วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2024

ในหลวง ร.9 : ลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ พุทธสถานมูลค่ากว่าพันล้านบาท อุทิศแด่พระภูมิพลมหาราช – BBC News ไทย

  • Author, ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
Lopburi Srisuvarnabhumi

ที่มาของภาพ, Lopburi Srisuvarnabhumi

คำบรรยายภาพ,

อาคารประธานที่คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2570

อาคารสีขาวปลอด ด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีทองอร่าม สูงกว่า 9 เมตร ห้อมล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวของป่าและพุ่มไม้ ที่อีกไม่นานจะถูกถางออกไป เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับพุทธสถาปัตยกรรมลักษณะเดียวกัน ครอบคลุมพื้นที่ 329 ไร่ ในตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง ห่างจากตัวเมืองลพบุรี ราว 20 กิโลเมตร

นี่คือ สังเวชนียสถานแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ ”พุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ” ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จ จะมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ด้วยงบประมาณก่อสร้างกว่าพันล้านบาท

“หลวงพ่อรักในหลวงมาก… หลวงพ่ออยากจะทำให้ในหลวงท่านดีใจ ได้บุญ” พระราชวิสุทธิประชานาถ (อลงกต ติกุขปญโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ประธานโครงการ เล่าถึงแรงบันดาลใจของการสร้างพุทธสถานแห่งนี้

เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ที่ผู้คนมักเรียกว่า “หลวงพ่ออลงกต” อธิบายว่า ลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ จะเป็นพุทธสถานที่กำเนิดขึ้นด้วย “ความรักในในหลวงรัชกาลที่ 9” และความตั้งใจให้เป็น “สมบัติของโลก”

งบประมาณก่อสร้างกว่าพันล้านบาทนั้น มาจากจิตศรัทธาของคนไทย และการเรี่ยไรเงินบริจาคโดยหลวงพ่ออลงกต ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แรงบันดาลใจของการสร้างพุทธสถานแห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินแห่งชาติ ศ.เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบเชิงพุทธศิลป์ ที่สอดแทรกพลังแห่งศรัทธา เพื่ออุทิศให้ “พ่อหลวง ร.9”

พระพักตร์พระพุทธรูปในพุทธสถานแห่งนี้ได้แรงบันดาลใจจากพระพักตร์ในหลวง ร.9 ด้วยความหวังให้เป็นสถานที่ถวายสักการะในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ยืนยงนานกว่า 1,000 ปี

“พุทธไม่แท้”

ผมพบกับ อ. ปรีชาในห้องสตูดิโอศิลปกรรม ในอาคาร 2 ชั้น ในเขตบางแค ชื่อ ศูนย์ศิลป์ แสงธรรมสุวรรณภูมิ ที่รายล้อมด้วยพระบรมรูป และพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9

ใจกลางห้องเป็นรูปจำลองสถาปัตยกรรมสีขาวปลอดของ “อาคารพุทธธรรม” หรืออาคารประธาน ซึ่งเป็นอาคารขนาดยักษ์ ที่ยังไม่เริ่มสร้าง และจะตั้งอยู่ใจกลางพุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ

ผู้ออกแบบยอมรับว่า สถาปัตยกรรมและพุทธศิลป์ของพุทธสถานแห่งนี้ “ไม่ใช่พุทธแท้” แต่เป็นสังเวชนียสถานที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมของ บุโรพุทโธ (อินโดนีเซีย) นครวัด นครธม (กัมพูชา) พระธาตุหลวงนครหลวงเวียงจันทน์ (สปป.ลาว) เจดีย์ชเวดากอง (เมียนมา) และวัดไชยวัฒนาราม (อยุธยา ไทย) เข้าด้วยกัน

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

แบบจำลองอาคารประธานที่ออกแบบโดย อ.ปรีชา เถาทอง

“พุทธแท้ ไม่แท้ ไม่ใช่ประเด็น… ความจริงแท้มันอยู่ที่ใจคน” ศ.เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2552 บอกกับบีบีซีไทย

“พระเยซู พระพุทธองค์ หรือ นบีมูฮัมหมัด เขาไม่ได้บอกว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เป็นแบบไหนก็ได้ แต่ขอให้มีคุณธรรม เข้าถึงสัจธรรม และสื่อพระศาสดาก็ได้”

อาจารย์คณะจิตกรรม ม.ศิลปากร เล่าว่า ในวันหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน หลวงพ่ออลงกต เดินทางมาหาเขาที่มหาวิทยาลัย วิทยาเขตวังท่าพระ พร้อมเอ่ยว่า “อาตมาได้ยินชื่อเสียงโยม อยากให้ช่วยออกแบบพุทธสถานแห่งหนึ่งให้หน่อย” 

