เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: โรม บุนนาค
เราถือกันว่า ประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ขึ้นครองราชย์ ณ กรุงสุโขทัยในปี พ.ศ.๑๗๙๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๘๑ ก็ผนวกรวมเข้ากับกรุงศรีอยุธยา เป็นประเทศที่มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงที่สุดในย่านนี้ แต่ในวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๑๑๒ ก็ต้องเสียกรุงตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า จนเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประกาศอิสรภาพใน พ.ศ.๒๑๒๗ จึงกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่เหมือนเดิมได้อีก แต่แล้วในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ ก็ต้องเสียกรุงเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งนี้ย่อยยับจนไม่อาจฟื้นกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ที่กรุงธนบุรี
สาเหตุของการเสียกรุงครั้งแรกนั้น เนื่องจากพม่าซึ่งเป็นคู่แข่งคู่แค้นของไทยอยู่ในช่วงมีกษัตริย์ที่เข้มแข็ง ๒ พระองค์ คือพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ส่วนกรุงศรีอยุธยาอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งถูกอัญเชิญให้ลาผนวชมาขึ้นครองราชย์หลังจากมีการสำเร็จโทษขุนวรวงษาและเจ้าแม่ศรีสุดาจันทร์ แต่มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีถึง ๗ เชือก พระเจ้าตะเบงชะเวตี้จึงถือเป็นเหตุเปิดศึกด้วยการขอช้างเผือก ซึ่งเรื่องอย่างนี้ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดยอมและไม่มีใครเขาขอกัน พระเจ้าตะเบงชะเวตี้จึงถือเป็นเหตุยกทัพมา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิสละสมณเพศมาได้ ๗ เดือนก็ทรงช้างออกไปรับศึกด้วยขัตติยมานะ แต่ผู้ที่รับเคราะห์ในเรื่องนี้ก็คือพระสุริโยทัย ผู้เป็นเอกอัครมเหสี ซึ่งได้แต่งองค์เป็นพระมหาอุปราชทรงเครื่องรบ ทรงช้างตามเสด็จพระราชสวามีไปด้วย และทรงไสช้างเข้ารับพระแสงของ้าวของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ สวรรคตคาคอช้าง ช่วยพระชนม์ชีพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไว้ได้ ทำให้พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ กษัตริย์หนุ่มผู้คนองศึก รู้สึกละอายพระทัยที่ทำยุติหัตถีกับอิสตรีจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ทรงหมกมุ่นกับการเสวยน้ำจันท์จนกระทั่งถูกปลงพระชนม์
ผู้ที่ขึ้นครองราชย์ต่อก็คือพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งต้องการแก้หน้าในเรื่องนี้จึงใช้วิธีขอช้างเผือกเหมือนกัน แต่ขณะนั้นราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเกิดปัญหาบาดหมางกันในครอบครัวอย่างหนัก เนื่องจากขุนพิเรนทรเทพผู้เป็นบุคคลสำคัญในการสำเร็จโทษเจ้าแม่ศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงษา แล้วอัญเชิญพระเทียรราชาขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงทรงตอบแทนขุนพิเรนทรเทพโดยโปรดเกล้าฯให้เป็นพระมหาธรรมราชา ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก พร้อมทั้งพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรี พระราชธิดา ให้เป็นมเหสี
แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองมีความแตกต่างกันมาก ชีวิตสมรสจึงมีแต่การทะเลาะเบาะแว้งไม่ลงรอยกัน ครั้งหนึ่งพระมหาธรรมราชาได้ตีพระเศียรพระวิสุทธิกษัตรีแตก พระราชธิดาจึงใช้ผ้าซับพระพักตร์เช็ดพระโลหิตส่งไปฟ้องพระราชบิดา ทำให้พระมหาธรรมราชาต้องร้าวฉานกับราชสำนักกรุงศรีอยุธยาอย่างหนัก พระมหาธรรมราชาจึงต้องหันไปพึ่งพระเจ้าบุเรงนองให้คุ้มครองชีวิต
