นับถอยหลังเข้าสู่ช่วง “วันวิสาขบูชา” อีกหนึ่งวันที่ชาวพุทธทั่วโลกยกให้เป็นวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม 65 และยังถือเป็นช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง ที่หลายคนอาจจะเตรียมวางแผนออกไปเที่ยวและทำบุญไปพร้อมกันด้วย
โดยการทำบุญนั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ อย่างการ “ตักบาตร” ก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีสร้างบุญที่สุขใจทั้งผู้ให้อิ่มใจทั้งผู้รับ และยังเป็นการรักษาประเพณีที่ดีงามอีกด้วย ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็อาจมีวัฒนธรรมหรือรูปแบบของการตักบาตรที่แตกต่างกันออกไป ครั้งนี้จึงได้รวบรวม 6 จุดตักบาตรที่ไม่เหมือนใคร ที่กลายเป็นเอกลักษณ์คู่กับสถานที่นั้นๆ แถมยังมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงมากมายให้ได้ไปเยือนกันอีกด้วย
1. ตักบาตรพระล่องแพ ตลาดโอ๊ะป่อย จ.ราชบุรี
เริ่มที่แรกคือที่ “ตลาดโอ๊ะป่อย” (“โอ๊ะป่อย” มาจากภาษากะเหรี่ยง มีความหมายว่า “พักผ่อน”) เป็นตลาดเช้าที่ตั้งอยู่ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ตัวตลาดตั้งอยู่ติดลำน้ำภาชี ธารน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลจากทิศใต้สู่ทิศเหนือ จึงมีความร่มรื่น เย็นสบาย
ซึ่งการตักบาตรของที่นี่มีเอกลักษณ์คือจะเป็น “การตักบาตรพระล่องแพ” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ตักบาตรพระถ่อแพ” โดยพระสงฆ์จากวัดท่ามะขามจะยืนสงบนิ่งเรียงแถวกันบนแพไม้ไผ่ และมีชาวบ้านควบคุมแพหัวท้าย พร้อมกับเด็กๆ ที่มาช่วยทำหน้าที่ถ่ายของออกจากบาตรด้วย ซึ่งแพจะล่องช้าๆ มาตามลำน้ำภาชีที่ไหลเอื่อย ก่อนจะมาเทียบที่ริมท่าตลาดโอ๊ะป่อยเพื่อรับบาตรจากชาวบ้านและนักท่องเที่ยว
2. ตักบาตรสะพานมอญสังขละฯ จ.กาญจนบุรี
จุดต่อมาคือที่ “สะพานมอญ” หรือ “สะพานอุตตมานุสรณ์” อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยที่สร้างขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านใช้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำซองกาเลีย เดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างฝั่งไทยและฝั่งมอญ โดยมีหลวงพ่ออุตตมะเป็นผู้ดำเนินการสร้าง ซึ่งตัวสะพานมีความยาว 850 เมตร
โดยชาวบ้านที่นี่ เขาจะตักบาตรด้วยข้าวสวยเพียงอย่างเดียว หรือบางคนอาจจะมีดอกไม้ใส่ลงไปในบาตรด้วย และจะสวมใส่ผ้าถุงพร้อมพาดผ้าผืนเล็กบนบ่าเพื่อความเรียบร้อย แต่หากเป็นนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาตักบาตร ก็จะมีร้านค้าวางขายเรียงรายอยู่สองข้างทาง และยังมีบริการให้หยิบยืมผ้านุ่งผ้าถุงและโสร่ง สำหรับใส่ตักบาตรเสมือนชาวมอญแท้ๆ บางแห่งก็ยังมีบริการประแป้งบนใบหน้าเป็นลวดลายต่างๆ ตามแบบฉบับชาวมอญ เรียกว่าจัดให้เต็มยศ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสความเป็นชาวมอญสังขละอย่างแท้จริง
3. ตักบาตรสะพานบุญ จ.สุโขทัย
จุดที่สามคือที่วัดตระพังทอง จ.สุโขทัย ที่ในยามเช้าจะมีกิจกรรม “ตักบาตรสะพานบุญ รับอรุณสุโขทัย” บริเวณสะพานบุญ ตั้งอยู่ทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยนักท่องเที่ยวจะนั่งรอตักบาตรอยู่บนสะพานไม้กลางสระตระพังทอง ถือเป็นภาพที่สวยงามและสงบเป็นอย่างมาก