เขาจึงหยิบกระดาษขนาดเอ 4 ใช้ดินสอวางโครงร่าง ณ เวลานั้นเลย และเมื่อยื่นกระดาษให้เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ พระคุณเจ้าถึงกับอุทาน

“ถ้าภาษาวัยรุ่นเขาเรียกว่า ต๊าช (สุดยอด ดีเลิศ มหัศจรรย์)… เหมือนฟ้าลิขิต”  ศ.เกียรติคุณ ปรีชา ทวนคำพูดของหลวงพ่ออลงกต

และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ศิลปินแห่งชาติ ผู้ประกาศชัดว่า “รักในหลวง” กลายเป็นผู้ออกแบบและที่ปรึกษาด้านพุทธศิลป์ของโครงการก่อสร้างพุทธสถานที่จะเป็นหมุดหมายใหม่ของ จ.ลพบุรี และจะเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้โครงการในพระราชดำริของในหลวง ร.9 ด้วย

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ศ.เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2552

ที่มาของภาพ, กรมศิลปากร / Lopburi Srisuvarnabhumi

คำบรรยายภาพ,

ไตรภูมิ – มนุษภูมิ นรกภูมิ สวรรณภูมิ

ศิลปินอาวุโส วัย 74 ปี ชี้ไปยังโมเดลต้นแบบอาคารประธานแล้วอธิบายว่า เขาออกแบบโดยยึดหลัก “ไตรภูมิ” คือ โลกมนุษย์ โลกนรก และโลกสวรรค์ ที่ห้อมล้อมด้วย มหานทีสีทันดร ล้อมเป็นวงกลมรอบอาคารที่เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ

แต่ละชั้นของตัวอาคารยังมีความหมายเชิงพุทธศิลป์ถึง สัตตบริภัณฑ์คีรี หรือภูเขากลางป่าหิมพานต์ ที่ห้อมล้อมเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ถือเป็นการผสมผสาน พุทธ พราหมณ์ และฮินดู ในเชิงปรัชญา เป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงกล่าวได้ว่าไม่ใช่ “พุทธแท้”

กว่าจะได้เห็นสังเวชนียสถานที่ยิ่งใหญ่แห่งใหม่ของไทย จะต้องรออีกนาน 5 ปี เพราะอยู่ระหว่างการก่อสร้างในเฟสที่ 2 และ 3 แต่สิ่งที่สร้างเสร็จแล้ว และเป็นอีกส่วนสำคัญของลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ คือ พระพุทธรูป 89 ปาง หล่อสร้างตามสิริพระชนมพรรษา 89 พรรษา ของในหลวง ร.9 ที่ ศ.เกียรติคุณ ปรีชา ยอมรับว่า “ปั้นโครงหน้าให้คล้ายพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว”

พระพุทธเจ้า 89 ปาง ถวายแด่ในหลวง ร.9 (89 พรรษา)

เมื่อเดินผ่านแท่นประดิษฐาน ที่จะเป็นส่วนหน้าของพุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ เข้าไปทางด้านหลังเพียงไม่ไกล ผู้เขียนได้เห็นพระพุทธรูปหล่อจากสำริดหลายสิบองค์ตั้งเรียงรายอยู่ เมื่อเข้าสำรวจใกล้ ๆ จึงพบว่าแต่ละองค์ล้วนมีอิริยาบถที่แตกต่างกัน หรือที่เรียกว่า “ปาง” อันเป็นลักษณะรูปสมมติของพระพุทธเจ้า ที่สร้างขึ้นตามความเชื่อในพุทธประวัติ

อย่างไรก็ดี หนังสือ “พระพุทธรูปปางต่าง ๆ” จัดทำโดยกรมศิลปากร ระบุรายละเอียดของพระพุทธรูปไว้ทั้งหมด 70 ปาง เริ่มตั้งแต่ ปางประสูติ ไปถึง ปางไสยาสน์ (ปางปรินิพพาน) แต่ที่อยู่ตรงหน้าของผู้เขียน นับได้ทั้งหมด 89 ปางด้วยกัน

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

หลวงพ่ออลงกต ผู้ตั้งใจถวายพระพุทธรูป 89 ปาง เป็นพระราชกุศลให้ในหลวง ร.9

“ไม่มีปางใหม่เลย แค่เพียงว่าไม่มีใครสร้าง… พระทุกปางมีอยู่ในพระไตรปิฎกอยู่แล้ว” หลวงพ่ออลงกต ไขข้อข้องใจของผู้เขียน ที่สอบถามไปว่า นี่ถือเป็นการบัญญัติปางพระพุทธเจ้าขึ้นมาใหม่หรือไม่ พร้อมเสริมว่า สำนักพุทธศาสนาได้เข้ามาร่วมหล่อพระพุทธรูปด้วย

