หมายเหตุ – เป็นมุมมองนักวิชาการกรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เตรียมเสนอเปิดอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 เพื่อเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เรื่องนี้แปลกตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว ที่ไปกำหนดให้ ส.ว.สามารถขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติกับรัฐบาลได้ จริงๆ แล้วต้องดูว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะแบบลงมติหรือไม่ลงมติ ต้องเชื่อมโยงกับหลักการของระบบรัฐสภาที่ถูกต้องด้วย เพราะในระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลจะอยู่ได้ต้องอยู่ด้วยความไว้วางใจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งต้องเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่เชื่อมโยงกับประชาชน แต่ ส.ว. 250 คนไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย แม้ในระยะยาวจริงอยู่ที่ ส.ว.อาจจะมาจากการเลือก แต่ ณ วันนี้เป็น ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล ดังนั้นการที่จะใช้บทบัญญัติ (การเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ)นี้ก็ต้องพิจารณาด้วยว่ามีความยึดโยงกับประชาชนมากน้อยแค่ไหน เพราะตรงนี้ควรเป็นหน้าที่ของส.ส.มากกว่า
วันนี้บทบาทของ ส.ว.กำลังทำให้โครงสร้างของระบบรัฐสภาบิดเบี้ยว และยิ่งทำให้ดูแปลกว่า ทำไมความเดือดร้อนของประชาชน เช่น เรื่องปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญาต่างๆ ควรถูกสะท้อนฝ่ายตัวแทนของประชาชน ที่มีความยึดโยงกับประชาชนที่มาจากกระบวนการของการเลือกตั้ง แต่ ส.ว.250 คนไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แบบนี้จะทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามว่ากำลังเป็นเกมการเมืองอะไรหรือไม่ เพราะหลายคนก็ตั้งคำถามถึงที่มาว่า ส.ว. 250 คนที่มีที่มาจากการเสนอแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งในเวลานั้นหัวหน้า คสช. ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และในวันนี้นายกรัฐมนตรีก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ ตรงนี้ก็จะดูแปลกๆ ว่า คนที่ตัวเองตั้งมากำลังจะมาอภิปรายตนเอง แบบนี้เป็นความบิดเบี้ยวในระบบรัฐสภาไทยในปัจจุบัน
การที่ ส.ว.มีแนวคิดที่จะเปิดอภิปรายตามมาตรา 153 น่าจะเป็นการช่วย พล.อ.ประยุทธ์แสดงผลงาน ส.ว.วันนี้หากพูดกันตามตรงแล้วก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคหนึ่งเพราะฉะนั้นกระบวนการที่จะเกิดคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจจะกลายเป็นการเปิดพื้นที่ให้รัฐบาลได้ชี้แจงถึงประเด็นปัญหาที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องเดียวกัน เมื่อ ส.ว.มีแนวโน้มที่จะทำหน้าที่เสมือนพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นคงไม่มีพื้นที่ของความเห็นต่างมากนัก ตรงนี้จึงเป็นพื้นที่เชิงบวกให้กับรัฐบาลมากกว่า
มองว่าวันนี้สิ่งที่ฝ่ายค้านจะแก้เกมในสภาอย่างไร ถ้ารัฐบาลยังมีเสียงข้างมาก และเสียงในพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่แตกแยก ก็คงไม่อาจเปลี่ยนผลการลงมติได้ แต่สิ่งที่ฝ่ายค้านจะต้องทำวันนี้คือ การสร้างประเด็นทางสังคมที่จะใช้เป็นข้อถกแถลง แม้กระทั่งอาจจะมีกระบวนการบางอย่าง เช่น การอภิปรายนอกสภา การให้ข้อมูลกับประชาชน หรือแม้กระทั่งที่ปัจจุบันฝ่ายค้านมีโครงการฝ่ายค้านพบประชาชนที่จะเดินสายไปพื้นที่ต่างๆ ในทุกๆ เดือนก็เป็นสิ่งที่ดี นี่คือกลไกที่จะมาเสริมเพื่อสร้างให้เกิดความยึดโยงระบบรัฐสภากับประชาชน วันนี้รัฐสภาไทยอยู่ในภาวะที่อยากใช้คำว่า การเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง ถ้ายังปล่อยไว้อย่างนี้ กลไกในรัฐสภาจะไม่มีความหมาย ดังนั้น ฝ่ายค้านต้องพยายามเชื่อมโยงประชาชนด้วยระบบอื่นๆ อย่างที่กล่าวมา
