แสงไทย เค้าภูไทย
ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เรื่องการนิรโทษกรรมผู้ติดหนี้กยศ.ว่าควรหรือไม่ โดยมีความเห็นแยกเป็นหลายฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรนิรโทษกรรมอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย และยังมีฝ่ายกลาง อยากให้ตั้งมหาวิทยาลัยเปิดเพิ่มขึ้น เก็บค่าเรียนถูกๆแบบ ม.รามคำแหงและม.สุโขทัยธรรมาธิราชและให้ยุบ กยศ.เสีย
จากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐได้ดำเนินการนิรโทษกรรมยกหนี้ให้แก่อดีตนักศึกษาที่ค้างชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าไทยควรจะเอาแบบอย่างของประธานาธิบดีไบเดนมาใช้ดีหรือไม่
เพราะกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือกยศ.นี้ เราก็เอาแบบอย่างของเขามาใช้ และทุกวันนี้อดีตนักศึกษานับแสนๆคนกลายเป็นลูกหนี้ประเภทหนี้เสีย เพิ่มจำนวนหนี้ครัวเรือนในระบบไม่ต่างจากอดีตนักศึกษาอเมริกัน
บางคนถูกยึดทรัพย์ ถูกยึดเงินเดือน หรือถ้าไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีเงินเดือนให้ยึด ก็ถูกฟ้องล้มละลาย
เพราะผู้กู้เงินกยศ.ส่วนหนึ่ง เมื่อเรียนจบทำงาน มีรายได้ไม่เพียงพอจะเหลือผ่อนชำระหรือบางคนตกงาน ไม่มีปัญญาชำระคืน เงินกู้
หนี้กยศ.นั้น ไม่ใช่มีแต่เงินต้นอย่างเดียว หากแต่มีดอกเบี้ยอัตราสูงพอๆกับกู้ธนาคารหรือไฟแนนซ์ ซ้ำมีค่าปรับกรณีผิดนัดชำระด้วย
ทำตัวเป็นองค์กรแสวงกำไรจากการปล่อยเงินกู้ ทั้งๆที่เป็นหน่วยงานรัฐ
สนับสนุนด้วยงบประมาณแผ่นดิน ที่มาจากภาษีของประชาชน
นักศึกษาบางรายเงินต้นสูงถึงกว่า 300,000 บาท เจอดอกเบี้ย เจอเบี้ยปรับรวมกันสูงกว่าเงินต้นกว่าเท่าตัว
อดีตนักศึกษาที่ติดหนี้หลักแสนๆบาทนั้น เป็นนักศึกษาเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งค่าเรียนจึงแพงมาก
ค่านิยมเรื่องปริญญา ทำให้คนไทยวัยเรียนพยายามเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้รับปริญญา
ภาพบัณฑิตใหม่สวมครุยไปกราบเท้าพ่อแม่ชาวไร่ชาวนาซาเล้ง เป็นภาพจำฝังใจเกิดความทะเยอทะยาน อยากเอาเยี่ยงอย่าง
การให้คุณค่าปริญญาสูงส่งเช่นนั้น ถือเป็นค่านิยมที่ผิด
นักศึกษาที่ไม่มีทุนรอนกระเสือกกระสนดิ้นรนหาที่เรียน เพื่อให้ได้ปริญญามาเพิ่มคุณค่าให้ตัวเอง โดยไม่คำนึงถึง การลงทุน
เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐไม่ได้ ก็หันไปเข้ามหาวิทยาลัยเอกชนแทน เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ต้องสอบเข้าหรือสอบวัดความรู้ หรือสอบพอเป็นพิธี เป็นการง่าย เพราะมีกองทุนกู้ยืมที่กู้กันได้ง่ายๆ
