“ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงขอสนทนากับ 2 นักวิชาการ อย่าง “รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” และ “นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล”
โดย“รศ.ยุทธพร เปิดฉากวิเคราะห์ว่า สิ่งที่จะทำให้สถานการณ์ร้อนแรงมีหลายปัจจัย 1.การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ถ้าจบลงโดยไม่มีอะไรที่รูปธรรมในการขับเคลื่อนต่อโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจและความเสมอภาคทางด้านสาธารณสุข ตอนนี้คือปัญหาวัคซีนโควิด 19 หรือถ้าอภิปรายไม่ครบ ไม่จบ ต้องคาบเกี่ยวถึงวันที่ 20 ก.พ.ซึ่งเป็นวันนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มราษฎร จะกลายเป็นประเด็นที่ถูกขยายผลมากขึ้น
2. เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้เลยช่วงเวลาที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคนไม่ได้ฝากความหวัง และไม่ได้เชื่อมั่นว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นคำตอบได้ แต่ต้องถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวว่าสุดท้ายเมื่อถึงจุดหนึ่งกลุ่มราษฎรขยับหรือปรับเปลี่ยนข้อเรียกร้องอีกครั้งจะเกิดผลกระทบอะไรหรือไม่
วันนี้เราอยู่ในภาวะที่การเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่แก้รัฐธรรมนูญไม่มีผลต่อการตอบสนอง ประชาชนไม่เชื่อถือในระบบรัฐสภา เห็นได้จาก ปรากฏการณ์คนไม่สนใจการอภิปรายฯครั้งนี้ แต่เข้าไปฟังการอภิปรายนอกสภาในแอปพลิเคชัน “คลับเฮาส์” แทน
ทั้งนี้เมื่อการเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง วันหนึ่งก็จะนำไปสู่ปรากฏการณ์ “มวลชนาธิปไตย” คือไม่สนใจการเมืองในระบบ แล้วออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องก็จะมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้
ถ้าการชุมนุมในวันที่ 20 ก.พ.เกิดขึ้น ประเด็นที่จะถูกหยิบมาระดมมวลชนระยะสั้นคือปัญหาที่ระบบรัฐสภาไม่สามารถตอบสนองหรือแก้ปัญหาได้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ และอาจจะหยิบยกเอาประเด็นเรื่องของการใช้ความรุนแรงในการชุมนุมวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมาด้วยแม้ยังไม่รู้ว่าฝ่ายไหนเริ่มใช้ความรุนแรงก่อน
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมระยะนี้คงไม่ง่าย เพราะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 บวกกับความอ่อนล้าของมวลชน และการที่แกนนำถูกจับกุม ดำเนินคดีก็มีส่วนที่ทำให้ม็อบอ่อนกำลังลง แต่คงไม่ทำให้การชุมนุมยุติ ซึ่งอาจเปลี่ยนยุทธศาสตร์ จากการชุมนุมใหญ่ๆ ก็จะกลับไปสู่จุดเดิม คืออยู่ในกลุ่มแนวร่วมเดิม เช่น กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งการที่ม็อบกระจายเป็นกลุ่มย่อยยิ่งทำให้ควบคุมกำกับยากขึ้น เพราะยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีแต่ละกลุ่มอาจจะต่างกัน เช่น ชุมนุมออนไลน์ ขยายแนวคิดอุดมการณ์ แต่การเคลื่อนไหวไม่ได้มีพลังที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม นี่คือสิ่งที่เราอาจจะได้เห็นในระยะยาวพอสมควร
รศ.ยุทธพร ย้ำว่า แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นประเด็นที่หยิบมาเรียกม็อบ แต่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เพราะเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นกติกาสูงสุดที่จะกำหนดทิศทางการเมือง หน้าตาทางการเมือง ดังนั้นรัฐธรรมนูญจะต้องทำให้ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน แม้เห็นต่าง แต่สอดคล้องกัน มีความสมานฉันท์ เป็นธรรมทุกฝ่าย
ทั้งนี้ ตาม Timeline วันนี้รัฐธรรมนูญควรได้ผ่านวาระ 3 แล้ว เดือนมีนาคม, เมษายน ต้องเข้าสู่การทำประชามติต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และต้องเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งส.ส.ร. แล้ว เพราะฉะนั้นตอนนี้ถือว่าล่าช้ามาก ยังไม่เข้าวาระ 2 เลย ฉะนั้นจะต้องเร่งมือ ถ้าประเด็นไหนไม่ได้จำเป็นจริงๆ ก็อย่าไปใช้เทคนิคหรือกลไกทางการเมืองมากนัก เพราะจะทำให้เกิดปัญหาได้
ด้าน “นายนพดล” มองว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจยังไม่มีอะไรที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ เพราะประเด็นที่อภิปรายนั้นคนที่ติดตามข่าวสารรู้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะมีผลในการปลุกม็อบให้ลงถนนได้มากเหมือนก่อน เพราะต้องเข้าใจประชาชนไทยในตอนนี้ก่อน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เอารัฐบาล กลุ่มไม่เอารัฐบาล และกลุ่มที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มพลังเงียบ และกลุ่มที่ไม่สนใจใคร ใครจะทำอะไรไม่สน แต่ขออย่าให้เขาเดือดร้อน
อย่างไรก็ตามโดยรวมความคิดเห็นของประชาชนคนส่วนใหญ่ ต้องการให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ ไม่สูญเสีย ไม่ขัดแย้ง รุนแรง บานปลาย เพราะฉะนั้นถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่ามาตราใดก็ตาม แล้วนำไปสู่ความสงบของบ้านเมือง คนโดยส่วนใหญ่ก็เทคะแนนให้อยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่มองร่วมกันอยู่คือการแก้ไขบทบาท หน้าที่ของสว.ไม่ให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ถ้ายกประเด็นไหน มาตราไหนขึ้นมาแล้วจะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เกิดวิกฤตชาติ ซ้ำความทุกข์ที่มีอยู่ให้มากขึ้นไปคนก็ไม่สนับสนุน โดยเฉพาะประเด็นที่มีความเปราะบาง
“การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษ ถ้าผู้มีอำนาจรัฐไม่มีมโนสำนึก ไม่สนใจหัวใจของประชาชน มัวแต่ห่วง สืบทอดอำนาจ ไม่แก้ปัญหาของประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญไปก็ไม่ตรงจุดอยู่ดี”
จริงอยู่ที่มีการมองว่ารัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงการกินดีอยู่ดี ผมขอมองสวนทางอีกด้าน และคงจะมีน้อยคนที่มองแบบนี้ โดยมองว่านี่คือเกม หรือสงครามระดับโลก ที่ค่อนข้างน่าสะพรึงกลัว คิดว่ามีใครอยู่เบื้องหลังที่เป็นขบวนการใหญ่โตจริงๆ ถึงได้มีท่อน้ำเลี้ยงเข้ามาต่างๆ แล้วใช้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาสร้างความขัดแย้ง ความแตกแยกในประเทศไทยจนเกิดความอ่อนแอ และเข้ามากอบโกยหาผลประโยชน์ บนซากปรักหักพังของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขนั้นต้องนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นต้องนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือไม่ขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ โดยตัดสิทธิวุฒิสภาไม่ให้ยุ่งเรื่องการเมือง ไม่ต้องมาให้ยุ่งเกี่ยวกับการเลือกนายกฯ เพราะตรงนี้ถ้าไม่แก้ประเทศไทยจะน่ากลัวมาก ผู้นำประเทศจะเป็นบุคคลที่อันตรายมาก ถ้าเป็นคนไม่ดี เพราะจะครองได้หมดทุกอย่าง.