อพท. ตั้งเป้าปี’64 สร้างชุมชนต้นแบบตามมาตรฐานเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก 6 แห่งใน 6 พื้นที่พิเศษ เร่งดันเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป้าหมายอย่างน้อย 8 ชุมชน พร้อมจับมือองค์กรยูเนสโกใช้เครื่องมือ VMAT บริหารจัดการนักท่องเที่ยว-แหล่งท่องเที่ยว ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวสู่สากล พร้อมเล็งผลักดันเมืองเก่าสุโขทัยขึ้นแท่นแหล่งท่องเที่ยว TOP 100 ของโลก
นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผบว่า เพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคการท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพื่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่แห่งท้องถิ่นให้ดีขึ้นในปี 2564 นี้ อพท.จะยังคงดำเนินการบริหารงานที่ยึดมั่นในปรัชญาการทำงานแบบ Co-creation คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ต่อไป
และจะเพิ่มอีก 1 ร่วม คือร่วมเป็นเจ้าของ หรือ Co-Own เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความหวงแหนร่วมกัน โดยมีจุดเน้นการดำเนินงานดังนี้ 1.ภารกิจด้านการประกาศพื้นที่พิเศษ อพท.อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และเตรียมประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษแห่งใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า
2.ภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ในพื้นที่พิเศษจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ตำบลเกาะหมาก จ.ตราด พื้นที่ตำบลนาเกลือ จ.ชลบุรี
พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย พื้นที่ตำบลเชียงคาน จ.เลย พื้นที่ตำบลในเวียง จ.น่าน และพื้นที่เทศบาลตำบลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป้าหมายสำคัญในปี 2564 คือ อพท.จะผลักดันให้พื้นที่ตำบลเมืองเก่า จ.สุโขทัย ให้เป็น Global Sustainable Destinations Top 100 หรือแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่ดีที่สุดในโลก 100 แห่ง
3.ภารกิจด้านการขับเคลื่อนเมืองตามแนวทางเครือข่ายเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) 2 แห่ง ได้แก่ จ.น่าน และ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ประจำปี 2564 ให้ได้ร้อยละ 75 และจัดทำใบสมัครในการเสนอเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก
4.ภารกิจด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism: CBT) โดยการ“สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน” จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CBT Thailand เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันโดยมีเป้าหมายในการผลักดันชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ได้อย่างน้อย 8 ชุมชน
และ 5.นอกเหนือจากภารกิจภายในประเทศแล้ว อพท. ยังได้จับมือกับหน่วยงานชั้นนำในระดับโลก เพื่อต่อยอดความสำเร็จสู่การเป็นต้นแบบในระดับสากลในหลาย ๆ ด้าน อาทิ มีการลงนาม MOU ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและสมาคมภาคเอกชนระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นองค์การการท่องเที่ยวโลก หรือ United Nation World Tourism Organization: UNWTO / องค์การยูเนสโก (UNESCO) / Pacific Asia Travel Association (PATA) / สมาพันธ์การท่องเที่ยวอาเซียน: ASEAN Tourism Association (ASEANTA) และ GSTC
สำหรับแนวทางในระยะต่อไปคือ อพท.จะได้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการริเริ่มโครงการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนร่วมกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับอาเซียน เอเปค และสหภาพยุโรป ซึ่งในปี 2564 นี้ ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของ อพท. ที่สามารถไปคว้าทุนสนับสนุนจากกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนอาเซียน กองทุนสนับสนุนจากประเทศตุรกี กองทุนสหภาพยุโรปหรือ EU ซึ่งต่อไป อพท. จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติในอีกหลายรายการนับจากนี้ ซึ่งจะช่วยยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยสู่สายตาประชาคมโลกภายหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงได้อย่างแน่นอน
นาวาอากาศเอกอธิคุณกล่าวต่อไปว่า อพท. มีแนวทางที่จะยกระดับภารกิจของหน่วยงานสู่สากลโดยร่วมมือกับองค์การยูเนสโก UNESCO เกี่ยวกับเครื่องมือการประเมินการจัดการนักท่องเที่ยว (Visitor Management Assessment Tool: VMAT) ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานแห่งแรกของประเทศไทยเลยที่นำเครื่องมือนี้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกและพื้นที่พิเศษ อพท. และจะมีการต่อยอดไปถึงระดับอาเซียน
โดยในอนาคตและในปี 2564 นี้ สำนักงานใหญ่ขององค์การยูเนสโกที่กรุงปารีส ได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้เรียนรู้เครื่องมือตัวใหม่ที่องค์การยูเนสโกคิดค้นขึ้นเพื่อบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกและแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน
ซึ่ง อพท. ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมในระดับประเทศไปเมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้ อพท. จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับอาเซียนในช่วงปลายปี 2564 และระดับเอเปค ในปี 2565 เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ได้เห็นถึงความสำเร็จของประเทศไทยในการเป็นต้นแบบด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั่นเอง
สำหรับโปรแกรม VMAT เป็นเครื่องในการสร้างแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวซึ่งมีประโยชน์ในการนำมาใช้ คือ เพิ่มพูนความเข้าใจและสามารถติดตามผลและเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของการจัดการนักท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวได้ดีขึ้น สร้างกิจกรรมที่สมเหตุสมผล ปรับปรุงการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว เสริมสร้างบุคคลและสถาบัน และต่อยอดความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ VMAT จัดเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์การพัฒนาในอนาคต เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นต่อการใช้งานในแต่ละพื้นที่ และให้ความสำคัญกับระบบการจัดการนักท่องเที่ยวที่มีบริบทสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์คุณค่าของแหล่งมรดกและนำไปสู่การบูรณาการเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้ โดย อพท.จะนำเข้าข้อมูลภายในพื้นที่เพื่อประเมินประสิทธิภาพภายใต้เป้าหมาย 4 ด้านที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้แก่ การบริหารและการจัดการนักท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนทางสังคม และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ จากนั้นจึงประเมินค่าเป็นคะแนน เพื่อสร้างฐานข้อมูลและพัฒนากลยุทธในการวางแผนปฏิบัติการและกระบวนการทำงานของ อพท. ต่อไป