ในช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงประชวร หลวงพ่ออลงกต ตั้งใจหล่อพระพุทธรูปเหล่านี้ เพื่อถวายให้พระองค์ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา โดยตั้งใจสร้างทุกปางที่อยู่ในพุทธประวัติ ตามการตีความของหลวงพ่อ

แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จสวรรคตเมื่อ13 ต.ค. 2559 พระอลงกตจึงลดจำนวนปางลงมาเหลือ 89 ปาง เพื่อ “เป็นประวัติศาสตร์ที่คนจดจำว่า 89 ปางนี้ หลวงพ่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวง” และ “ปางที่คนไม่เคยเห็นมาก่อน จะมาอยู่ที่นี่ ถ้าจะได้เห็นทุกปางในที่เดียว ก็มีที่นี่ที่เดียวในโลก”

ยกตัวอย่าง “ปางที่พระพุทธเจ้าท่านทรงดูแลพระภิกษุที่อาพาธ หาดูได้ยากมากเลย… เราเห็นภาพปุ๊บ จะรู้ได้เลยว่านี่แหละพระพุทธเมตตาที่ท่านได้เมตตาพระภิกษุสงฆ์”

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

“ปางที่พระพุทธเจ้าท่านทรงดูแลพระภิกษุที่อาพาธ” พระอลงกต

ผู้เขียนสอบถามว่า นอกเหนือจากจำนวนปางที่ตามพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ 9 แล้ว เป็นความตั้งใจหรือไม่ที่ออกแบบหน้าพระตามพระพักตร์ของในหลวง

ภิกษุวัย 68 ตอบเพียงว่า “อันนี้อยู่ที่แต่ละคนจะจินตนาการ… อาจารย์ปรีชา ท่านรักในหลวง เพราะฉะนั้นพอเรามองไป เราก็จะเห็นพระพักตร์ในหลวงอยู่ในพระพักตร์ของพระพุทธรูปด้วย”

สมมติเทพ ?

การปั้นพระพักตร์ขององค์พระตามพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในประเพณีความเชื่อไทย ยกตัวอย่าง “พระสยามเทวาธิราช” ซึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และเชื่อว่าเป็นเทวดาผู้คุ้มครองสยามประเทศ ให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ในห้วงที่สยามตกเป็นเป้าหมายของนักล่าอาณานิคมในสมัยนั้น โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษ

ต่อมา ในหลวง รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างเทวรูปที่เหมือนกับพระสยามเทวาธิราชขึ้นอีกองค์หนึ่ง โดยมติชนบรรยายว่า “มีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระ เหมือนกับองค์พระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์ลักษณะเหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีน”

ที่มาของภาพ, สำนักพระราชวัง / โบราณนานมา

คำบรรยายภาพ,

พระสยามเทวาธิราช องค์พระพักตร์คล้าย ร.4 (ขวา)

เหตุผลนั้น ได้รับคำอธิบายในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 17 มี.ค. รัตนโกสินทรศก 125 ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระอนุสรคำนึงถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะในเวลาที่เสด็จมาประทับอยู่ วังสวนดุสิต ยังไม่มีสิ่งที่จะเป็นที่ทรงนมัสการ… จึงทรงพระดำริว่า พระป้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งมหิศรปราสาท ในพระบรมมหาราชวังนั้น ควรจะเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อจะได้ทรงนมัสการ สักการะบูชาสืบไป”

ความเชื่อตามพระพุทธศาสนา ระบุว่า เทวดาทุกสวรรค์ชั้นฟ้าทูลเชิญพระโพธิสัตว์ที่สถิตในชั้นดุสิต คือ สันดุสิตเทพบุตร ให้จุติลงมาโปรดสัตว์โลก เป็นพระพุทธเจ้า ผู้เขียนจึงสอบถามผู้ออกแบบพระพุทธรูปลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ 89 ปาง ที่มีโครงหน้าเริ่มต้นตามพระพักตร์ในหลวงว่า ถือเป็นการใช้หลัก “สมมติเทพ” หรือไม่

“ใช่” ศ.เกียรติคุณ ปรีชา ตอบแทบจะในทันที

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง โดย ปรีชา เถาทอง

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

ผลงานศิลปะเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 มีอยู่ทั่วหอศิลป์ฯของ อ. ปรีชา