ความบาดหมางถึงขั้นรุนแรงขึ้นเมื่อพระไชยเชษฐา มหาราชของลาว ได้สู่ขอพระเทพกษัตรี หน่อเนื้อเชื้อไขของพระสุริโยทัยไปเป็นพระมเหสี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเห็นว่าพระไชยเชษฐาเป็นคู่อริของพระเจ้าบุเรงนอง หากผูกสัมพันธ์กันไว้ก็จะเป็นมหามิตรในการปกป้องประเทศได้ แต่เมื่อพระมหาธรรมราชาทราบข่าวว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิส่งตัวพระเทพกษัตรีไปเวียงจันทน์ จึงรีบส่งข่าวไปถึงพระเจ้าบุเรงนองให้ชิงตัวกลางทางไปเมืองตองอูได้สำเร็จ
ในปี พ.ศ.๒๑๑๑ พระมหาธรรมราชาไปเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่เมืองตองอู ทรงแต่งตั้งให้พระมหาธรรมราชา เป็น พระศรีสรรเพชญ์ เจ้าฟ้าพิษณุโลก เจ้าเมืองประเทศราช สมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระมหินทราธิราช ราชโอรส ทรงเห็นว่าพระมหาธรรมราชาเป็นกบฏ จึงไปชิงตัวพระวิสุทธิกษัตรีจากพิษณุโลกกลับมากรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาได้ส่งสาสน์ไปทูลพระเจ้าบุเรงนองให้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา
ฉะนั้น เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.๒๑๑๒ นั้น จึงมีกองทัพพิษณุโลกของพระมหาธรรมราชาร่วมมาด้วย พระมหินทราธิราช ซึ่งขึ้นครองราชย์แทนสมเด็จพระจักรพรรดิที่สละราชสมบัติไปทรงผนวช จึงไปทูลขอให้พระราชบิดาลาผนวชกลับมาครองราชย์อีกครั้ง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิบัญชาการรบได้ไม่นานก็ประชวรสวรรคต พระมหินทราธิราชต้องกลับขึ้นราชบัลลังก์ใหม่
แม้แม่ทัพจะต่างชั้นกันอย่างมาก แต่พระเจ้าบุเรงนองผู้มีฉายาว่า “ผู้ชนะสิบทิศ” ล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ถึง ๙ เดือน ก็ยังไม่อาจตีกรุงศรีอยุธยาได้ ต้องใช้วิธีไปเกลี้ยกล่อมล่อใจพระยาจักรีที่ตกเป็นตัวประกันมาตั้งแต่สงครามช้างเผือกและติดตามทัพมาด้วยให้เป็นไส้ศึก โดยจองจำด้วยโซ่ตรวนไว้ ๔-๕ วันแล้วแอบปล่อยไปกลางดึก สร้างเรื่องให้น่าเชื่อถือโดยตัดหัวเสียบประจานผู้คุมเสีย ๓๐ คน พระยาจักรีหนีไปถึงหน้าประตูเมืองกรุงศรีอยุธยาทั้งโซ่ตรวน สมเด็จพระมหินทร์ก็เชื่อว่าพระยาจักรีหนีพม่ามาเพื่อจะช่วยรักษาเมืองจริง จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้ป้องกันพระนครที่กำลังขาดคนบัญชาการ พระยาจักรีก็สับเปลี่ยนโยกย้ายหน่วยป้องกันจนอ่อนแอไปทุกด้าน พอมีโอกาสก็เปิดประตูเมืองให้กองทัพพระเจ้าบุเรงนองเข้าเมืองได้โดยง่าย
สาเหตุของการเสียกรุงครั้งนี้จึงเกิดจากการแตกแยกกันภายใน เห็นแก่เรื่องครอบครัวมากกว่าประเทศชาติ ทั้งบางคนยังเห็นแก่อามิสสินจ้างยอมเป็นไส้ศึก และถ้ามีเหตุเหมือนเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ประวัติศาสตร์ก็ต้องซ้ำรอย
ส่วนการเสียกรุงครั้งที่ ๒ ชัดเจนว่าเกิดจากความไร้สมรรถภาพของผู้นำโดยเฉพาะ อยากจะเป็นใหญ่จนตัวสั่น แม้จะไม่มีคุณสมบัติของผู้นำเลยแม้แต่น้อย ทำให้ประเทศชาติต้องย่อยยับ ส่วนตัวเองก็ประสบเคราะห์กรรมไม่ต่างจากอาณาประชาราษฎร์
กษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยานี้ก็คือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศน์ ผู้ถูกเรียกขานกันว่า “ขุนหลวงขี้เรื้อน” ซึ่งอาจจะทรงเป็นโรคนี้หรือพฤติกรรมของพระองค์ก็ได้ เป็นโอรสองค์รองของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ในปี พ.ศ.๒๒๙๘ เมื่อ “เจ้าฟ้ากุ้ง” เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ พระราชโอรสองค์โตซึ่งเป็นรัชทายาทต้องพระราชอาญาถึงสิ้นพระชนม์ ขุนนางข้าราชการทูลขอให้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ราชโอรสองค์เล็กเป็นรัชทายาท แต่เจ้าฟ้าอุดมพรกลับขอให้สถาปนาพระเชษฐา กรมหลวงอนุรักษ์มนตรี หรือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ พระราชบิดารับสั่งว่า
“กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขา หาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชการกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติเสียหาย เห็นแต่กรมขุนพรพินิต กอปรด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลม สมควรจะดำรงเศวตฉัตรครองสมบัติรักษาแผ่นดินสืบไป เหมือนดังคำปรึกษาด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวง”
มีพระราชโองการให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ออกผนวช และสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเป็นมหาอุปราช
แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประชวรหนัก เจ้าฟ้าเอกทัศน์ทราบข่าวก็ลาผนวชกลับมาประทับในวัง รอขึ้นครองราชย์แทน ด้วยถือว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสที่อาวุโสที่สุด และเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต ขุนนางข้าราชการอัญเชิญเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ก็ชิงเสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ ซึ่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์ เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงเห็นว่าพระเชษฐาอยากเป็นกษัตริย์ เลยสละราชสมบัติให้หลังจากครองราชย์มาได้เพียง ๑๐ วัน แล้วเสด็จออกผนวช
เจ้าฟ้าเอกทัศน์บริหารราชการแผ่นดินอย่างที่พระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศรับสั่งไว้ไม่มีผิด เป็นที่วิตกของขุนนางข้าราชการไปตามกัน ในปี ๒๓๐๒ พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่ายกทัพมาตีไทย และตีหัวเมืองได้เรื่อยมาจนถึงกรุงศรีอยุธยา ขุนนางข้าราชการเกรงว่าพระเจ้าเอกทัศน์จะรักษาบ้านเมืองไว้ไม่ได้ จึงขอไปทูลเชิญให้เจ้าฟ้าอุทุมพรลาผนวชมาช่วยรักษาพระนคร พระเจ้าเอกทัศน์ก็ยอม เพราะจนปัญญาไม่รู้ว่าจะสั่งสู้พม่าอย่างไร เจ้าฟ้าอุทุมพระก็ลาผนวชมาช่วย พอดีพระเจ้าอลองพญาถูกปืนใหญ่ของตัวเองระเบิด ประชวรหนักต้องถอยทัพ และสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง
เมื่อสิ้นศึกพม่า พระเจ้าเอกทัศน์ก็แสดงอาการว่าไม่ต้องการพระอนุชาแล้ว โดยถอดดาบออกจากฝักพาดบนพระเพลาเมื่อเจ้าฟ้าอุทุมพรเข้าเฝ้า เจ้าฟ้าอุทุมพรก็เข้าใจความหมาย จึงกลับไปทรงผนวชอีก
ในปี ๒๓๐๗ พระเจ้ามังระ โอรสของพระเจ้าอลองพญา ส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก พระเจ้าเอกทัศน์รับสั่งให้นิมนต์พระราชาคณะทั้งหลายเข้ามาอยู่ในพระนคร เจ้าฟ้าอุทุมพรก็เสด็จมาด้วย ขุนนางข้าราชการได้ทูลขอให้ลาผนวชมาช่วยป้องกันพระนคร ราษฎรก็เขียนหนังสือใส่บาตรจนเต็มตอนออกบิณฑบาต แต่เจ้าฟ้าอุทุมพรก็ไม่ยอมสึกอีก
ขุนนางข้าราชการต้องสู้รบกับพม่าตามลำพัง แต่เสียงปืนใหญ่ก็ทำให้สาวสนมกำนัลในตกใจ จึงมีรับสั่งว่าใครจะยิงปืนใหญ่ต้องขออนุญาตก่อน ครั้งหนึ่งข้าศึกบุกเข้ามาถึงกำแพงพระนคร พระยาตากจึงระดมปืนใหญ่เข้าใส่ ทำให้ข้าศึกแตกกระเจิง แต่กลับเจอข้อหายิงปืนใหญ่โดยไม่ได้ขออนุญาต ดีแต่มีความดีความชอบมาก่อนจึงแค่ถูกคาดโทษไว้ จึงเห็นว่าอยู่ไปก็ทำอะไรไม่ได้ ตัดสินใจพาคนคู่ใจ ๕๐๐ คนตีฝ่าพม่ามุ่งไปตั้งหลักที่เมืองจันทบุรี
กรุงศรีอยุธยาจึงแตกเสียเมืองแก่พม่า มหาดเล็ก ๒ นายพาพระเจ้าเอกทัศน์ลงเรือเล็กหลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาไปได้ แต่ก็ทิ้งให้ประทับอยู่ในพุ่มไม้เพียงพระองค์เดียว ซึ่งอาจจะออกไปหาพระกระยาหารมาถวายแล้วถูกจับก็ได้ “ขุนหลวงขี้เรื้อน” ผู้หาสติปัญญาและความเพียรมิได้ก็เลยต้องอดพระกระยาหารถึง ๑๑ วัน ๑๑ คืนจนสวรรคต
มีคำกล่าวกันว่า “ประวัติศาสตร์ย่อมซ้ำรอย” ไม่ใช่ว่าประวัติศาสตร์จะต้องเกิดซ้ำกับที่เกิดมาแล้ว แต่หมายถึงว่า หากมีพฤติกรรมใด ผลจากพฤติกรรมนั้นก็จะเกิดเหมือนเดิม
ถ้ายุคนี้ยังแบ่งฝ่ายแตกความสามัคคี หรือปล่อยให้คนไร้สติปัญญาแต่อยากจะมีอำนาจเข้ามาบริหารบ้านเมือง หรือยังมีคนหลงผิดนิยมชมชมชื่นศัตรูของชาติที่จะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ ก็คงจะไม่พ้นเสียกรุงครั้งที่ ๓ เป็นแน่