วันนี้ได้รับคำถามอยู่บ่อยๆ ว่า รัฐบาลควรจะต้องแก้เกมอย่างไร นายกฯจะต้องปรับตัวอย่างไร คำตอบที่บอกเสมอคือ วันนี้มีทางเดียวแล้วคือต้องยุบสภา เพื่อให้นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ อายุของสภาผู้แทนฯเหลือไม่ถึงปีหนึ่งแล้ว ปัญหาต่างๆโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจยื้ดเยื้อเรื้อรังมานาน และเป็นปัญหาความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ขณะเดียวกันยังมีภาวะเศรษฐกิจโลกที่นอกเหนือการควบคุม ตัวขับเคลื่อนประเทศอยู่ที่ความเชื่อมั่น ถ้าประชาชนไม่เชื่อมั่นรัฐบาลโอกาสจะขับเคลื่อนแก้ปัญหาแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทางออกที่ดีที่สุดในวันนี้คือต้องยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อระบบการเมืองใหม่
จะเห็นว่า ปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาลเป็นโจทย์ใหญ่ ยิ่งวันนี้หลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งถูกนำมาเปรียบเทียบกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ในหลายกรณีบทบาทของชัชชาติดูมีความชอบธรรมมากกว่าบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วยซ้ำไป
ส่วนตัวมองว่า ส.ว.ดำเนินการแบบนี้ไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากนัก ไม่ได้เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาในระยะยาวได้ แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พูดกันตามตรงกระบวนการนี้ประชาชนก็ไม่ได้เชื่อมั่นเชื่อถืออะไรอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นสิ่งที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ด้วย
ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
การที่ ส.ว.จะเปิดการอภิปรายก่อนฝ่ายค้านเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคน โดยหลักการแล้วสามารถทำได้ แต่เนื้อหาการอภิปรายไม่รู้ว่าจะเหมือนกับฝ่ายค้านที่กำลังจะเปิดอภิปรายหรือเปล่า หรือจะชี้ให้เห็นจุดเด่นหรือผลงานด้านบวกของรัฐบาลมากกว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ หากมาดูภูมิหลังเส้นทางของ ส.ว. ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสัมพันธ์กับตัวนายกฯ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดชัด ส.ว.มาจากตนเอง ขณะที่รัฐบาลกำลังตกต่ำในเรื่องภาพลักษณ์และผลงานที่ผ่านมา จึงคิดว่าเป็นเกมการเมืองของรัฐบาล คืออย่างน้อยให้ ส.ว.ทำทีออกมาอภิปราย แต่อภิปรายในด้านบวกเสียก่อน เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลมีผลงาน ให้สังคมเห็นว่าด้านหนึ่งของรัฐบาลก็มีผลงานเหมือนกัน ถ้าให้ฝ่ายค้านอภิปรายอาจจะทำให้เกิดการเพลี่ยงพล้ำหนักขึ้น เพราะว่าผลงานโดนโจมตีอย่างหนักมาตลอด รวมทั้งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้ อาจจะส่งผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลอย่างหนักเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะยกมือโหวตรัฐบาลจะชนะก็ตาม
สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเจอคือกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเป็นผลไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน อาจจะนำไปสู่คะแนนนิยมที่ตกต่ำ และอาจจะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ ส.ว.ออกมาเปิดอภิปรายโดยไม่ลงมติ ซึ่งจะเป็นด้านบวกในการช่วยเหลือรัฐบาล
เชื่อว่าการอภิปรายของ ส.ว.ครั้งนี้มีผล หาก ส.ว.ทำข้อมูลได้ดีและสามารถยืนยันข้อมูลที่รัฐบาลจะถูกอภิปรายจากฝ่ายค้าน อาจจะลบล้างกันได้ และนำไปสู่ข้อมูลของฝ่ายค้านว่าไม่เป็นความจริง ถือว่าเป็นข้อมูลอีกชุดหนึ่ง อาจจะทำให้น้ำหนักการอภิปรายของฝ่ายค้านลดน้อยถอยลง หากมองว่าเป็นเกมการเมืองถือว่า ส.ว.มาปกป้องการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน
ส่วนจะมองว่าเป็นเรื่องตลก เพราะรัฐสภาไม่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน ในทางการเมืองเป็นไปได้หมด หากกฎหมายให้อำนาจ ซึ่งโดยหลักการทำได้อยู่แล้ว แต่ไม่เคยมีเท่านั้นเอง
หากการอภิปรายของ ส.ว.ครั้งนี้ทำอย่างตรงไปตรงมา อะไรว่าดีก็ว่าดี อะไรไม่ดีต้องเสนอแนะออกมา จะได้ปรับปรุงแก้ไข จะเกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ คือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ และอาจเป็นการกู้ภาพลักษณ์ของ ส.ว.ที่ถูกเชื่อมโยงว่าเป็นคนที่ถูกตั้งมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งการอภิปรายของ ส.ว.ต้องอยู่บนฐานของข้อมูลที่เป็นความจริง หากทำได้ดี ฝ่ายค้านจะเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ลำบากเหมือนกัน เพราะอาจทำให้ประชาชนมองว่า ส.ว.อภิปรายได้ดีกว่าฝ่ายค้านก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม แนวความคิดการอภิปรายของ ส.ว.ครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นในทางการเมืองมากกว่า เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายค้าน
เศวต เวียนทอง
อาจารย์สาขารัฐศาสตร์การปกครอง
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ส.ว.จะขอเปิดอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ ม.153 สามารถทำได้โดย ส.ว. 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมดลงชื่อขออภิปรายทั่วไป แต่มองว่าเป็นการดึงเกมหรือถ่วงเวลา ก่อนฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะ ส.ว.และฝ่ายค้านไม่สามารถอภิปรายรัฐบาลพร้อมกันได้ และอาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อาทิ กฎหมายเลือกตั้ง หรือกฎหมายพิจารณางบประมาณ เพื่อยึดอายุรัฐบาลออกไปจนกว่าครบวาระ 4 ปี
การอภิปรายของ ส.ว. เพื่อเสนอแนะรัฐบาลทั้งด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข มองว่าเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อว่า มีผลงานอะไรบ้างในช่วงบริหารประเทศมา 8 ปี อีกด้านหนึ่งต้องมองเกมการเมืองระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าจะสนับสนุนรับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือผ่านงบประมาณปี 2566 หรือไม่ ถ้ามีการโหวตสวน หรือไม่ไว้วางใจ อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจลาออก หรือยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ได้
การอภิปรายของ ส.ว. ไม่ใช่ประเด็นสำคัญต่อเสถียรภาพรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สิ่งที่น่าจับตามองคือผลสะท้อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ได้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯกทม. คนที่ 17 ว่าจะส่งผลต่อการเลือกต้้ง ส.ส.สมัยหน้าอย่างไร ส่วนตัวเชื่อว่ามีผลสะท้อนมาก เพราะประชาชนเบื่อหน่ายต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มา 8 ปีแล้ว ดังนั้น การอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมติของ ส.ว. จึงเป็นการแสดงละครทางการเมือง เพื่อซื้อหรือยื้อเวลาฝ่ายค้านซักฟอกรัฐบาลเท่านั้น
นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ มีแนวโน้มว่าไม่สนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพราะก่อนหน้านี้ถูกสั่งให้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราเพียง 10% เท่านั้น ทำให้ท้องถิ่นไม่มีรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ที่สำคัญส่งผลกระทบต่อเงินเดือน ค่าตอบแทนผู้บริหาร และสมาชิกสภาท้องถิ่น ลดลง ทำให้เกิดความไม่พอใจในวงกว้าง จึงมีคำถามในแวดวง อปท.ว่าแล้วใครจะเอาประยุทธ์เป็นนายกฯต่ออีก