“ปั้นโครงพระพักตร์ให้คล้าย ๆ พระเจ้าอยู่หัวก่อน แล้วก็เกลาให้เรียบง่ายขึ้น ภาษาโบราณเรียกโกลน” โดยให้จมูกเป็นแบบสมัยสุโขทัย พระโอษฐ์ผสมอยุธยากับอู่ทอง พระวรกายโดยรวมออกเป็นสุโขทัย พระศก (ผม) คล้ายแบบเชียงแสน ส่วนจีวรแนบพระวรกายเป็นแบบสุโขทัยผสมอู่ทอง

“จินตนาการมันต้องอยู่ในความฝันก่อน ถึงจะออกมาเป็นรูป” ศิลปินแห่งชาติ หลับตา พลางทำมือเหมือนกำลังปั้นรูป “ศิลปะคือสิ่งที่เกิดใหม่ ผมถามว่าที่เห็นเนี่ย (ยกพระพุทธรูปจำลองขนาดเล็กขึ้นมา) พระองค์นี้เหมือนพระพุทธเจ้าหรือเปล่า… มันไม่เหมือน มันเป็นเรื่องนามธรรม เป็นเรื่องบุคลาธิษฐาน”

*บุคลาธิษฐาน (Personification) คือ การกล่าวถึงสิ่งไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด ไม่มีวิญญาณ แต่แสดงกิริยาอาการและความรู้สึกได้เหมือนมนุษย์ โดยใช้อุปลักษณ์เป็ฯรูปมานุษยรูปนิยม

ที่มาของภาพ, Tossapol Chaisamritpol / BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

“รูปสมมติเทพ เราต้องเคารพบุคคลคนนี้ เราถึงปั้นเขาออกมา” อ.ปรีชา

ศ.เกียรติคุณ ปรีชา อธิบายต่อถึงนิยามสมมติเทพในมุมมองของตนเองว่า “สมมติเทพคือสิ่งสมมติ แต่ถ้าท่านทำตัวเป็นสมมติเทพด้วย คนก็จะรักและศรัทธา”

“สร้างรูปพระ หรือรูปในหลวงเพื่อแทนพระ ก็คือเป็นรูปสมมติ รูปบุคลาธิษฐาน รูปสมมติเทพ ที่เราต้องเคารพบุคคลคนนี้ เราถึงปั้นเขาออกมา” อาจารย์ ม.ศิลปากร กล่าวแล้วชี้ไปยังผู้ช่วยหญิงของผู้เขียน แล้วกล่าวต่อเป็นเชิงเปรียบเปรยว่า “รักผู้หญิงคนนี้ ก็ถอดแบบผู้หญิงคนนี้ออกมาเป็นรูปงานสุนทรีย”

“เธอเป็นสมมติเทพในความรักและภักดีของฉัน นี่คือคำตอบ”

พระธรรม ทศพิษราชธรรม และสมบัติของโลก

5 ธ.ค. 2565 ชาวลพบุรีและมูลนิธิโครงการพุทธสถานฯ จะจัดพิธีแห่พระพุทธรูป 89 ปาง ออกจากพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี หรือวังนารายณ์ ไปประดิษฐานยังแท่นประดิษฐานในลพบุรีศรีสุวรรณภูมิ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

พุทธสถานบนเนื้อที่ 329 ไร่ใน จ.ลพบุรี

จากนั้นในวันที่ 9 ธ.ค. จะมีพิธีศิลาฤกษ์ เพื่อเริ่มการก่อสร้างพุทธสถานในระยะต่อ ๆ ไป โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า

หลวงพ่ออลงกต บอกกับผู้เขียนว่า ไม่เพียงสร้างถวายเป็นพระราชกุศลเท่านั้น แต่ลพบุรีสุวรรณภูมิ จะเป็น “เมืองผู้สูงวัย” “สถานปฏิบัติธรรม” และ “พิพิธภัณฑ์สำหรับในหลวง ร.9” ด้วย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • เมืองผู้สูงอายุ – ผู้สูงวัยที่ไม่มีลูกหลาน ไม่มีบ้านเป็นของตนเอง หรือข้าราชการวัยเกษียณ สามารถมาพักอาศัย และทำงาน อาทิ ปลูกผักและผลไม้ พร้อมกับปฏิบัติธรรมไปในแต่ละวัน “มันเหมือนเส้นทางของผู้สูงอายุที่จะไปสู่สวรรค์”
  • สถานปฏิบัติธรรมและเรียนรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา – เรียนรู้พุทธประวัติผ่านเรื่องราวเบื้องหลังพระพุทธรูปแต่ละปาง รวม 89 ปางที่ประดิษฐานอยู่รอบพุทธสถาน โดยจะมีคิวอาร์โค้ดสำหรับสแกนอ่านรายละเอียดในหลายภาษาสากล ไม่เพียงเท่านั้น ชาวไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการมาปฏิบัติธรรม ก็สามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมที่จะจัดขึ้นต่อเนื่องได้
  • พิพิธภัณฑ์ในหลวง ร.9 – รวบรวมผลงานศิลปะเพื่อพ่อหลวงของศิลปินแห่งชาติหลายคน จัดเป็นนิทรรศการขนาดใหญ่ อาทิ งานหล่อ งานประติมากรรม ภาพวาด รวมทั้งสอดแทรกถึงทศพิธราชธรรม และพระราชกรณียกิจของในหลวง ร.9 ด้วย

“หลวงพ่อคิดแค่ว่า ถ้าเราตายไปแล้ว แต่นี่ยังอยู่ ความภูมิใจที่เรามี หรือว่าเกิดชาติหน้าเราก็ยังเกิดขึ้นมาในแผ่นดิน หลวงพ่อจึงมอบสมบัตินี้ให้เป็นของโลก ให้อยู่เป็นร้อยปี พันปี” พระอลงกต กล่าว

ที่มาของภาพ, Lopburi Srisuvarnabhumi

คำบรรยายภาพ,

“ความยิ่งใหญ่ไม่ได้อยู่ในเชิงปริมาณ แต่ยิ่งใหญ่ในเชิงเนื้อหา” อ.ปรีชา

ศ.เกียรติคุณ ปรีชา นิยามการเป็นผู้ออกแบบเชิงพุทธศิลป์ของพุทธสถานลพบุรีศรีสุวรรณภูมิว่า เป็นการนำ “ปรัชญาในหลวง” มาเป็นโครงสร้าง และแรงบันดาลใจสู่การสร้างรูปพระพุทธปฏิมา ใช้สุนทรียศิลป์และงานศิลปกรรม ขับเคลื่อนพระศาสนา พร้อมสอดแทรกทศพิธราชธรรมบางประการของในหลวง 

“ความยิ่งใหญ่ไม่ได้อยู่ในเชิงปริมาณ แต่ยิ่งใหญ่ในเชิงเนื้อหา… รักษามนุษย์ปัจจุบันที่ป่วยทางจิต เอาคุณธรรมกลับมา ลดละเลิกวัตถุนิยม”

เขาขยายแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ “รู้โลก รู้สังคม สิ่งแวดล้อม แล้วค่อยรู้ปัญหาของคนในสังคม แล้วค่อยรู้ใจตัวเอง รู้หน้า รู้พอ รู้เพียง รู้รักสามัคคี”

แล้วทำไมต้องอิงเกือบทุกองค์ประกอบของพุทธสถานกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ขนาดนี้ ?

“ก็เพราะวัดนี้ทำให้ในหลวง พระพุทธรูปก็ทำให้ในหลวง… เอาความเป็นในหลวงมาเป็นต้นไอเดีย”

สุโขทัย

สุโขทัย

มรดกโลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนา งามตาผ้าตีนจก สังคโลกทองโบราณ สักการแม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข

Related Posts

Next Post

บทความ แนะนำ

No Content Available

หมวดบทความ

การก่อสร้าง การขนถ่ายสินค้า การขุด หรือเจาะบ่อน้ำ การค้าวัสดุก่อสร้าง การติดตั้งไฟฟ้าสายหลัก การผลิต การบรรจุก๊าซ การผลิตน้ำมันพืช การผลิตน้ำแข็ง การผลิตปุ๋ยเคมี การผลิตและบรรจุยา การหล่อหลอม การกลึงโลหะ การหีบฝ้าย ปั่นนุ่น การเคลือบ ชุบ อาบขัดโลหะ การเลี้ยงสัตว์ กิจกรรม ข่าว ตรวจหวย ธุรกิจ บริษัท มูลนิธิ ร้านค้า ร้านอาหาร วิถีชีวิต สถานที่ท่องเที่ยว สถานศึกษา สพป.สุโขทัย เขต 1 สพป.สุโขทัย เขต 2 สพม.เขต 38 สมาคม สำนักงานจัดการเดินทาง สุโขทัย หน่วยงานราชการ อบต. เอสเอ็มอี โรงงาน โรงพยาบาล บริการสุขภาพ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนวิชาชีพ โรงเรียนสามัญ โอทอป

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.