ในกรุงเทพฯ มีวัดวาอารามที่อยู่หลายแห่งด้วยกัน โดยเฉพาะบนเกาะรัตนโกสินทร์ ครั้งนี้จึงขอชวนสายบุญทั้งหลายมาสักการบูชา 9 มงคล ที่ “วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” วัดสำคัญของพระนคร มาไหว้พระเติมบุญกันให้สุขกายสบายใจ พร้อมยลสถาปัตยกรรมอันงดงามที่สามารถเดินชมได้อย่างเพลิดเพลิน
“วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร” ตั้งอยู่ในเขตพระนครชั้นใน แขวงเสาชิงช้า โดยมีเสาชิงช้า ตั้งโดดเด่นอยู่ทางด้านหน้าของวัด เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นวัดกลางพระนคร และสร้างพระวิหารสูงใหญ่เทียบเท่าวัดพนัญเชิงของกรุงศรีอยุธยา จากนั้นทรงอัญเชิญพระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัย ซึ่งหล่อขึ้นตั้งแต่สมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ที่เรียกกันว่าพระโต หรือพระใหญ่ จากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัยมาประดิษฐานไว้
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงสร้าง พระวิหารต่อจนเสร็จพร้อมกับสร้างพระอุโบสถและหล่อพระประธานขึ้นใหม่ พระราชทานนามวัดเป็น วัดสุทัศนเทพวราราม จากเดิมที่เรียกกันว่า วัดพระโต จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงถวายพระนาม พระโต ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารว่า พระพุทธศรีศากยมุนี และพระประธานในพระอุโบสถว่าพระพุทธะตรีโลกเชษฐ์
สำหรับสิ่งสำคัญที่จะชวนทุกมาสักการบูชา 9 มงคล ได้แก่
พระพุทธศรีศากยมุนี
เมื่อเดินทางเข้ามาในวัดสุทัศน์แล้วจะต้องเข้ามากราบองค์พระ “พระพุทธศรีศากยมุนี” ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยสำริดปิดทอง เดิมประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ กลางกรุงสุโขทัย โดยมีศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวอ้างถึงว่า พระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์กรุงสุโขทัย ราชวงศ์พระร่วง โปรดเกล้าฯ ให้หล่อและทำการฉลองในปีพ.ศ. 1904
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ในปีพ.ศ 2350 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปอัญเชิญพระใหญ่จากเมืองสุโขทัย ล่องตามลำน้ำมายังพระนคร เมื่อมาถึงทรงโปรดให้มีพิธีสงฆ์ และงานสมโภชทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา 7 วัน จึงอัญเชิญขึ้นบกพร้อมด้วยขบวนแห่อันยิ่งใหญ่ พระราชดำเนินด้วยพระบาทเปล่าตามกระบวนแห่มาด้วย เพื่อนำไปประดิษฐานยังวัดสุทัศนเทพวราราม ที่ทรงโปรดให้สร้างขึ้นใหม่บริเวณกึ่งกลางพระนคร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพระนามพระใหญ่องค์นี้ว่า “พระพุทธศรีศากยมุนี”
พระสุนทรีวาณี (ลอยองค์)
บริเวณด้านข้างองค์พระใหญ่ที่อยู่วิหาร ก็มี “พระสุนทรีวาณี (ลอยองค์)” ที่ประดิษฐานภายในพระวิหารหลวงเป็นปูชนียวัตถุ รูปเปรียบพระธรรม โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ได้เสด็จเป็นประธาน ประกอบพิธีเททองและพุทธาภิเษก ณ มณฑลพิธี วัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งพระสุนทรีวาณีองค์นี้ ถูกสร้าง เป็นรูปแบบพิเศษครั้งแรก ในนามคณะสงฆ์วัดสุทัศนเทพวราราม และผู้ออกแบบคือ นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
เดิมพระสุนทรีวาณี เป็นภาพเขียนโบราณที่เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฒโน ป.ธ.8) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามรูปที่ 3 ได้ดำริสร้างขึ้นด้วยการผูก ลักษณาการ จากคาถาที่ได้รับสืบทอดมาจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และมอบหมายให้หมื่นสิริธัชสังกาศ (แดง) เขียนภาพขึ้น โดยมีลักษณะเทพธิดาทรงเครื่องอย่างบุรุษ แสดงนิสีธนาการ บนดอกบัว สื่อถึงพระธรรม พระหัตถ์ขวาแสดงอาการกวักเรียก สื่อถึงเชิญชวนให้มาศึกษาปฏิบัติ พระหัตถ์ซ้ายมีแก้ววิเชียรวางประทับ สื่อถึงพระนิพพาน มีองค์ประกอบรายล้อมด้วยมนุษย์นั่งบนดอกบัวซ้ายขวา ด้านล่างมีนาคและสัตว์น้ำ ด้านบนมีรูปเทพยดา พรหม สื่อถึงสังสารวัฏฏ์
พระพุทธตรีโลกเชษฐ์
ถัดจากพระวิหารไปด้านในจะพบกับพระอุโบสถ “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” ประดิษฐานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ หล่อด้วยสำริดปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงจักร กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์หล่อขึ้น ณ โรงหล่อในพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งยังทรงโปรดให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุหลวงจากพระบรมมหาราชวัง มาประดิษฐานภายในองค์พระพุทธรูปด้วย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์”
