคา จากปฐมเหตุ “เนื้อหมูแพง” เป็นประวัติการณ์ จาก “โรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในสุกร” แล้วจึงค่อยๆ ส่งผลกระทบ ไปยังราคาข้าวของอย่างอื่น ทั้งไก่ ไข่ เป็ด เรื่อยไปจนถึงน้ำมันปาล์ม
แน่นอน ตัวละครที่ถูกตำหนิอย่างหนัก ยิ่งช่วงนี้ใกล้เลือกตั้ง หนีไม่พ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไปจนถึงตัวรับผิดชอบสำคัญ อย่าง นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ที่เจอข้อหา ปกปิดข้อมูล การระบาดของ “อหิวาต์หมู” ไปแบบเต็มๆ
งานนี้ ก็มีการดักคอทำนองกลัวกันว่า จะกลายเป็น “แพะบูชายัญ” ถูกคำสั่งย้ายเพียงคนเดียวหรือไม่ หลังจากนี้ต้องขอจับตาแบบไม่กะพริบ
หันกลับมา ที่ปัญหา “ข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน” ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้อง ของพี่น้องประชาชนคนไทย ในภาวะที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 อย่างสายพันธุ์ล่าสุด “โอมิครอน”
คอการเมืองหลายคนมองข้ามชอตกันว่า ปัญหาเศรษฐกิจ “ข้าวของขึ้นราคาแพง” นี้ จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมากหรือน้อยแค่ไหน พูดกันตรงๆ คือ จะสะเทือนถึงขั้นทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่หรือไม่
ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ ได้ลองโทรศัพท์สอบถาม ผู้รู้-และนักวิชาการ อย่าง ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มสธ. ลองไปดูทัศนะ และความคิดเห็นกันได้เลย
ยัน ข้าวของแพงทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะไทย หาก”ไม่ปิดหู ปิดตา”
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณี “ของแพงทั้งแผ่นดิน” ว่า ตอนนี้ข้าวของก็แพงกันทั้งโลก ถ้าคนของประเทศเรา ไม่ปิดหู-ปิดตา ก็จะรู้ว่า ของที่แพงนั้น อย่าไปมองว่า รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้ หรือต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่หรือไม่ อย่างไร ของอุปโภค-บริโภค ราคามันก็แพงไปทั้งโลกอยู่แล้ว สาเหตุเพราะเกิดโควิด-19 ขึ้นมา คนก็ทำมาหากินไม่ได้ การค้าขายเมื่อทำไม่ได้ ปริมาณการซื้อขายสินค้าในประเทศก็ลดน้อยลง
ฟันธง! ใครจะมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องเจอปัญหา และแก้ปัญหานี้ เหมือนกันหมด
ดร.ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลก็ต้องใช้นโยบายอัดฉีด ให้เศรษฐกิจเดินไปได้ ซึ่งเป็นแบบนี้ หรืออยู่ในภาวะอย่างนี้ ทั่วทั้งโลก ทั้ง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฯลฯ ก็เป็นเช่นนี้ เหมือนกันหมดทั้งโลก เมื่อเงินออกไปมาก ก็เกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของ อุปโภค-บริโภค ก็ราคาแพงมากขึ้น ไม่ใช่จะด่าแต่รัฐบาลอย่างเดียว ใครจะมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องเจอแบบนี้ และต้องแก้ปัญหานี้เหมือนกันหมด
แนะให้ไปดู ใครทุจริตงบฯ มากกว่า นั่งด่ารัฐบาลแค่อย่างเดียว
อดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ดังนั้นประชาชน สิ่งสำคัญคือ ไม่ใช่ มองเรื่องการบริหารรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองด้วยว่า รัฐมนตรี หรืออธิบดีคนไหน ทุจริตงบประมาณอะไรหรือไม่มากกว่า ย้ำมาสถานการณ์ของของแพงในขณะนี้ ไม่ว่าใครนั่งเป็นรัฐบาลก็ต้องเจอ และแก้ไขปัญหา ซึ่งก็ใช้วิธีเดียวกันทั้งโลกเหมือนกัน
เหน็บ “นักการเมือง” อาจไม่กล้ากิน เพราะเป็นเนื้อพวกเดียวกัน
“ตอนนี้ถึงกับมีข่าวแนะนำให้ไปกินเนื้อจระเข้แทนแล้ว อีกหน่อย อาจมีแนะนำให้ไปกินเนื้อ “ตัวเงินตัวทอง” แทนก็เป็นได้ แต่ตนคิดว่า พวกนักการเมืองคงไม่กล้ากิน เพราะอาจเห็นว่าเป็นเนื้อของพวกเดียวกัน” นายไตรรงค์ กล่าว…
ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การเมืองกับเรื่องเศรษฐกิจ เป็นความสัมพันธ์ที่แยกกันไม่ออก และเศรษฐกิจ เป็นผลกระทบที่ส่งผลต่อประชาชนให้เห็นเป็นรูปธรรม ยิ่งตอนนี้เห็นได้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจ ข้าวของแพงขึ้น ไม่มีสัญญาณบวกเลย ก็ชัดเจน โอกาสส่งผลต่อการเมืองก็จะมีสูง ขณะเดียวกัน เสถียรภาพของตัวรัฐบาลเองก็มีปัญหาอยู่แล้ว ยังไม่นับรวมปัญหาพรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึงการเมืองนอกสภา
เชื่อ อาจได้เห็น “นายกฯ ลาออก-ยุบสภา-นั่งนายกฯ ครบ 8 ปี แม้แต่กรณีถูกรัฐประหาร”
ม็อบปีที่ผ่านมา มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง แม้แผ่วลงไปก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีม็อบมาอีก อาจเป็นการชุมนุมเพราะประชาชนเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจ หรือได้รับผลกระทบจากการค้าขายไม่ได้ ซึ่งย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล ดังนั้นมีโอกาส นายกฯ ลาออก-ยุบสภา หรือถูกศาลรธน.วินิจฉัย ปมนั่งนายกฯ ครบ 8 ปี แม้แต่ กรณีถูกรัฐประหาร ก็มีความเป็นไปได้หมด
ศึกเลือกตั้งซ่อม ภาคใต้ พรรคร่วมฯ “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร”
ส่วนการเลือกตั้งซ่อมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ (เลือกตั้งซ่อมชุมพร-สงขลา) สู้กันระหว่าง “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์” ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันนั้น มีสำนวนการเมืองที่ยังคงสามารถใช้ได้อยู่เสมอ คือ “การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร” การเมืองหากลงตัวก็เป็นไปได้ทั้งนั้น การต่อสู้กันระหว่าง 2 พรรคร่วมรัฐบาล ตรงนี้ส่วนตัวไม่เชื่อว่า จะนำมาให้เกิดปัญหาอย่างแท้จริงได้ เพราะเมื่ออยู่ในสนามเลือกตั้งไม่มี ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล
โจทย์ใหญ่ ปชป.เดิมพันครั้งสำคัญ รักษาเก้าอี้ส.ส.ภาคใต้
“ตรงนี้จึงไม่คิดว่าจะเป็นประเด็น หรือเรื่องมารยาททางการเมืองอะไร หรือถ้าไม่ได้ ปชป.จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล แต่การเลือกตั้งซ่อม “ชุมพร-สงขลา” จำเป็นต้องรักษาที่นั่งส.ส.ไว้ให้ได้ ถือเป็นเดิมพันสำคัญของพรรคเป็นโจทย์ใหญ่ของปชป.ที่ต้องฟื้นฟูพรรค หากทำไม่ได้ ก็มีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นโดมิโน ขณะเดียวกันหากสังเกตให้ดี เลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่-จตุจักร ปชป.ไม่ส่งคนลงสมัคร ก็อาจเพื่อ ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ส่งดร.สุชัชวีร์ ลงสนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.” ดร.ยุทธพร กล่าว…
พปชร.ไม่ได้ ส.ส.เพิ่ม ก็ไม่มีผลอะไรกับรัฐบาล เป้าหมายเพื่อเปิดพื้นที่การเมืองใหม่
ขณะที่หันมาดูฝั่ง พลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น ได้หรือไม่ได้ ส.ส.เพิ่ม ก็ไม่มีผลอะไร เพราะไม่ได้ต้องการเสียงการเมือง เพราะคะแนนเสียงรัฐบาลไม่ได้ปริ่มน้ำ แต่ที่ส่งเพราะต้องการเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ เพราะสำหรับทุกพรรคการเมืองพื้นที่ภาคใต้ ถือเป็นพื้นที่ใหม่ ขนาดภูมิใจไทย ยังได้ส.ส.หลายที่นั่งจากภาคใต้ เหตุเห็นได้ชัดฐานเสียงพี่น้องประชาชนไม่ได้เหนียวแน่น สำหรับพรรคปชป.อีกต่อไป ขนาด พรรคไทยสร้างไทย ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ยังลงไปเปิดทำกิจกรรมการเมืองกับ “กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น” ได้เลย
งานนี้ อยากให้เฝ้าดูกันต่อไป การเมืองไทย ปี 2565 จะเป็นเช่นไร รัฐบาล “บิ๊กตู่” ยังจะ “ถูลู่ถูกัง” ได้ไปกันต่อ หรือจะต้องขอพอเพียงแค่นี้
คาด ไม่เกินกลางปี คงจะได้รู้กัน!
ผู้เขียน: เดชจิวยี่
กราฟิก:Anon Chantanant