พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นวิทยากรในเสวนาออนไลน์ เรื่อง “สิ้นสิทธิในไร่หมุนเวียน ฤาจะสิ้นวิถีกะเหรี่ยง” ว่า ยังมีความเข้าใจผิดว่าไร่หมุนเวียนหรือไร่ที่กระเหรี่ยงทำมาหากินอยู่เป็นการผิดกฎหมายหรือละเมิดกฎหมาย ที่จริงไม่ใช่เพราะว่ากะเหรี่ยงอยู่มาก่อนตั้งกรุงสุโขทัย
ในสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยที่มีการล่าเมืองขึ้น รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ไปประกาศว่าบนโลกนี้มีประเทศสยามอยู่ด้วยแล้วเราคือพระเจ้าแผ่นดิน ถามว่าคนที่อยู่ในประเทศสยามในวันนั้นยืนเย็นอยู่โดยชอบหรือไม่ ทำบ้านเรือนอยู่โดยชอบหรือไม่ เพราะตอนนั้นยังไม่มีกฎหมาย โดยชุมชนกะเหรี่ยงตั้งแต่จังหวัดเชียงรายยันจังหวัดประจวบฯ อีก 5 จังหวัดทางด้านอันดามันฝั่งตะวันตกมีชาวเลอาศัยอยู่ จริงๆกฎหมายไทยใช้ได้ กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง เราไม่มีสิทธิ์ที่ไปทำลายสิ่งที่อยู่เดิม กะเหรี่ยงที่ทำไร่หมุนเวียนอยู่ 7 ปี 10 ปี ถามว่าเกิดสิทธิตามกฎหมายที่ดินหรือไม่ กะเหรี่ยงไม่ได้ใช้สิทธิ์บุคคลเพราะเขาทำเป็นของชุมชนเป็นของส่วนรวม การเป็นสิทธิ์ของชุมชนนั้นถามว่าการทำไร่หมุนเวียน ถ้าต้องทำต่อเนื่อง ต้องทำเป็นไป 7 ปีต่อเนื่องหรือไม่
ถ้าเขาทำทุกปีเกิดอะไรขึ้น ถ้าทำทุกปีต้นไม้ก็ตาย ดินถล่ม หญ้าขึ้น แมลงก็มา ฉะนั้นถ้าเป็นที่ภูเขาต้องทำเว้นไปเพราะฉะนั้นการทำไร่หมุนเวียนไม่ว่าจะเป็น 7 ปีรอบหรือ 10 ปีรอบ จึงเป็นการทำประจำ นี่คือตามสภาพความเป็นจริง ดังนั้นกฎหมายไทยออกมาดี แต่คนที่ใช้กฎหมายไปใช้บางส่วนโดยเอากฎหมายอุทยานที่บอกว่าที่เป็นของอุทยานต้องเป็นที่ธรรมชาติและรัฐต้องการรักษาไว้เป็นธรรมชาติตามมาตรา 6 ถามว่าไร่หมุนเวียนหรือสวนยางของชาวบ้านที่เทือกเขาบูโดเป็นธรรมชาติหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ แต่อุทยานฯ ก็ยังเอาไปผนวกรวม ทั้งๆ ที่เขาครอบครองมาก่อนกฎหมาย เพราะฉะนั้นตามกฎหมายตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสไว้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2516 ชัดเจนมาก พระองค์เห็นถึงความชอกช้ำที่ชาวบ้านถูกรังแกจากข้าราชการ พระองค์พูดไว้ชัดเจนและพูดแรงด้วยว่า กฎหมายที่ใช้ เป็นการเอากฎหมายพื้นราบไปใช้บนภูเขาซึ่งไม่เป็นไปตามความเป็นจริง เอาวิชาการของต่างประเทศมาใช้ การตั้งกรมป่าไม้มาขึ้นมาเพื่อทำไม้ ไม่ใช่เพื่อปลูกป่าแล้วมาใช้กับบ้านเรา มาใช้กับกะเหรี่ยง การทำไร่หมุนเวียนไม่ได้มีในประเทศเราประเทศเดียวแต่ในประเทศในเอเชียก็มี
“ ประเทศไทยให้สัมปทานไม้ได้ 3 รอบ ทางภาคอีสานไม่มีไร่หมุนเวียนสัมปทานไม้ได้เพียงรอบเดียวด้านตะวันตกสัมปทานได้ 3 รอบ เพราะมีกะเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียน กฎหมายได้ให้สิทธิอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายป่าสงวนหรือกฎหมายอุทยาน แต่ข้าราชการไม่กันพื้นที่ให้ชาวบ้าน ที่ไม่ใช่พื้นที่ของอุทยาน ถ้ากันออกเกิดอะไรขึ้นครับ มันทำให้ดูเหมือนว่าพื้นที่อุทยานลดน้อยลง เมื่อพื้นที่น้อยลง งบประมาณที่ขอใช้ดูแลเพื่อลาดตระเวนก็ดี เพื่อปลูกป่าก็ดี ก็ลดน้อยลงไปด้วย มันเกี่ยวข้องกับการไม่ซื่อของข้าราชการ ผมกล้าพูดอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่ปี 2534” พลเอกสุรินทร์ กล่าว