พระพุทธรูปปางประทานโอวาทท่ามกลางพระอสีติมหาสาวก ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อทดแทนพระศรีศาสดา ที่ทรงอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระพุทธรูปและพระมหาสาวก 80 องค์ เป็นศิลปะตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 สร้างด้วยปูนปั้นลงสี ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ทรงถ่ายแบบจากหุ่นพระโครงสานไม้ไผ่ ที่สมมติเท่าองค์พระพุทธเจ้า ที่ทรงสร้างเป็นตัวอย่าง และพระมหาสาวกมีลักษณะคล้ายบุคคลจริง มีใบหน้าและสีผิวที่แตกต่างกันไป ตามอนุพุทธประวัติ
พระกริ่งใหญ่
หลังจากสักการะพระพุทธตรีโลกเชษฐ์เรียบร้อยแล้ว จากนั้นเดินไปยังด้านหลังของพระอุโบสถ จะพบกับ “พระกริ่งใหญ่” ประดิษฐานที่มุขด้านหลังพระอุโบสถ หล่อด้วยสำริดปิดทอง สร้างเมื่อพ.ศ. 2534 โดยคณะศิษย์ยานุศิษย์ในเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามรูปที่ 7 มีวัตถุประสงค์จัดสร้างเพื่อถวาย สักการบูชาพระคุณในวาระที่เจ้าประคุณมีอายุวัฒนมงคลครบ 5 รอบ 60 ปี ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ ที่พระธรรมปิฎกจึงได้ถวายพระนามพระกริ่งใหญ่องค์นี้ว่า “พระกริ่งธรรมปิฎก 60”
ท้าวเวสสุวรรณ
ด้านข้างพระกริ่งใหญ่จะมี “ท้าวเวสสุวรรณ” ประดิษฐานที่มุกด้านหลังพระอุโบสถ หล่อด้วยสำริดเคลือบสีเขียว ท้าวกุเวรมหาราช เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติ เกิดเป็นพราหมณ์ชื่อ “กุเวร” ได้สร้างโรงหีบอ้อยประกอบเครื่องยนต์ 7 เครื่อง ให้ผลกำไรขึ้นที่โรงแห่งหนึ่งแก่มหาชนได้กระทำบุญ ผลกำไรที่มากกว่าได้เกิดขึ้นแม้ในโรงที่เหลือ จึงเลื่อมใสในบุญนั้น นำเอาผลกำไรที่เกิดขึ้นแม้ในโรงที่เหลือ ให้ทานตลอดหมื่นปี เมื่อถึงแก่กรรมไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อกุเวรในสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา ปกครองหมู่ยักษ์ และอมนุษย์ มีราชธานีชื่อวิสาณะ ตั้งแต่นั้นจึงเรียกว่า ”ท้าวเวสสุวรรณ”
พระพุทธเสฏฐมุนี
จากนั้นเดินไปยังศาลาการเปรียญเพื่อไปสักการะ “พระพุทธเสฏฐมุนี” ที่ประดิษฐานภายในศาลาการเปรียญ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ หล่อด้วยกลักฝิ่นปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้ปราบปรามกวาดล้างฝิ่นอย่างเด็ดขาด ทรงโปรดให้นำฝิ่นมาเผาทำลายที่สนามไชยและนำกลักฝิ่นมาหล่อเป็นพระพุทธรูปที่โรงหล่อในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานภายในศาลาโรงธรรม ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธเสฏฐมุนี” โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อกลักฝิ่น”
พระพุทธรังสีมุทราภัย
หากหันหน้าเข้าไปด้านในศาลาการเปรียญจะมี “พระพุทธรังสีมุทราภัย” ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายของศาลาการเปรียญ เป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้นำกลับสิ่งที่เหลือจากการหล่อพระพุทธรูปมาซ่อมแปลงพระพุทธรูปองค์นี้ที่ชำรุดอยู่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานภายในศาลาโรงธรรม และถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธรังสีมุทราภัย” โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า “หลวงพ่อเหลือ”
สมเด็จพระอริยวง สาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว ป.ธ.5)
ส่วนด้านขวามี “สมเด็จพระอริยวง สาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสสเทโว ป.ธ.5)” สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ 2481-2487 อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม พระองค์ที่ 4 พ.ศ. 2443-2487 ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต นั้น คณะสงฆ์ได้จัดให้มีการสอบบาลีสนามหลวงทั่วราชอาณาจักร ทรงดำรงตำแหน่งแม่กองบาลี เป็นพระองค์แรก
ทรงได้รับการยกย่องเป็นพระคณาจารย์ที่โด่งดังในการสร้างพระกริ่งของเมืองไทย ส่งเริ่มสร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ 2441 ถึง 2486 เริ่มรุ่นแรกคือพระกริ่งเทพโมลี พระกริ่งธรรมโกษาจารย์ พระกริ่งพรหมมุนี พระกริ่งพุฒาจารย์ จนมาถึงรุ่นสุดท้ายคือพระกริ่งเชียงตุง แต่ด้วยจำนวนการสร้างในแต่ละรุ่นนั้นน้อยมาก ปัจจุบันจึงนับว่าหายได้ยากยิ่งนัก ซึ่งทุกรุ่นล้วนทรงคุณค่าและทรงพุทธาคมเป็นเลิศทั้งสิ้น
ต้นพระศรีมหาโพธิ์
นอกจากนี้ยังมี “ต้นพระศรีมหาโพธิ์” (ประดิษฐานร่วมกับพระพุทธรูปปางมารวิชัย) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดให้อัญเชิญหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ทรงรับมาจากคณะสมณทูตสยาม ซึ่งนำกลับมาถวายจากประเทศศรีลังกา เมื่อพ.ศ. 2361 และโปรดให้ปลูกไว้ที่วัดสุทัศนเทพวราราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ และวัดสระเกศ
และในรัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ปลูกหน่อพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยาประเทศอินเดีย อีกต้นหนึ่ง ที่สัตตมหาสถาน (ประดิษฐานร่วมกับพระพุทธรูปปางสมาธิ)
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ [email protected] หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ “>Youtube :Travel MGR และ “>Instagram : @travelfoodonline และ “>TikTok : @travelfoodonline