หลังจากตักบาตรเสร็จแล้ว สามารถเที่ยวชมโบราณสถานมรดกโลกเมืองเก่าสุโขทัยกันต่อได้ ไม่ว่าจะเป็น วัดช้างล้อม วัดเชตุพน วัดเจดีย์สี่ห้อง วัดสะพานหิน และวัดสำคัญอย่าง วัดมหาธาตุ วัดสระศรี วัดศรีสวาย ฯลฯ ซึ่งเป็นโบราณสถานชั้นใน ในเขตกำแพงเมืองด้วยก็ยังได้
4. ตักบาตรผัก วัดพระบาทห้วยต้ม จ.ลำพูน
ถัดมาคือที่ “วัดพระบาตรห้วยต้ม” อ.ลี้ จ.ลำพูน ที่มีเอกลักษณ์ในการตักบาตรคือการ “ตักบาตรผัก” หรือทำบุญใส่บาตรด้วยอาหารมังสวิรัติ เนื่องจากชาวบ้านห้วยต้มซึ่งเป็นชาวปกาเกอะญอได้ยึดตามคำสอนของหลวงปู่ครูบาวงศ์ (มรณภาพเมื่อปี 2543) พระเกจิที่เป็นดังศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านที่นี่ ที่สอนให้มีเมตตาไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งหมู่บ้านจึงกินมังสวิรัติกันทุกคน
สำหรับของที่นำมาตักบาตรกันจะเมนูผักล้วนๆ ไม่มีเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นผัดผัก แกงจืดผักและเห็ด น้ำพริก เห็ดทอด เป็นต้น นอกจากนั้นก็ยังมีขนมและผลไม้อีกด้วย ปกติชาวบ้านที่นี่จะตักบาตรกันทุกวัน แต่หากใครอยากมาร่วมใส่บาตรพร้อมทั้งชมบรรยากาศของการตักบาตรผักอย่างคึกคักก็ควรมาในวันพระ อีกทั้งในวันพระช่วงสายๆ ก็จะมีการถวาย “สังฆทานผัก” อีกด้วย
5. ตักบาตรข้าวเหนียว เชียงคาน จ.เลย
หากใครมาเที่ยวที่ เชียงคาน จ.เลย ในยามเช้าจะได้เห็นภาพของการ “ตักบาตรข้าวเหนียว” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ โดยพระ-เณรจะออกเดินบิณฑบาตเป็นแถวยาวให้ทั้งชาวเชียงคานและนักท่องเที่ยวใส่บาตรกันด้วยความรู้สึกอิ่มเอิบเปี่ยมศรัทธา ในการใส่บาตรข้าวเหนียวแต่เพียงอย่างเดียว โดยจะนำอาหารไปถวายพระที่วัดหลังจากใส่บาตรแล้ว
นอกจากการตักบาตรข้าวเหนียวแล้ว เสน่ห์ชวนเที่ยวของ “ถนนชายโขง” ถนนสายสั้นๆ กลางเมืองเชียงคารที่มีความยาวแค่ประมาณ 2 กิโลเมตร ที่ในยามเย็นถนนชายโขงจะแปรเปลี่ยนเป็นถนนคนเดินอันคึกคัก มีสินค้า เสื้อผ้า อาหารท้องถิ่น ให้เลือกซื้อเลือกหากันมากมาย อีกทั้งยังมีมุมของถนนและร้านค้าสวยๆ งามๆ มากหลายให้ถ่ายรูปกันอย่างเพลิดเพลิน
6. ตักบาตรหาบจังหัน จ.อุตรดิตถ์
ปิดท้ายที่การตักบาตรสุดอันซีนคู่บ้านหาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ โดยการตักบาตรยามเช้าของคนที่นี่นั้นเรียกว่า “การตักบาตรหาบจังหัน” หรือ “ประเพณีการการหาบสาแหรก” ซึ่งเป็นประเพณีท้องถิ่นที่กระทำสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งคำว่า “จังหัน” หมายถึงภัตตาหารที่จะถวายแด่พระสงฆ์
โดยการตักบาตรจะใส่เฉพาะข้าวสุก (ข้าวเจ้า) เท่านั้น โดยไม่มีกับข้าวใส่บาตร แต่จะนำกับข้าวคาวหวานอื่นๆ ตามไปถวายพระที่วัดภายหลัง ซึ่งการตักบาตรเฉพาะข้าวเปล่าแล้วค่อยนำอาหารไปถวายที่วัดนี้มักพบเห็นในประเทศลาว หรือจังหวัดในภาคอีสานของไทย เช่นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นต้น ต่างกันตรงที่เป็นการตักบาตรข้าวเหนียวแทนข้าวสวย
ความพิเศษที่น่ารักของการตักบาตรหาบจังหันอยู่ตรงการนำกับข้าวไปถวายพระที่วัดนั่นเอง โดยเมื่อพระสงฆ์เดินกลับวัดไปแล้ว แต่ละบ้านก็จะนำสำรับอาหารหรือปิ่นโตมาวางบนแป้นไม้หน้าบ้าน จากนั้นก็จะมีคนหาบสาแหรกไม้คานสายละ 3-4 คน นำสำรับอาหารของแต่ละบ้านที่วางบนแป้นไม้เหล่านั้นหาบไปถวายพระสงฆ์ที่วัดนั่นเอง
และนี่คือ 6 จุดตักบาตรที่มีขั้นตอนน่าสนใจและแปลกไม่เหมือนใคร ที่อยากชวนให้มาสัมผัสสเน่ห์เหล่านี้ด้วยตนเอง
#########################################
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline