หนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจ “พลวัต” (dynamic) ของอยุธยากว่า 400 ปี ผู้เขียนบอกว่างานชิ้นนี้เขียนตามลำดับเวลา แต่ถ้าอ่านอย่างจริงจังพบว่าสิ่งที่ผู้เขียนใช้สร้างลำดับ/โครงเรื่อง (plot) เป็นประเด็นมากกว่า เพราะมีการข้ามเวลาในเรื่องนั้นๆ อยู่เสมอ ซึ่งการสร้างโครงเรื่องแบบนี้ทำให้น่าสนใจ ในแง่ที่บางเรื่องสัมพันธ์กับเงื่อนไขที่แตกต่างกันและอาจเกิดใหม่ได้ในอีกเวลา หรือในพื้นที่หนึ่ง ซึ่งจะพบว่าผู้เขียนใช้ข้อมูลของประวัติศาสตร์อื่น เช่น ล้านนา มาเทียบเคียงให้เห็น
การอธิบายความเปลี่ยนแปลงของอยุธยาในห้วงเวลาต่างๆ ก็มีอธิบายจากความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในพื้นที่อื่นๆ เช่น ล้านนา (ในแง่คู่ค้า คู่สงคราม) จีน (การค้า จิ้มก้อง) พม่า (สงคราม การค้า การขยายแนวคิดจักรพรรดิราชย์) ตะวันตกชาติต่างๆ (การค้าเครื่องเทศ คู่ค้า ทหารรับจ้าง) ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นทำให้การมองอยุธยาไม่โดดเดียวแต่เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในของตนและปัจจัยภายนอก และความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อื่นๆ ด้วย
ที่มาภาพ: คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่.
กรุงเทพฯ : มติชน, 2563
งานชิ้นนี้ยังทำให้เราเข้าใจอยุธยาที่มากกว่าอยุธยา อาทิ การเกิดอยุธยา ที่มีมาก่อนจะเป็นอาณาจักรอยุธยา ไม่ได้เริ่มต้นในปี 1893 (งานจิตร ภูมิศักดิ์ ได้เสนอไว้ก่อนหน้านี้แล้ว)[1] ซึ่งถกเถียงกับงานหลายชิ้นโดยเฉพาะของพวกกระทรวงศึกษาธิการ ที่มักอธิบายประหนึ่งว่าอยุธยาลอยมาจากฟ้าสุลาลัย แต่งงานชิ้นนี้ทำให้เห็นการเมืองของการเกิดอยุธยา โดยอธิบายผ่านลพบุรี สุพรรณบุรี หัวเมืองเหนือ ที่มีมาก่อนอยุธยาและส่งผลให้เกิดอยุธยาอย่างไร ซึ่งพัวพันมาถึงการแย่งชิงอยุธยาในฐานะเมืองศูนย์กลางของราชวงศ์ต่างๆ ในเวลาต่อมา
อาณาจักรอยุธยาในเล่มนี้จึงไม่ได้มีความยิ่งใหญ่แต่ต้น แต่ค่อยๆ ผนวกกลืนอาณาจักรอื่นๆ ทั้งผ่านการสงคราม และเครือญาติ อาทิ การผนวกอาณาจักรสุโขทัยก็ไม่ได้เกิดในในวันเดียวเหมือน Timeline แบบที่เราคุ้นเคย แต่เกิดการช่วงชิง ปะทะ ประสานกันหลายสิบปี กว่าจะทำให้สองอาณาจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
แม้ตอนหลังอยุธนาจะสามารถผนวกสุโขทัยได้ แต่ชนชั้นนำของเมืองเหนือ (สุโขทัย) ก็พยายามที่จะช่วงชิงการนำในอยุธยาอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีของพระมหาธรรมราชา (ต้นวงศ์พระนเรศวร) สงครามจึงไม่จบลงตอนอาณาจักรล่มสลาย แต่มันเป็นความต่อเนื่องของเงื่อนไขในเวลาต่อมา
อีกทั้งยังทำให้เราหลุดออกจากประวัติศาสตร์การเมืองของชนชั้นนำ แต่ทำให้เราเห็นชีวิตของผู้คนผ่านความเชื่อ การค้า การสงคราม ได้เห็นชีวิตของคนธรรมดาโลดแล่นและมีพื้นที่ในหน้าประวัติศาสตร์มากขึ้น ผู้เขียนบอกว่าเป็นการเขียนประวัติศาสตร์สังคม ซึ่งก็เป็นงานที่จำสำคัญและเป็นทิศทางให้งานอื่นๆ ต่อไป
เราได้เห็นบทบาทของชาวต่างๆ ชาติหลายๆ คนในฐานะคนแปลกหน้า และส่วนหนึ่งของอาณาจักร ผู้หญิงทั้งชั้นสูงในเกมส์ช่วงชิงอำนาจ หรือการค้า คติความเชื่อเรื่องหญิงชายทั้งชาวบ้านและชนชั้นสูง (กรณีนางพิมพิลาไลย นางออสุต และท้าวศรีสุดาจันทร์) การกบฏของไพร่ ฯลฯ งานชิ้นนี้อธิบายผ่าน “เงื่อนไขประวัติศาสตร์” ไม่ได้อธิบายผ่านความ “ใคร่” ของคนใดคนหนึ่งที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์
กรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2209) วาดโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์
(Gezicht op Judea (Ayutthaya), de oude hoofdstad van Siam (Thailand). Ommuurde complex met tempels en ruïnes, gezien in vogelvlucht.)
อีกประการที่สำคัญ งานชิ้นนี้เสนอว่าอยุธยาเป็นสังคมเมืองมาก่อน ในแง่ของการผูกโยงเกี่ยวเนื่องกับการค้าขาย รวมทั้งเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ก่อนที่จะกลายเป็นสังคมชาวนาหรือสังคมเกษตรกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์
นอกจากนี้ ยังได้ทำลายมายาภาพของประวัติศาสตร์ที่เราเข้าใจในหลายๆ เรื่อง เช่น กรณีของพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ (อ่านเองครับ 555) ราชวงศ์บ้านพลูหลวง และการเสียกรุงฯ พม่าบุกเข้ายึดเมืองได้เป็นผลของความเสื่อมที่ยาวนานก่อนหน้าและยุทธศาสตร์ที่ไม่เหมาะสมกับการศึกในเวลนั้น[2] ไม่ได้เกิดอย่างที่เราเข้าใจ แล้วโยนผิดให้ตัวบุคคลอย่างพระเจ้าเอกทัศน์ แต่มีเงื่อนไขมากมายที่ทำให้เสียกรุงฯ
ท้ายสุด การใช้หลักฐานอย่างหลากหลาย ทั้งพงศาวดาร บันทึกชาวต่างชาติ กลอน นิราศ ฯลฯ ทำให้เห็นชีวิตของคนหลากหลาย มากกว่าใช้หลักฐานของรัฐที่เห็นแต่จริยวัตรของชนชั้นนำอย่างเดียว แต่ต่อให้ใช้พงศาดาร งานชิ้นนี้ก็อ่านย้อนหลักฐานเพื่อทำให้เห็นมุมอื่นๆ ซึ่งจะเห็นว่าความพยายามเข้าใจอยุธยาในมิติอื่นทั้งทางการค้า[3] ชีวิตทางสังคมและศิลปะวัฒนธรรม[4] มีมาอย่างต่อเนื่องและขยายเพดานประวัติศาสตร์มิให้จำกัดเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองเท่านั้น
แม้จะมีข้อผิดพลาดบ้างเรื่อง ปี พ.ศ. ที่เกิดเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้งานด้อยคุณค่าลง
อ้างอิง
จิตร ภูมิศักดิ์. โองการแช่งน้ำ และข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2547ก. และ จิตร ภูมิศักดิ์. สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2547ข.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง. สมุทรปราการ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2561.
วินัย พงศ์ศรีเพียร. “พรรณนาภูมิสภานพระนครศรีอยุธยา เอกสารจากหอหลวง” (ฉบับความสมบูรณ์). กรุงเทพฯ : อุษาคเนย์, 2551. และ วินัย พงศ์ศรีเพียร. บรรณาธิการ. อโยธยาศรีรามเทพนครบวรทวารวดี มรดกความทรงจำแห่งสยามประเทศ. กรุงเทพฯ : โครงการวิจัยอิสระประวัติศาสตร์ไทย, 2559.