พลเอกสุรินทร์กล่าวว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 สมุหเทศาภิบาลจังหวัดชายแดนต้องไปเยี่ยมชายแดนทั้งหมดทุกๆ จังหวัดซึ่งมีอยู่ในหอจดหมายเหตุที่ใครไปเยี่ยมบ้าง ได้เจอกับเหลนจำไม่ได้ว่าเหลนโหลนของกะเหรี่ยงคนหนึ่งที่เชียงใหม่ เขาบอกว่าทวดของทวดเขามีรอยสักที่ข้อมือ โดยสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกสักข้อมือ 2,000 คนเพื่อแสดงแนวเขตสยาม เช่นเดียวกับชาวเล ถูกย้ายเพื่อไปแสดงแนวเขตกับอังกฤษ เป็นการแสดงแนวเขตจากอังกฤษ ถ้าไม่มีกะเหรี่ยงประเทศไทยแคบนิดเดียว เมืองอุทัยธานีแบ่งครึ่งได้เลย ดังนั้นเขาอยู่มาก่อน เขามีสิทธิ์ทั้งทางกฎหมายแพ่งและกฎหมายปัจจุบันนี้แต่เราไม่อ่านกฎหมายการให้ครบถ้วน
ตั้งแต่สมัย คสช. เมื่อปี 2562 แก้กฎหมายอุทยานฯ บอกว่า ใครไม่มีเอกสารอยู่ได้ไม่เกิน 20 ปี อันนี้ถือว่าปล้นสิทธิ์กันซึ่งๆ หน้า กฎหมายที่ดินบอกว่าต้องแจ้งใครครอบครองที่ดินตรงไหน ต้องให้ประชาชนไปแจ้ง คำถามว่ากะเหรี่ยงรู้หรือไม่ ตอบไม่รู้หรอก ถ้าไม่แจ้งเสียสิทธิ์หรือไม่ สิทธิ์นะไม่เสียเพราะว่าเขาอยู่ก่อนกฎหมาย แต่กระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ยังเริ่มต้นไม่ได้เท่านั้นเอง และก็ต้องรู้ว่าใครอยู่ตรงไหนบ้างเท่านั้น แต่ว่าเขามีสิทธิ์อยู่แต่ว่ากรมป่าไม้ออกพระราชบัญญัติป่าเมื่อ 2484 ว่าป่าไม้คือที่ดินที่ไม่มีผู้ใดได้มาตามกฎหมาย ที่ดินซึ่งเมื่อปีที่แล้วนี่เองมาแก้ใหม่ ถามว่ากฎหมายที่ดินเคยให้ที่ดินใครหรือไม่ คำตอบคือไม่มี กฎหมายที่ดินให้กระดาษกับคนที่มีสิทธิ์ในที่ดินเท่านั้นเองเพราะการที่แจ้งหรือไม่แจ้ง ถ้าครอบครองมาก่อน 2479 และสืบเนื่องมา แม้จะไม่แจ้ง เขาก็มีสิทธิ์ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินของเขา
“คนที่อยู่ก่อน 2479 ถือว่ามีสิทธิเหนือกว่ากฤษฏีกาและกฏกระทรวง ผมเป็นคนเพชรบุรี ผมรู้จักใจแผ่นดินเพราะเขามาขายพริกแถวบ้านผมหัวตะพาน เอาแค่ปู่คออี้เป็นหลัก แกตายเมื่ออายุ 107 ปี เขาเกิดที่ใจแผ่นดิน ถามว่าเขามีสิทธิ์ครอบครองหรือไม่ ก็คือมีสิทธิ์ แต่เราอพยพเขาใช้กฎหมายข้อไหนซึ่งไม่มีบอก พอเขากลับไปทำในที่ที่เขามีสิทธิแต่ก็ไปเผาเขาจนเฮลิคอปเตอร์ตกไป 3 ลำ เพราะไม่ได้กันพื้นที่ที่ไม่ใช่ของอุทยานออก แต่ประกาศคลุมไว้อย่างนั้นแหละ สิทธิในที่ดินถ้าเราทำตามกฎหมายจริงๆ แล้ว คนกะเหรี่ยงมีสิทธิ์ในที่นั้น แต่ว่าเราไม่ได้กันออกเท่านั้นเอง ผมศึกษาเรื่องนี้มากว่า 30 ปี ผมอยากเสนอว่า เอาแต่ละกรมมานั่งหารือกัน ให้มีอัยการสูงสุดซึ่งเป็นทนายแผ่นดิน มีกฤษฎีกาเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล มีสภาทนายความเป็นของภาคประชาชน แล้วมีหน่วยงานที่มีที่ดินทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกรมที่ดิน กรมธนารักษ์ กรมป่าไม้ กรมอุทยานเข้ามานั่งหารือพร้อมกัน” พลเอกสุรินทร์ กล่าว
พลเอกสุรินทร์กล่าวว่า ตราบใดเรายังเข้าใจในกฎหมายไม่ตรงกัน ใช้กฎหมายบางส่วน อ่านกฎหมายไม่ครบเจตนา ไม่ตรงกันแล้ว มันก็ยังแก้ปัญหา การแก้ปัญหานี้ให้ได้ก็ต้องอ่านกฎหมายตรงกันเข้าใจกฎหมายตรงกันแล้ว ก็ทำพร้อมๆ กัน ไม่ใช่พูดกันคนละที มันถึงจะแก้ปัญหาได้ที่ต้นเหตุจริงๆ ไม่ใช่แก้ที่ตัวกฎหมาย แต่เป็นการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนาของกฎหมาย เพราะกฎหมายมีไว้สำหรับให้มีความสงบสุขในบ้านเมือง ไม่ใช่ว่าให้กฎหมายบังคับประชาชน ถ้ามุ่งหมายจะบังคับประชาชนก็จะกลายเป็นเผด็จการ กลายเป็นสิ่งที่บุคคลหมู่น้อยจะต้องบังคับคนหมู่มาก ในทางตรงกันข้ามกฎหมาย ให้บุคคลส่วนมากมีสิทธิ์เสรีและอยู่ได้ด้วยความสงบ
2021-02-21