วันจันทร์ ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมกับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจัดอภิปรายหัวข้อ “นวัตกรรมท้องถิ่นไทยก้าวไกลสู่สากล” ในงานประชุมวิชาการ Symposium เพื่อเผยแพร่ผลงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลการบริหารจัดการที่ดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ณ รร.มิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ เมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา
ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อให้เป็นรางวัลสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวถึงรางวัล United Nations Public Service Awards (UNPSA) รางวัลระดับสากลที่มอบให้กับหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่นด้านการให้บริการสาธารณะ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ของไทยได้รับรางวัลมาแล้วหลายแห่ง
โดยสิ่งที่ อปท. ไทยต้องเตรียมการประกอบด้วย 1.ทักษะด้านภาษา เพราะการนำเสนอผลงานในเวทีระหว่างประเทศต้องใช้ภาษาอังกฤษ 2.ทำความเข้าใจตัวชี้วัด ซึ่งก็คือหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มีตัวชี้วัด 17 ด้าน แต่ท้องถิ่นก็ต้องศึกษาดูว่า การทำงานในพื้นที่ของตนเองจะตอบโจทย์อะไรตัวชี้วัดเหล่านั้นได้บ้าง 3.มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม งานที่ทำต้องสามารถวัดผลได้ชัดเจน เช่น เป็นสถิติตัวเลขเชิงปริมาณ
อาทิ ท้องถิ่นที่ทำเรื่องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน ก็มีการคำนวณค่าออกมาว่าลดได้เท่าไร ซึ่งการลดคาร์บอนยังสร้างรายได้ผ่านการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย และ 4.ทำงานเป็นทีมและประสานความร่วมมือ การทำงานจะประสบความสำเร็จไม่ใช่เกิดจากผู้บริหารเพียงคนเดียว การฝึกอบรมบุคลากรและแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน สถาบันทางวิชาการและหน่วยงานอื่นๆ จึงเป็นสื่งสำคัญ เพราะแต่ละภาคส่วนก็มีความถนัดที่แตกต่างกัน
ศ.ดร.ดิเรก กล่าวต่อไปว่า การที่มี อปท. ของไทย สามารถออกไปคว้ารางวัลจากเวทีประกวดระดับสากล จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ อปท. แห่งอื่นๆ ทำผลงานที่ดี ออกมาต่อไป ซึ่งประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชนที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมเมื่อทำแล้วมันไม่อยู่กับที่ การใช้ของเดิมตลอดไปนั้นเป็นไปไม่ได้ จึงต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องไปอีก
พิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ เปิดเผยว่า อบจ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัลอันดับที่ 1 ประเภทท้องถิ่นขนาดใหญ่ จากสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ และได้รับการสนับสนุนให้ส่งประกวดรายการ UNPSA 2022 ซึ่งหลังจากนี้ต้องลุ้นว่าผลจะเป็นอย่างไร โดยผลงานของ อบจ.เชียงใหม่ เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและไฟป่าที่มาที่ไปมาจากในอดีตมีการห้ามเผาแล้วไม่ได้ผล จึงเกิดการทำงานร่วมกันระหว่างทางจังหวัดเชียงใหม่ อบจ.เชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มีการพัฒนานวัตกรรม เช่น กำหนดพื้นที่ชิงเผาก่อนหากการเผานั้นไม่กระทบต่อพื้นที่ จ.เชียงใหม่ “ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จคือการมีส่วนร่วมของประชาชน” ตั้งแต่คนที่อยู่ในเมืองไปจนถึงเกษตรกรที่ต้องเผาพื้นที่ รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย อีกทั้ง อบจ. สนับสนุนงบประมาณสำหรับหมู่บ้านที่อยู่ติดแนวป่าซึ่งสามารถทำได้ตามกฎหมาย อนึ่ง นอกจากดำเนินการในจังหวัดแล้ว อบจ.เชียงใหม่ ยังร่วมลงนามบันทึกความตกลงร่วม (MOU) กับ 10 จังหวัดในภาคเหนือเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันและไฟป่าร่วมกัน
ชัยวัฒน์ ภัทรกานต์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของประชาชน สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ร่วมกับอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นรางวัลสำหรับอปท. ตลอดจนสถาบันการศึกษาหลายแห่งปรับปรุงเกณฑ์ชี้วัดเพื่อนำไปสู่มาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งรางวัลออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย
1.ประเภททั่วไป มุ่งหวังผลักดันอปท. ให้มีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ให้บริการสาธารณะอย่างมืออาชีพ 2.ประเภทโดดเด่น เมื่อ อปท. สามารถบริหารจัดการอย่างมืออาชีพได้แล้ว ขั้นต่อไปคือต้องยกระดับไปสู่สากล และ 3.ประเภทดีเลิศ หมายถึงอปท. ที่บริหารจัดการอย่างมืออาชีพและได้มาตรฐานสากลแล้ว ก็ต้องรักษามาตรฐานนั้นไว้ให้ได้ และต้องพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ชัยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า จากการพัฒนาตัวชี้วัดต่างๆ ทำให้ในปี 2560 เทศบาลตำบลเขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี ได้รับรางวัลที่ 2 จากเวที UNPSA ในสาขาความเป็นเลิศในการบริการด้านสุขภาพ จากนวัตกรรมต้นแบบบ้านสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง โดยเหตุผลที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล เพราะเป็นการทำให้บ้านของผู้ป่วยเหมือนกับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล สำหรับบ้านต้นแบบนี้ต้องผ่านเกณฑ์ 5 มิติ ทั้งสุขภาพ กิจกรรม สังคม สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี อีกทั้ง
ในระดับสากลให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
ซึ่งเทศบาลตำบลเขาพระงามมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการในสำนักงานเทศบาล และประชาชนในพื้นที่ก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ผู้ป่วยที่รักษาตัวในบ้านต้นแบบดังกล่าวจึงรักษาตัวอย่างมีความสุข แต่เมื่ออาการป่วยรุนแรงขึ้น สามารถแจ้งไปที่ศูนย์ปฏิบัติการ แล้วจะมีรถมารับไปนำตัวส่งโรงพยาบาล ในเวลาเพียงไม่กี่นาทีหลังรับแจ้ง ซึ่งโรงพยาบาลก็มีข้อมูลผู้ป่วยอยู่แล้ว และหลังจากนั้นได้นำมาสู่การปรับปรุงอีกครั้งโดยนำหลักเกณฑ์ของ UNPSA มาใช้ในการมอบรางวัลด้านนวัตกรรม
ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งคือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองตาแต้ม อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับรางวัลที่ 1 จากเวที UNPSA ในปี 2562ในสาขาการพัฒนาประสิทธิภาพและความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ จากโครงการชุมชนพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ เนื่องจากมีหมู่บ้านหนึ่งใน อบต.หนองตาแต้ม ตั้งอยู่ในพื้นที่พิเศษ จึงไม่สามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าผ่านเสาไฟฟ้าตามปกติได้ ทำให้ชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้มาหลายสิบปี
อบต. จึงหารือกับชาวบ้านทำประชาคมร่วมกันว่าจะติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีการตั้งกองทุนหมุนเวียนให้ประชาชนกู้ยืมไปซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนั้น คนในพื้นที่ยังร่วมเป็นอาสาสมัครช่างชุมชนเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ส่งผลให้ 400 ครัวเรือน ในหมู่บ้านดังกล่าวมีไฟฟ้าใช้
รศ.ดร.นราธิป ศรีราม อาจารย์สาขาวิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่า การประกวดหรือประเมินรางวัล อปท. ที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มี อปท. 621 แห่งเข้าร่วมการประเมิน มี อปท. ที่ผ่านรอบตรวจประเมินเบื้องต้น เข้าสู่รอบตรวจประเมินเชิงลึก 309 แห่ง และผ่านจากรอบตรวจประเมินเชิงลึก เข้าสู่รอบสุดท้าย129 แห่ง
ส่วนเกณฑ์ชี้วัดนั้นในปี 2564 และต่อไปในปี 2565 ใช้เกณฑ์ที่เป็นสากล เช่น ธนาคารโลก (World Bank) ที่มีการสำรวจแต่ละประเทศว่ามีการบริหารจัดการที่ดีอย่างไรบ้าง และสรุปตัวชี้วัดออกมา 6 ด้าน ซึ่งก็นำมาประยุกต์เป็นเกณฑ์ประเมินในไทยในส่วนของการประเมินนวัตกรรม ที่จะมี 4 ด้านคือ 1.การมีส่วนร่วมของประชาชนเครือข่ายและตรวจสอบได้ 2.ความดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย รวมถึงสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ 3.ประสิทธิผล หมายถึงการวัดผลงาน และ 4.คุณภาพกฎหมาย-กฎระเบียบ ซึ่งรวมถึงหลักนิติธรรม
สำหรับรางวัล United Nations Public Service Awards (UNPSA) 2022 จะประกาศผลในเดือนมิ.ย. 2565 ซึ่งจะมีผลงานจากประเทศไทยได้รับรางวัลหรือไม่อย่างไรนั้นต้องรอติดตาม!!!
รางวัล United Nations Public Service Awards (UNPSA) เป็นรางวัลที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council-ECOSOC) ในปี 2545 เพื่อมอบให้แก่หน่วยงานที่ดําเนินการด้านการให้บริการสาธารณะ มีผลงานการบริหารราชการยอดเยี่ยม มีนวัตกรรมในการบริหารราชการ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก และมอบหมายให้ Division for Pubic Administration and Development Management (DPADM) เป็นผู้ทําหน้าที่ในการบริหารจัดการ โดยพิธีมอบรางวัล UNPSA จะจัดขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายนของทุกปี
สํานักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ (UN) ได้เปิดให้ประเทศสมาชิกเสนอชื่อองค์การและหน่วยงานภาครัฐสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นประจําทุกปีผ่านทางเว็บไซต์ www.unpanorg และสำหรับประเทศที่สมัครเพื่อขอรับรางวัล UNPSA ที่มาจากทั้วโลกนั้น จะถูกนำมาแบ่งกลุ่มตามภูมิภาคเพื่อความเท่าเทียม โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มแอฟริกา 2.กลุ่มเอเชียและแปซิฟิก 3.กลุ่มยุโรปตะวันออก 4.กลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน และ 5.กลุ่มยุโรปตะวันตกและอื่นๆ (ที่มา : สำนักงาน ก.พ.ร.)