CEA ขับเคลื่อนซอฟท์เพาเวอร์ เปิดเมืองสร้างสรรค์กระตุ้นเม็ดเงินลงทุน ปั้นสินค้า-บริการแม็กเนทใหม่ในตลาดโลก
CEA ดันภารกิจ ขับเคลื่อน “เมืองสร้างสรรค์” โชว์โมเดลต้นแบบความสำเร็จ ด้วยแพลต ฟอร์มการออกแบบพัฒนาเมืองเชิงสร้างสรรค์ สู่กระบวนการพัฒนา Soft Power สร้างมูลค่า เพิ่มสินค้าและบริการใหม่ ผ่านเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย หรือ TCDN ทั่วประเทศ ชู 5 เมืองต้นแบบ Destination ได้แก่ ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ ย่านช้างม่อย จ.เชียงใหม่ ย่านศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น ย่านเจริญเมือง จ.แพร่ และย่านเมืองเก่า จ.สงขลา สอดรับบริบทของพื้นที่ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียน กระตุ้นการลงทุนจากผู้ประกอบรุ่นใหม่ พลิกฟื้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ผลักดันขึ้นทะเบียนเมืองสร้างสรรค์โลก ยูเนสโก เดินหน้าปี 65 ผลักดัน 5 จังหวัด ผุดเมืองสร้างสรรค์ ใหม่ บรรลุเป้าหมาย 30 แห่งตามโรดแมป
CEA ขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ไปสู่ระดับโลก
นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เปิดเผยว่า ในฐานะองค์กรหลักเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ขณะนี้ได้เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative City & Creative District Development) ผ่านเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความสนใจและตื่นตัวของชุมชน พร้อมเข้ามามีส่วนร่วม ในการพัฒนาพื้นที่ที่มีการดึงผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วน มาต่อยอดทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ผนวกความคิดสร้างสรรค์ โดยการนำนวัตกรรม เพื่อมาพัฒนาผลิตสินค้าและบริการใหม่ ให้พื้นที่ก้าวสู่ย่านและเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมก้าวสู่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก หรือ UNESCO Creative Network (UCCN) ซึ่ง CEA มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 30 แห่งภายในปี 2565 พร้อมกับมุ่งความสำคัญกับการสร้าง Soft Power เพื่อสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังการฟื้นตัวจากโควิด-19 ให้มากขึ้น
ทั้งนี้บทบาทของ CEA มุ่งพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People) การเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Place) หรือการสร้างย่านหรือเมืองสร้างสรรค์ เราจึงมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในบริบทโลก ซึ่งต้องใช้กระบวนการ Soft Power และการส่งออก Content ผ่านสื่อต่าง ๆ ไปยังตลาดโลกมากขึ้นในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดการกระตุ้นให้พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ และมีการจดทะเบียนที่ได้รับการรับรองที่เป็นสากล
“การพัฒนาย่าน และเมืองสร้างสรรค์ ให้ประสบผลสำเร็จได้ และได้รับการตอบรับที่ดี จะต้องเริ่มจากการพัฒนาพื้นที่เล็ก ๆ อย่างหมู่บ้าน ชุมชน ไปจนพื้นที่ระดับย่านเสียก่อน เพราะไม่มีใครเสกพื้นที่ใหม่หมดจดให้กับเมืองได้ และการพัฒนาพื้นที่ที่มีอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องง่าย “ศักยภาพของพื้นที่”จึงเป็นโจทย์สำคัญ ที่ต้องอาศัยความสามารถของเมือง ทั้งการใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่มีอยู่ ด้วยองค์ประกอบหลายด้านที่ต้องมาบูรณาการร่วมกัน โดยอาศัยศักยภาพพื้นที่เดิมและความร่วมมือของคนในชุมชนหรือย่าน ที่มีเป้าหมายจะพัฒนาไปสู่เมืองสร้างสรรค์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้คน ชุมชน กิจการและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่หลากหลาย นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อม เราจึงได้มีโมเดลในการพัฒนาที่เริ่มต้นจาก การเข้าร่วม TCDN ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว’”นายชาคริตกล่าว
30 เมืองสร้างสรรค์ ‘น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว’
ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของ CEA แบ่งเป็นระดับเมืองที่เป็นเครือข่าย TCDN ที่ได้ทยอยดำเนินการตามแผนระยะ 3 ปี (ปี 2563-2565) มาอย่างต่อเนื่องและจะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ครบถึง 30 พื้นที่ (30 จังหวัด) ในปี 2565 จากเดิมกำหนดพื้นที่ไว้ 22 จังหวัด ได้เพิ่มเป้าหมายอีก 8 จังหวัดใหม่ ได้แก่ ลำปาง พิษณุโลก ชลบุรี (พัทยา) จันทบุรี อุดรธานี ตรัง พัทลุง และเพชรบุรี
ทั้งนี้ ไทยนับว่ามีความได้เปรียบในด้านต้นทุนทางสังคม และวัฒนธรรมในการขับเคลื่อน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่จะนำมาสู่การพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ที่ประกอบด้วย 1. Creative Originals ได้แก่ งานฝีมือและหัตกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง และหัตถศิลป์ 2. Creative Content / Media ได้แก่ ภาพยนต์ การพิมพ์ การกระจายเสียง ซอฟต์แวร์ (เกมและแอนิเมชัน) 3. Creative Services ได้แก่ การโฆษณา การออกแบบ และสถาปัตยกรรม 4. Creative Goods / Products ได้แก่ แฟชั่น อาหารไทย แพทย์แผนไทย และท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
สำหรับความก้าวหน้าจากเข้าไปพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์แบ่งเป็นภูมิภาคต่างๆ ประกอบด้วยภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ 1. ย่านในเวียง จ.เชียงราย 2. ย่านระเบียงกว๊าน จ.พะเยา 3. ย่านเมืองเก่าน่าน จ.น่าน 4. ย่านเมืองเก่าในคูเมือง จ.ลำพูน 5. ย่านเจริญเมือง จ.แพร่ 6 จ.อุตรดิตถ์ 7. จ.ลำปาง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก รวม 10 จังหวัด ได้แก่ 1. ย่านเมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย 2. ย่านโรงละครแห่งชาติตะวันตก จ.สุพรรณบุรี 3. ย่านเมืองนครปฐมและย่านศาลายา จ.นครปฐม 4. ย่านเมืองเก่า จ.ระยอง 5. พิจิตร 6. สระแก้ว 7. พิษณุโลก 8. เพชรบุรี 9. ย่านเมืองพัทยา จ.ชลบุรี 10. จันทบุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ 1. ย่านบ้านดู่-บ้านจะโปะ จ.นครราชสีมา 2. ย่านบ้านเดิ่น-บ้านด่านซ้าย จ.เลย 3. ย่านเมืองเก่า จ.สกลนคร 4. ย่านเมืองเก่าอำเภอเมืองและอำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 5. ร้อยเอ็ด 6. ศรีสะเกษ 7. อุดรธานี และภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ 1. ย่านท่าวัง-ท่ามอญ จ.นครศรีธรรมราช 2. ย่านเมืองเก่า จ.สงขลา 3. ย่านอา-รมย์-ดี จ.ปัตตานี 4. ภูเก็ต 5. ตรัง 6. พัทลุง
“เป้าหมายที่วางไว้ดังกล่าว 30 จังหวัดในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์นั้นยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ในปี 2565 และเมืองสร้างสรรค์ต้นแบบ อีกจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ 1. ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ 2. ย่านช้างม่อย จ.เชียงใหม่ 3. ย่านศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น 4. ย่านเมืองเก่า จ.สงขลา 5. ย่านเจริญเมือง จ.แพร่ ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และดำเนินกิจกรรมทุก ๆ ปี ผ่านการพัฒนา ร่วมเป็นเครือข่าย TCDN ที่พร้อมเข้าไปสนับสนุน โดยต้องผ่านการพิจารณาให้เป็นไปตามเงื่อนไข ให้สามารถดึงศักยภาพ ความโดดเด่นในมิติต่าง ๆ ผ่านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มาสู่กระบวนการพัฒนาต่อไป”
CEA ชู สกลนคร เมืองแห่งการปรับตัว
“จังหวัดสกลนคร เมืองแห่งการปรับตัว” ไม่ว่าจะเป็นพระธาตุเชิงชุม ทะเลสาบหนองหาร เทือกเขาภูพาน งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้งและแข่งขันเรือยาว กิจกรรมญ่างเอาบุญ เทศกาลแห่ดาว ไปจนถึงผ้าย้อมครามธรรมชาติ ภาพจำที่แต่ละคนมีหรือคุ้นเคยกับสกลนครในมุมไหนก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นส่วนผสมที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของสกลนคร ซึ่งหล่อหลอมมาจากวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายชนเผ่า ที่พร้อมเปิดรับและสั่งสมทรัพยากรและวัฒนธรรมจากทุกยุคสมัย และหยิบจับมาสร้างคุณค่าใหม่ไม่รู้จบ
ปัจจุบัน สกลนคร เต็มไปด้วยสินทรัพย์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันล้ำค่า โดยเฉพาะการมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่ ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร เนื้อโคขุนโพนยางคำ ข้าวฮาง น้ำหมักเม่า และหมากเม่า และที่ขาดไม่ได้คือ วัฒนธรรมแห่งการปรับตัวของชาวสกลนคร ที่บ่มเพาะความสามารถในการอยู่รอดให้ลูกหลานชาวสกล ดังจะเห็นได้จากการผลักดันให้เมืองแห่งครามแห่งนี้เป็นที่รู้จักระดับสากล ผ่านงานคราฟท์ และกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ในมุมมองร่วมสมัย ที่สามารถสร้างภาพจำใหม่ให้กับวงการงานฝีมือแดนอีสานได้เป็นอย่างดี
อย่างการเข้าร่วมกับ CEA และเครือข่ายพันธมิตร ในการจัดเทศกาล “สกลจังซั่น” ปีที่ผ่านมา สะท้อนได้ถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกของคนในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความร่วมมือในหลายภาคส่วนมากขึ้น ทั้งภาครัฐ เอกชน กลุ่มคนสร้างสรรค์ ภาคการศึกษา กลุ่ม NGO มีการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภายนอก และกลุ่มขับเคลื่อนเมือง ซึ่งได้รับงบประมาณสูง ถึง 70% ของงบประมาณทั้งหมดในการจัดงาน ทำให้การจัดงาน มีประสิทธิภาพ สร้างแรงจูงใจในการดึงดูดคนเข้าร่วมเทศกาล จำนวนมาก เห็นได้จากยอดจองโรงแรม ในพื้นที่เต็มจำนวน ในช่วงเวลาที่มีการจัดงาน