กู้ง่าย เรียนง่าย แต่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ ความทุกข์ย่อมตามมา พวกที่มีงานทำอย่างพวกจบแพทย์ จบวิศวะ หรือสอบเข้าทำงานในหน่วยงานราชการได้ ไม่เดือดร้อนอะไรพอจะมีรายได้เลี้ยงตัวเองและผ่อนชำระหนี้กยศ.ได้
แต่พวกวิชาพื้นๆ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดงาน หรือตลาดต้องการน้อย เช่นสายศิลปกรรม ศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ รายได้แค่พอเลี้ยงปากท้องของตนเองเท่านั้น
หรือบางคนตกงานหรือถูกปลดจากงาน เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาแทนที่มนุษย์
สายศิลปกรรมขณะนี้ตกงานกันเป็นเบือ เพราะคอมพิวเตอร์ทำงานแทนคนได้หมด สมัยก่อนออกแบบโฆษณาชิ้นหนึ่งใช้เวลาสามถึงสี่วัน สมัยนี้เทคโนโลยี 3D ทำจบภายในไม่กี่ชั่วโมงเป็นต้น
พวกอดีตนักศึกษา เหล่านี้จะมีความเดือดร้อนแสนสาหัส ทั้งตัวเอง ทั้งพ่อแม่หรือผู้ที่ค้ำประกันเงินกู้ เมื่อถูกเร่งรัดทวงถามหนี้
การทวงหนี้เสียของอดีตนักศึกษานั้น กยศ.จ้างสำนักงานทนายความเอกชนดำเนินการ จึงออกมาในรูปใช้สัญญากู้ยืมบังคับ ขู่ด้วยข้อบังคับคดี ที่มีการยึดทรัพย์ ยึดรายได้
ข้ออ้างที่ใช้ความเด็ดขาดกับลูกหนี้ก็คือ เพื่อให้ “น้องๆ” รุ่นหลังได้มีโอกาสกู้ยืมเรียน
พวกที่ชำระหนี้หมดแล้ว ก็มักจะเข้าข้าง กยศ.ในแง่นี้ และเห็นว่าไม่ควรจะผ่อนปรนหรือนิรโทษกรรมยกหนี้ให้แก่อดีตนักศึกษาที่ไม่มีปัญญาชำระหนี้
ส่วนผู้เดือดร้อนก็อยากให้รัฐบาลไทยทำแบบรัฐบาลสหรัฐฯบ้าง
พวกที่คัดค้านที่บอกว่าตัวเองเสียเปรียบเพราะจ่ายคืนหนี้หมดแล้ว ต้องถือว่าเป็นพวกไร้น้ำใจ
เหมือนตัวเองข้ามฝั่งได้แล้ว น้องๆตามหลังมาส่วนหนึ่งยังตะเกียกตะกายอยู่ในน้ำ ทำท่าจะจมน้ำ แต่ตัวเองกลับยืนดูดายไม่ช่วยเหลือ
คนทุกคนไม่เหมือนกัน ฐานะต่างกัน มีรายได้ไม่เท่ากัน จึงควรจะเห็นใจผู้ตกทุกข์บ้าง พวกเขาไม่ได้อยากเป็นเช่นนั้น
บางเสียงถึงกับบอกว่าให้ยุบกยศ.เสีย แล้วหันมาเปิดมหาวิทยาลัยเปิด แบบม.รามคำแหงหรือม.สุโขทัยธรรมาธิราช เพื่อให้โอกาสนักศึกษาฐานะไม่ดีได้เรียนเท่าเทียมกัน
ถือเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องทำ
มหาวิยาลัยเอกชนที่อยู่ในสภาพย่ำแย่เพราะจำนวนนักศึกษาลดลงนั้น รัฐควรเข้าไปซื้อแล้วปรับให้เป็นมหาวิทยาลัยเปิด
ขณะนี้ ทุนจีนเข้ามาซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนไทยถึง 22 แห่ง ส่งนักศึกษาของตนเข้ามาเรียน
รัฐจึงควรจะซื้อมหาวิทยาลัยเอกชนที่เหลืออยู่ให้หมดก่อนจีนจะยึดครองการศึกษาส่วนนี้ ซึ่งจะด้วยเหตุผลอะไรก็ยังไม่มีใครอธิบายได้
การศึกษาเป็นการสร้างคุณภาพมนุษย์ทางหนึ่ง
กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทบวงมหาวิทยาลัย และหน่วยงานด้านการศึกษา มีมากมายก่ายกอง
ทำไมไม่คิดแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ?